Menu

การบริหารความเสี่ยงและการจัดการภาวะวิกฤต

ความสำคัญและความมุ่งมั่น

การดำเนินธุรกิจในโลกปัจจุบันประสบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและปัจจัยเสี่ยงใหม่ ๆ ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ ความผันผวนของราคาน้ำมัน สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศต่าง ๆ ที่บริษัทฯ เข้าลงทุน ปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยิ่งทวีความสำคัญ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ "อนาคตคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Future)" และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างจริงจัง สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด 19) ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด (Disruptive Technology) จากความท้าทายดังกล่าว ปตท.สผ. จึงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการบริหารความเสี่ยงและการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและการจัดการประเด็นความเสี่ยงทุกด้านอย่างรอบคอบและรวดเร็ว ทำให้องค์กรสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ ปตท.สผ. ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในระยะยาว

แนวทางการบริหารจัดการ

การบริหารความเสี่ยง

ด้วยความมุ่งมั่นในการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คณะกรรมการ ปตท.สผ. จึงได้อนุมัติกรอบการกำกับดูแลความเสี่ยงองค์กร เพื่อกำหนดความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ในการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่ระดับคณะกรรมการบริษัท ไปจนถึงระดับหน่วยธุรกิจ เพื่อให้การบริหารจัดการความเสี่ยงภายในองค์กรมีการสื่อสาร ประสานความร่วมมือ และเชื่อมโยงกันทุกระดับ อีกทั้งได้อนุมัติระดับความเสี่ยงที่องค์กรยอมรับได้ เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ทำให้บริษัทสามารถควบคุมดูแลการจัดการความเสี่ยงทุกด้านให้อยู่ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้อย่างมีประสิทธิผลและสอดคล้องกับนโยบายต่าง ๆ และสร้างความมั่นใจว่าความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่มีผลกระทบระดับองค์กร (Corporate Risk) และความเสี่ยงเกิดใหม่ (Emerging Risk) จะได้รับการบริหารจัดการ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นปัญหาโดยไม่ทราบล่วงหน้า ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น และลดการเกิดความเสี่ยงซ้ำ

ปตท.สผ. มีนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กรซึ่งอนุมัติโดยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยมุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงเชิงรุกและการมีวัฒนธรรมด้านความเสี่ยงที่เข้มแข็ง มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO 31000:2018 และมีการนำกรอบแนวทางการบริหารความเสี่ยงของ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) Enterprise Risk Management – Integrating with Strategy and Performance (COSO ERM 2017) และ COSO Enterprise Risk Management – Applying Enterprise Risk Management to Environmental, Social and Governance-related Risks (COSO ESG 2018) มาปรับใช้เพื่อเชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยงเข้ากับการวางแผนกลยุทธ์ และบูรณาการการบริหารความเสี่ยงด้านความยั่งยืน อันได้แก่ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านบรรษัทภิบาล เข้ากับกระบวนการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร โดยคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารความเสี่ยง และผลักดันการบริหารความเสี่ยงให้ครอบคลุมไปยังผู้รับเหมา คู่ค้า และหุ้นส่วนทางธุรกิจต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ วัตถุประสงค์ทางธุรกิจ และการเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

1. กรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กร

กระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 31000:2018 ซึ่งถูกกำหนดกระบวนการให้ชัดเจนและง่ายต่อการเข้าใจ โดยประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้ 1) กำหนดบริบท 2) การประเมินความเสี่ยง 3) การจัดการและบรรเทาความเสี่ยง 4) การตรวจสอบและทบทวน และ 5) การสื่อสารและการปรึกษา กระบวนการเหล่านี้สามารถปรับขนาดความครอบคลุมได้ตามความเหมาะสม โดยสามารถนำไปปรับใช้ในหลายระดับภายในองค์กรได้

ปตท.สผ. ส่งเสริมการบูรณาการการบริหารความเสี่ยงเข้ากับการดำเนินงานและการตัดสินใจทางธุรกิจ โดยนำการบริหารความเสี่ยงมาใช้ทั่วทั้งองค์กร ครอบคลุมการดำเนินงานหลักของบริษัททุกด้านซึ่งประกอบด้วย การวางแผนและการจัดการเชิงกลยุทธ์ การตัดสินใจลงทุนและถอนการลงทุน การบริหารโครงการขนาดใหญ่ การปฏิบัติการและกระบวนการทางธุรกิจ รวมถึงการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management) และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) นอกจากนี้ ยังมีการบริหารความเสี่ยงในทุกระดับ ทั้งในระดับองค์กร (Corporate Level) และระดับปฏิบัติการ (Operational Level) เพื่อให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ (Risk Appetite) และมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่จะได้รับ พร้อมทั้งมีการติดตามความคืบหน้าของแผนจัดการความเสี่ยง (Mitigation Plan) และตัวชี้วัดความเสี่ยงที่สำคัญ (Key Risk Indicators - KRIs) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อจะได้ป้องกันและกำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงเพิ่มเติมได้ทันเหตุการณ์

2. โครงสร้างการบริหารความเสี่ยง

เพื่อให้ประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญได้ถูกระบุไว้อย่างครอบคลุม ครบถ้วน และมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักการโมเดลสามด่าน (Three Lines Model) หน่วยงานบริหารความเสี่ยงจะให้ข้อแนะนำและทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีบทบาทในด่านที่หนึ่ง (First Line Roles) ซึ่งมีหน้าที่ในการดำเนินงานและบริหารความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กันในฐานะเจ้าของความเสี่ยง (Risk Owner) และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่มีบทบาทในด่านที่สอง (Second Line Roles) ที่ดูแลและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ซึ่งจะทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในการบริหารความเสี่ยงในแต่ละด้าน เช่น หน่วยงานกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ จะติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎหมายซึ่งอาจส่งผลให้เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่หรือทำให้ระดับความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนหน่วยงานตรวจสอบซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในด่านที่สาม (Third Line Roles) ทำหน้าที่ตรวจสอบและให้ข้อแนะนำอย่างเป็นอิสระ เพื่อพัฒนาปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น หน่วยตรวจสอบภายในตามบทบาทของ Third Line Roles ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานตรวจสอบ และผู้ตรวจสอบภายนอก มีหน้าที่ในการตรวจสอบอิสระเกี่ยวกับผลการดำเนินงานโดยรวมของระบบการจัดการต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานของ First และ Second Line Roles ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และให้ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานบริหารความเสี่ยงและหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญได้ถูกระบุและจัดการอย่างต่อเนื่อง

3. ความเสี่ยงระดับองค์กรและความเสี่ยงเกิดใหม่

ในกระบวนการระบุและประเมินความเสี่ยงระดับองค์กร (Corporate Risk) ปตท.สผ. จะพิจารณาปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และกลยุทธ์ของบริษัท และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่มีผลกระทบสูงระดับองค์กร เช่น การเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์โลกที่สำคัญต่าง ๆ (Significant Global Events) ผลการตรวจสอบที่สำคัญจากหน่วยงานตรวจสอบ (Audit Findings) ข้อคิดเห็นของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและผู้บริหารของบริษัท ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงสำคัญที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบหรือเจ้าของความเสี่ยง (Risk Owner) ได้ระบุและประเมินไว้จะถูกพิจารณายกระดับโดยใช้เกณฑ์ระดับองค์กรไปพร้อมกัน ทั้งนี้ ประเด็นความเสี่ยงระดับองค์กรทั้งหมดจะถูกรวบรวมและจัดทำเป็น Corporate Risk Profile (CRP) เพื่อรายงานต่อผู้บริหาร คณะกรรมการจัดการ และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ และจะมีการติดตามและแจ้งต่อคณะกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการนำระบบลงทะเบียนความเสี่ยงออนไลน์ในรูปแบบ Web Application (Web-based Risk Register System - RR System) มาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นช่องทางให้เจ้าของความเสี่ยงสามารถระบุและวิเคราะห์ความเสี่ยงของตนเองได้อย่างครบถ้วน รวดเร็ว สื่อสารได้อย่างทั่วถึง ง่ายต่อการรวบรวม และสามารถยกระดับความเสี่ยงที่สำคัญขึ้นมาเป็นความเสี่ยงระดับองค์กร ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถติดตามการจัดการความเสี่ยงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทุกสถานที่ ทุกเวลา นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึง พัฒนา Chat Bot เพื่อแนะนำความเสี่ยง และค้นหาข้อมูลความเสี่ยงได้ครบถ้วน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการความเสี่ยงซึ่งอาจเกิดเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายขององค์กร

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ตลอดจนความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสียต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบต่าง ๆ และความต้องการมาตรการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มมากขึ้น ปตท.สผ. จึงได้ติดตามสถานการณ์และประเมินความเสี่ยงเกิดใหม่ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้ในอนาคต และรายงานต่อผู้บริหารและคณะกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามและปรับปรุงแผนบริหารจัดการความเสี่ยงรวมทั้งกลยุทธ์ของบริษัทฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรและการดำเนินงานให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้ ปตท.สผ. สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบัน ปตท.สผ. ได้ระบุและติดตามความเสี่ยงเกิดใหม่ 2 รายการ ดังนี้

1) ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Risk)

คำอธิบายและสถานการณ์
ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Extreme Weather Events) และภัยธรรมชาติ (Natural Disaster) ที่รุนแรงขึ้น โดยหนึ่งในสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ปตท.สผ. ซึ่งประกอบธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของ ปตท.สผ. ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ (1) ความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risk) หรือความเสี่ยงจากผลกระทบทางตรงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น ความเสี่ยงจากคลื่นความร้อน ฝนตกหนัก พายุหมุนเขตร้อน ภัยแล้ง และความเสี่ยงที่เกี่ยวกับน้ำ และ (2) ความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) หรือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย กฎเกณฑ์/กฎหมาย เทคโนโลยี และความต้องการพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังเห็นได้จากการที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้ลงนามและให้สัตยาบันร่วมกันต่อความตกลงจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The United Nations Climate Change Conference of the Parties) สมัยที่ 21 (COP21) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2558 และสมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยมุ่งเน้นเรื่องการยกระดับเป้าหมายและการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างเร่งด่วน รวมถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions หรือ Net Zero) เร็วขึ้น รวมถึงประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์และเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 โดยธุรกิจภาคพลังงานเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดันให้ประเทศบรรลุเป้าหมายนี้
ผลกระทบ
ปตท.สผ. ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้มีการประเมินความเสี่ยงด้านภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติของทั้งโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบันและโครงการที่บริษัทฯ สนใจลงทุน โดยประเมินความเสี่ยงทั้งในระยะสั้น (ปี 2563-2568) ระยะกลาง (ปี 2568-2578) และระยะยาว (ปี 2578-2593) ในสถานการณ์ต่าง ๆ ตามแนวทางของ Representative Concentration Pathway (RCP), Stated Policies Scenario, Sustainable Development Scenario (SDS) และ IPCC 1.5C Scenario

ผลการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงเปลี่ยนผ่านในภาพรวมของบริษัทฯ สำหรับทุกสถานการณ์และทุกช่วงระยะเวลา พบว่าอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง ทำให้ ปตท.สผ. มั่นใจได้ว่า การดำเนินงานของบริษัทฯ มีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดย ปตท.สผ. มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อระดับความเสี่ยงของบริษัทฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
การจัดการความเสี่ยงและโอกาส
ปตท.สผ. ได้ศึกษาและวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส และปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทบทวนและกำหนดกลยุทธ์ระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์การสหประชาชาติ และสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 ของประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนาและปรับปรุงแผนงานทั้งในระดับกลยุทธ์การลงทุน และในระดับพื้นที่ปฏิบัติงานของกิจกรรมสำรวจและผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพื้นที่ปฏิบัติงานนั้นครอบคลุมถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลดความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งตั้งเป้าหมายลดความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 ที่ร้อยละ 30 และในปี 2583 ที่ร้อยละ 50 เมื่อเทียบจากปีฐาน 2563 โดยในปี 2565 ปตท.สผ. ได้บรรลุเป้าหมายลดความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้กว่าร้อยละ 25 (จากปีฐาน 2555) ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้ถึง 8 ปี นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้ศึกษาศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของโครงการ ปตท.สผ. ปลูกป่าลดภาวะโลกร้อน รวมถึงการชดเชยคาร์บอนผ่านกลไกต่าง ๆ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอก เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้โครงการ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมและนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนของ ปตท.สผ. ได้รวมถึงการดำเนินธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติครบวงจรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Gas Value Chain) เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ธุรกิจการพัฒนาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวมถึงการมองหาโอกาสการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่จะช่วยผลักดันการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกทางหนึ่งด้วย


2) ความเสี่ยงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงาน (Risks Arising from Disruptive Technology that Adversely Impacts Oil and Gas Industry)

คำอธิบายและสถานการณ์
บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่าง ๆ กำลังเผชิญกับผลกระทบจากเทคโนโลยี ทำให้การดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมพลังงานเปลี่ยนแปลงไป (Disruptive Technology) เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ช่วยการวิจัยพัฒนาให้พลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ มีราคาถูกลงและเข้าถึงง่ายได้เร็วขึ้น ปัจจุบัน เทคโนโลยีเหล่านี้มาในรูปแบบของอุปกรณ์และระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และยานพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้ความต้องการน้ำมันได้รับผลกระทบ และผู้บริโภคพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งนโยบายรัฐที่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุม COP26 ก็ยิ่งส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และนำไปสู่การสิ้นสุดของอุตสาหกรรมน้ำมันในอนาคต

จากสถานการณ์ดังกล่าว ล้วนเป็นความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ของ ปตท.สผ. ซี่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการขายน้ำมันดิบ คอนเดนเสท และก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการสูญเสียความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตอันเนื่องมาจากการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของคู่แข่ง
ผลกระทบ
ผลกระทบประการแรกจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปเป็นพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนในอนาคต ซึ่งทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงและมีการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ปตท.สผ. ที่มีสัดส่วนจากการขายน้ำมันดิบและคอนเดนเสทสูงถึง 49% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2565 และประการต่อมาคือการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน หรืออีกนัยหนึ่งคือคู่แข่งมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตมากกว่าจากการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน ในปี 2565 ปตท.สผ. มีรายได้จากก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ประมาณร้อยละ 51 ของรายได้ทั้งหมด และยังคงแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจอื่นที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจก๊าซธรรมชาติต่อไป
การจัดการความเสี่ยงและโอกาส
เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจพลังงานภายใต้สถานการณ์ที่มีความผันผวน ปตท.สผ. จึงพัฒนาเทคโนโลยีผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการแบ่งปันความรู้และประสานความร่วมมือกับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญในทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

ปตท.สผ. มีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงองค์กร (Enterprise Transformation) ทำให้เพิ่มความสามารถในการปรับตัวและความสามารถในการแข่งขัน ดังนี้
  • Digital Transformation – เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านเทคโนโลยี เช่น Artificial Intelligence (AI) Machine Learning และ Internet of Things (IoT) เป็นต้น ซึ่งจะมาช่วยบริษัทให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ปรับการผลิตปิโตรเลียมให้เหมาะสมที่สุด เพิ่มความเร็วในการประมวลผลแหล่งสำรวจ และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานต่าง ๆ เช่น งานขุดเจาะ งานบริหารโครงการด้านวิศวกรรม เป็นต้น
  • Organization and New Normal Transformation – เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถปรับโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงานให้คล่องตัวมากขึ้น ช่วยเสริมศักยภาพความสามารถของบุคลากร และเสริมสร้างมุมมองความคิดและวัฒนธรรมขององค์กรที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและตอบสนองทันสถานการณ์ ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถลดต้นทุนและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังทำการสำรวจโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับธุรกิจหลักเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจใหม่ในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ LNG และธุรกิจเกี่ยวกับนวัตกรรมเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นภายในบริษัท พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมไปถึงพลังงานในรูปแบบใหม่ และขยายธุรกิจ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ใน 4 ธุรกิจย่อย ได้แก่ (1) ธุรกิจด้านการสำรวจตรวจสอบและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ใต้ทะเล (2) ธุรกิจให้บริการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานในหลากหลายอุตสาหกรรม (3) ธุรกิจให้บริการด้านเกษตรอัจฉริยะและการจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน และ (4) ธุรกิจเครือข่ายข้อมูลด้านสุขภาพ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ ปตท.สผ. ความเชี่ยวชาญนี้ยังสามารถนำไปใช้งานเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าทางธุรกิจได้อีกด้วย

4. วัฒนธรรมความเสี่ยงภายในองค์กร

เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงในองค์กรแข็งแกร่งและยั่งยืน ปตท.สผ. จึงให้ความสำคัญในการปลูกฝังจิตสำนึกด้านความเสี่ยงและพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากร โดยมีผู้บริหารทุกระดับเป็นผู้นำ เป็นแบบอย่างที่ดี และสนับสนุนให้มีการพัฒนาการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจ และนำการบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการดำเนินงานจนเป็นวัฒนธรรมองค์กรผ่านการฝึกอบรมและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จัดฝึกอบรมให้กับกรรมการใหม่สำหรับคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง จัดฝึกอบรมให้กับผู้บริหารและผู้ประสานงานด้านความเสี่ยง (Risk Coordinator) ของแต่ละหน่วยงาน มีการสื่อสารเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงผ่านช่องทาง Intranet อีเมล Podcast และกิจกรรมประชาสัมพันธ์ตามวาระต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมบรรยายเพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing) ซึ่งเน้นในประเด็นสำคัญที่อาจจะเป็นความเสี่ยงในปัจจุบัน เพื่อให้พนักงานมีความรู้ทันเหตุการณ์ และสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบต่องานและภาพรวมบริษัทได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการติดตามและประเมินผลการบริหารความเสี่ยงด้วยตัวชี้วัดเกี่ยวกับการระบุความเสี่ยงและผลการบริหารความเสี่ยง (Unidentified Risk KPI) สำหรับผู้บริหารทุกระดับของแต่ละหน่วยงานที่เป็นเจ้าของความเสี่ยง รวมถึงหน่วยงานบริหารความเสี่ยงซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ดูแลความเสี่ยงในภาพรวม และมีการจัดทำการประเมินระดับวุฒิภาวะด้าน GRC (GRC Maturity Assessment) ของพนักงานในพื้นที่ปฏิบัติการที่บริษัทเพิ่งลงทุนใหม่ เช่น โครงการมาเลเซีย เพื่อวิเคราะห์จุดแข็งและวางแผนพัฒนาจุดอ่อนในด้าน GRC ซึ่งจะช่วยพัฒนาการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ

ปตท.สผ. มีระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยงองค์กร โดยได้จัดทำแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ Business Continuity Plan (BCP) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงานในภาวะวิกฤต โดย ปตท.สผ. ได้กำหนดกรอบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 22301 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสำหรับการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ รวมถึงกำหนดนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  • ปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย บุคลากร องค์กร ชุมชน รวมถึงชื่อเสียงและภาพลักษณ์ขององค์กร
  • มีมาตรการจัดการความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก และต้องเป็นไปตามนโยบายอื่นๆ ของ ปตท.สผ.
  • ลดความเสี่ยงจากการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย มาตรฐาน ข้อกำหนด หรือสัญญาต่าง ๆ
  • สร้างขีดความสามารถให้องค์กรมีความยืดหยุ่นอย่างเหมาะสม และเพียงพอ

ปตท.สผ. ตระหนักดีว่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นธุรกิจที่ต้องรักษาความมั่นคงในการสรรหาปิโตรเลียมและตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่องไม่ให้มีการหยุดชะงัก จึงได้พัฒนาแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อให้ ปตท.สผ. สามารถดำเนินงานได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤต ภายใต้ข้อกำหนดของระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดโครงสร้างของระบบเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤต โดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงการปกป้องชีวิต สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สิน และชื่อเสียงขององค์กร ทั้งนี้ แผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) ของแต่ละพื้นที่ปฏิบัติการรวมถึงหน่วยงานสนับสนุน จะมีการทบทวนแผนและดำเนินการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับปรุงและรักษามาตรฐานแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ และมั่นใจได้ว่า ปตท.สผ. จะสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพแม้จะอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤต พร้อมทั้งมีการสร้างความตระหนักและพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรในเรื่องการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มี 5 พื้นที่ปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจตามมาตรฐานสากล ISO 22301 ได้แก่ โครงการเอส 1 โครงการซอติก้า (เมียนมา) โครงการฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม (สงขลา) ฝ่ายบริหารอาคารและบริการธุรกิจ สำนักงานใหญ่ และโครงการมาเลเซีย ซึ่งได้รับการตรวจประเมินระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management) ทั้งในกิจกรรมการดำเนินการผลิต (Malaysia Asset Production Operations) และกิจกรรมสนับสนุน (Support Function in Offshore and Onshore Production and KL Office) ในปี 2565 และได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวเป็นโครงการที่ 5

นอกจากนี้ เพื่อให้การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและสภาวะวิกฤตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปตท.สผ. จึงได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการเอกสารสำหรับการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อรวบรวม เก็บรักษา และพัฒนาปรับปรุงเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้มีความทันสมัยและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงเอกสารที่เป็นปัจจุบันและนำมาใช้ปฏิบัติได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพสูงสุด