Menu

โครงการขยะสู่พลังงาน



ป้าปัวเงิน สุมาลี แม่บ้านโรงเรียนบ้านทับไฮกำลังปรุงอาหารเลี้ยงพ่อแม่พี่น้องที่มาร่วมโครงการผลิตก๊าซชีวภาพและคัดแยกขยะในครัวเรือน รายการอาหารสำหรับเจ้าของบ่อก๊าซที่เพิ่งร่วมโครงการประกอบด้วยกับข้าวสองอย่าง และข้าวสวยหม้อใหญ่ การเข้าครัวของป้าปัวเงินคงไม่มีอะไรน่าสนใจ ถ้าเชื้อเพลิงที่ใช้นั้น เป็นก๊าซหุงต้มพวยพุ่งจากถังเหล็กลูกกลม ๆ ที่ใช้กันทั่วไปตามบ้านเรือน แต่เชื้อเพลิงของป้าปัวเงินเป็น "ก๊าซชีวภาพ" ผลิตจากบ่อหมักก๊าซ ตั้งอยู่บนพื้นข้าง ๆ ห้องครัวนั่นเอง

แม่ครัวโรงเรียนบ้านทับไฮไม่ได้ซื้อก๊าซหุงต้มมาใช้หลายปีแล้ว ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการผลิตก๊าซชีวภาพ เช่นเดียวกับอีกหลายครอบครัวในอําเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธาน

การเปลี่ยนมาใช้ก๊าซชีวภาพมีข้อดีหลายประการ ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายและช่วยกําจัดขยะให้ถูกสุขอนามัย

ไม่ห่างจากห้องครัวโรงเรียนบ้านทับไฮ ฉัตรชัย เหลาเกลี้ยงดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทับไฮ สาธิตวิธีเติม "วัตถุดิบ" ลงในบ่อหมักก๊าซ เขาใช้เศษอาหารกับหญ้าเนเปียร์สับเทลงทางปากบ่อและใช้ไม้ยาวกระทุ้งให้ไหลลงไป รูปร่างของบ่อหมักคล้ายแคปซูลขนาดใหญ่ มีสีดำตามสีของผ้ายาง บวมเป่งด้วยลมอัดแน่นภายใน บางคนบอกว่าคล้ายบอลลูนที่ไม่ลอยไปไหน ยึดอยู่กับพื้น

"บ่อแรกได้มาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน" ฉัตรชัยเล่าระหว่างเทเศษอาหาร

"ปรากฎว่าก๊าซไม่พอ เพราะเราต้องทำอาหารให้เด็ก 70-80 คน เดือนละ 20 วัน"

โรงเรียนบ้านทับไฮเป็นโรงเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษา ถึงแม้จะมีนักเรียนไม่มาก แต่ก็ต้องทำอาหารให้เด็กทุกคนในมื้อเที่ยงที่ผ่านมาต้องซื้อก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัมเดือนละหนึ่งถัง ผู้อำนวยการจึงติดต่อขอเข้าร่วมโครงการผลิตก๊าซชีวภาพ และได้รับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ รวมทั้งงบประมาณจาก ปตท.สผ. เมื่อพบว่าช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของก๊าซหุงต้มลงได้อย่างเห็นชัด จึงได้ขอสนับสนุนบ่อก๊าซชีวภาพบ่อที่ 2 อีกด้วย

โรงเรียนบ้านทับไฮยึดหลักบริหารตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาแต่ไหนแต่ไร ภายในโรงเรียนมีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ซึ่งภายในเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงกบเพื่อเป็นรายได้ และส่วนหนึ่งนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมูลมาทำปุ๋ยบำรุงดิน

โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจึงสอดรับกับแนวทางการเรียนการสอนของครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านทับไฮ แต่หลังจากติดตั้งแล้ว "สามปีที่ผ่านมาโรงเรียนเพิ่งเสียเงินซื้อก๊าซหุงต้มแค่สองถังเท่านั้น" ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทับไฮเล่าให้ฟังหากเทียบกับการซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละถัง ใน 3 ปี โรงเรียนสามารถประหยัดงบประมาณการซื้อก๊าซหุ้งต้ม มูลค่ามากกว่า14,000 บาท

หน้าที่ในการเทอาหาร เติมวัตถุดิบลงบ่อก๊าซชีวภาพเป็นของภารโรงและนักเรียนตามเวรกำหนด กิจกรรมนี้จะขาดช่วงก็เมื่อถึงเวลาปิดเทอมที่ไม่มีเศษอาหารซึ่งในการดูแลบ่อก๊าซชีวภาพไม่ควรปล่อยให้บ่อฟีบ โรงเรียนจึงปลูกหญ้าเนเปียร์บนพื้นที่ประมาณ 1 งานกว่า โดยหญ้าสีเขียวจัดที่ใช้เลี้ยงวัวนมชนิดนี้ เมื่อนำมาสับละเอียด สามารถใช้เติมลงบ่อก๊าซชีวภาพได้ หรือในบางครั้งโรงเรียนก็ตัดหญ้าเนเปียร์ไปแลกมูลวัว มูลควาย มูลไก่ มูลหมู ของเสียจากสัตว์นานาชนิด เพื่อมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเติมลงบ่อหมักเช่นกัน

ผู้อำนวยการยังอธิบายเพิ่มเติมว่า "ปัญหาอย่างหนึ่ง คือแค่เศษอาหารไม่พอ บางครั้งต้องเอามูลสัตว์ ที่ได้จากมูลวัว มูลควายใส่ลงไปด้วย แต่โรงเรียนของเราไม่มีวัวไม่มีควาย จึงต้องปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อใช้แลกกับมูลวัวของชาวบ้าน ชาวบ้านจะเกี่ยวหญ้าให้วัวกินก็มาที่นี่ได้ หรือแทนที่จะปล่อยวัวไปกินหญ้าแล้วต้องตามไปเฝ้าวัว ถ้ามีคนนำหญ้ามาแลกก็ไม่ต้องเสียเวลาทำงานอื่น"

ไม่แน่ว่าในอนาคตทางโรงเรียนบ้านทับไฮอาจมีโครงการจัดหาวัวมาเลี้ยง ให้อาหารคือหญ้าเนเปียร์ เพื่อเอามูลวัวมาเติมบ่อก๊าซชีวภาพอย่างจริงจัง

บ่อก๊าซชีวภาพมีลักษณะคล้ายกับลูกบอลลูนขนาดใหญ่ผิวพลาสติกเต่งตึงจากลมอัดอยู่ข้างใน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่อากาศธรรมดา แต่เป็นก๊าซชีวภาพขนาดบ่อกว้างประมาณ 1.7 เมตร ยาว 4 เมตร และขุดลึกจากพื้นดินส่วนหัวบ่อประมาณ 0.8 เมตร ลาดเทไปยังส่วนท้ายบ่อลึก 1 เมตร หลังจากขุดหลุมแล้วชาวบ้านจะช่วยกันนำถุงผ้ายางพลาสติกสำเร็จรูปขนาดใหญ่ติดตั้งไว้ในหลุม

รันดร พิมพ์ดา ผู้ประสานงานชุมชน เล่าวิธีการติดตั้งจากประสบการณ์ว่า "เราจะเอาถุงผ้ายางสำเร็จรูปมาต่อท่อพีวีซีที่ปากถุงกับท้ายถุง ใช้ยางในรถยนต์รัดให้แน่น ท่อพีวีซีเป็นช่องสำหรับใส่ขยะ และให้น้ำทิ้งล้นออกทางท้ายถุง ใช้เครื่องเป่าลมเติมลมเข้าไปให้ถุงผ้ายางขึ้นรูปภายในหลุม จากนั้นเติมน้ำ

การเติมน้ำต้องให้ท่วมขังท่อพีวีซีจากด้านใน น้ำจะคอยกันลมและก๊าซไว้ไม่ให้รั่วไหลออก เมื่อ "บ่อก๊าซชีวภาพ" โป่งพอเข้ารูปแล้วถึงจะเติมมูลสัตว์ลงไป ครั้งแรกนิยมใช้มูลสัตว์เป็น "วัตถุดิบตั้งต้น" เพราะให้ก๊าซมากกว่าเมื่อเกิดก๊าซแล้วจึงหันมาใช้เศษอาหารหรือมูลสัตว์ได้

วงจรการผลิตและใช้ก๊าซชีวภาพภายใน "ลูกบอลลูน" ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน มูลสัตว์ สิ่งปฏิกูล หรือเศษอาหารที่อยู่ในบ่อหมักจะเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายเกิดการหมักบ่มอยู่ภายในและคายก๊าซออกมาตามปฏิกิริยาของธรรมชาติ

กรณีเติมวัตถุดิบมากไปหรือมีฝนตก น้ำจะล้นออกทางท้ายบ่อ ถือเป็นน้ำปุ๋ยหมักคุณภาพดี นำไปเป็นหัวเชื้อรดน้ำต้นไม้ได้

นอกจากนี้ยังมีท่อเล็ก ๆ ที่มีวาล์วเปิดปิดต่อเป็นเส้นทางเดินของก๊าซชีวภาพ ปลายทางของท่อนี้คือห้องครัวตามบ้านเรือนั่นเอง

โครงการผลิตก๊าซชีวภาพและคัดแยกขยะในครัวเรือนเริ่มต้นจากกลุ่มเลี้ยงโคบ้านท่าสี ซึ่งประสบปัญหามูลวัวและมูลสัตว์อื่นอันเรี่ยราดในหมู่บ้าน เมื่อปี 2553 จำนวน 42 บ่อ ในปี 2555 ชาวบ้านรวมกลุ่มกันของบประมาณสนับสนุนจาก ปตท.สผ. ซึ่งเข้ามาดำเนินโครงการสินภูฮ่อมสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ใกล้กัน หลังจากบอกเล่าแบบปากต่อปากว่าบ่อหมักก๊าซชีวภาพสามารถผลิตก๊าซเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

แดง อ้วนเต็ม ชาวบ้านทับไฮ ตำบลแสงสว่าง อำเภอหนองแสง เข้าร่วมโครงการมา 3 ปีแล้ว เล่าว่า "ช่วยประหยัดได้เยอะมาก ทำไม่ยาก แค่ขุดหลุม แล้ว ปตท.สผ. ก็มาลงถุงก๊าซ ต่อสายให้ของเหลือจากครัวเรือนใส่ได้ทุกอย่าง นอกจากน้ำอาหารแล้ว น้ำซาวข้าวก็ใส่ได้ ประหยัดจากเคยเติมแก๊สปีละหกถัง ตอนนี้เหลือปีละถังเดียว"

ครอบครัวของแดงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดึงดูดให้เพื่อนบ้านหันมาใช้ก๊าซชีวภาพในชั่วระยะแค่ 5 ปี


ออกจากโรงเรียนบ้านทับไฮ เส้นทางสายชนบทนำไปสู่ที่ดินแปลงเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกับบ่อน้ำและวัวคอกหนึ่งอยู่ตรงริมบ่อ ผืนดินของ ไอ่ บุตรพรม สมาชิกล่าสุดของครอบครัวก๊าซชีวภาพ หลุมลึก 1 เมตรถูกขุดไว้รอท่า เมื่อคนพร้อม ทีมงานพร้อม ก็ถึงเวลาที่จะมาช่วยกันติดตั้งถุงผ้ายางพลาสติก

"แม่ว่ามันใช้ดี แล้วก็ประหยัดสตางค์" เธอเล่าหลังเห็นเพื่อนบ้านใช้มาแล้ว 2-3 ปีวัวห้าตัวในคอก คือความหวังของแม่ไอ่ ที่จะเอามูลของมันมาเติมบ่อก๊าซชีวภาพ เปลี่ยนมูลวัวให้กลายเป็นพลังงาน เสริมด้วยเศษอาหารที่ย่อยสลายได้เหมือนที่เพื่อน ๆ เคยบอกไว้

ถึงตอนนี้แม่ไอ่เรียนรู้ภาคทฤษฎีแล้วอย่างครบครันเหลือแค่ลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองเท่านั้น

อีกไม่นานจะมีก๊าซชีวภาพพวยพุ่งออกมาจากปลายท่อ อีกครอบครัวหนึ่งจะผลิตก๊าซหุงต้มเองได้ ด้วยการบ่มหมักมูลสัตว์และเศษอาหาร

ใกล้ถึงเวลาที่บ่อหมักก๊าซชีวภาพบ่อหนึ่งจะเริ่มทำงาน และเป็นตัวอย่างให้กับบ่ออื่น ๆ ที่จะตามมาอีกหลังจากนี้


เกี่ยวกับ โครงการขยะสู่พลังงาน

ปตท.สผ. เริ่มต้นโครงการก๊าซชีวภาพในตําบลแสงสว่าง อำเภอหนองแสง ตั้งแต่ปี 2555 จำนวน 42 บ่อ โดยเริ่มต้นในพื้นที่บ้านท่าสี 36 บ่อ และติดตั้งในพื้นที่บ้านทับไฮ 6 บ่อ ต่อมาได้ขยายไปยังตําบลทับกุง ถึงเวลานี้มีอยู่ 700 บ่อแล้ว

ปัจจุบันมีครัวเรือนในพื้นที่ปฏิบัติการของ ปตท.สผ. ทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมโครงการกว่า 700 ครัวเรือน สามารถประหยัดค่าก๊าซหุงต้มได้ประมาณปีละกว่า 4,200 บาทต่อครัวเรือน และยังช่วยแก้ไขปัญหามลภาวะที่เกิดจากมูลสัตว์ที่ใช้เป็นสารอินทรีย์ตั้งต้นได้แล้วกว่า 325 ตัน กำจัดขยะในครัวเรือนได้ไม่น้อยกว่า 470 ตันต่อปี และสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการได้ไม่น้อยกว่า 75 ตันต่อปี ทำให้ช่วยประหยัดค่าปุ๋ยอินทรีย์สำหรับใช้ในการเกษตรในอีกทางหนึ่งด้วย

ปตท.สผ. ได้ทำการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการนี้ โดยนำผลลัพธ์ทางสังคมมาคำนวณมูลค่าเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการมีค่าเท่ากับ 3.66: 1