Menu

การปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ความสำคัญและความมุ่งมั่น

ปตท.สผ. มุ่งมั่นที่จะปรับตัวให้ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์และความท้าทายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงราคาน้ำมันที่ผันผวน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กลยุทธ์ธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) รวมถึงโรคระบาด เช่น การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 จึงให้ความสำคัญต่อการดำเนินการเปลี่ยนแปลงองค์กรและกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

เป้าหมายสำคัญ

  1. ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มปริมาณการผลิตจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อย่างครบวงจร ครอบคลุมกิจกรรมการทำงานทั้งในหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุนโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน
  2. เพิ่มศักยภาพทางความคิดและทักษะที่จำเป็นสำหรับการปรับตัวให้แก่ผู้บริหารและพนักงานเพื่อสร้างความพร้อมสำหรับวิถีชีวิตและระบบการทำงานแบบใหม่ เช่น ทักษะด้านดิจิทัล วิธีการคิดนอกกรอบที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นต้น

แนวทางการบริหารจัดการ

ปตท.สผ. มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการเปลี่ยนแปลงองค์กรและกระบวนการทำงานโดยมีการทบทวนแผนงานให้ทันสถานการณ์อยู่เสมอ นับตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันมีการบริหารจัดการด้านการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตหรือ Transformation ผ่านการดำเนินงานใน 3 ด้านหลัก ดังนี้

1. Organization Transformation คือ

การปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีโครงสร้างและกระบวนการจัดการให้ดีขึ้น โดยรวมถึงการจัดการด้านทรัพยากรบุคคล การปรับวิธีคิดและพฤติกรรม (Mindset and Behavior) การเสริมสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจภายใต้เป้าหมายเดียวกัน (One Team One Goal) การเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลผ่านโครงการ Digital Citizen Bootcamp และการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการ me to We เพื่อปลูกฝังวิธีคิดและคุณลักษณะอันเหมาะสมต่อโลกธุรกิจในอนาคตแก่ผู้บริหารและพนักงานทุกคน

2. Digital Transformation คือ

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ดำเนินการโดยผ่านโครงการดิจิทัลต่าง ๆ (Digital Initiatives) ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มงานในห่วงโซ่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้งส่วนงานหลักตามสายการผลิตและส่วนงานสนับสนุนพร้อมกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานการบริหารจัดการข้อมูล (Data Foundation Platform) ระบบการกำกับดูแลข้อมูลและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการวิเคราะห์ข้อมูล (Advanced Analytics) กระบวนการอัตโนมัติ (Process Automation) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence/Machine Learning – AI/ML) และการสร้างแผนผังเพื่อการวัดผลและตัดสินใจ (Decision/ Monitoring Dashboard) เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการสำรวจ ผลิต และพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีโครงการดิจิทัลจำนวนมากกว่า 100 โครงการ ที่มีการคิดค้นและนำเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับต่าง ๆ ข้างต้นมาประยุกต์ใช้ ทั้งโครงการ (Asset) ในประเทศและต่างประเทศ จากส่วนงานหลักตามสายการผลิตและส่วนงานสนับสนุน โดยมีการรวมศูนย์โครงการดิจิทัลอยู่บนแพลตฟอร์มหลัก (PTTEP One Digital Platform)

3. New Normal Transformation คือ

การสร้างความรู้ความเข้าใจและจัดหาอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนให้พนักงานสามารถปรับตัวสู่วิถีการทำงานแบบใหม่ (New Way of Working) ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการสร้างจิตสำนึกด้านวินัยทางการเงินร่วมกันในทุกหน่วยงานเพื่อหาวิธีลดค่าใช้จ่ายแต่ยังคงเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม (SPEND SMART Project)

ปตท.สผ. เชื่อมั่นว่าการปรับเปลี่ยนองค์กรรวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาองค์กรตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มมูลค่าในด้านต่าง ๆ เช่น ลดต้นทุนให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ เพิ่มกำไรสุทธิ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยทำงานให้แล้วเสร็จในกรอบเวลาที่เร็วขึ้น เพิ่มอัตราความสำเร็จของการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม และเพิ่มปริมาณการผลิต

การปรับเปลี่ยนองค์กรนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของพนักงานในระยะยาว ทั้งในด้านทักษะ วิธีคิด และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งทำให้ ปตท.สผ. เป็นองค์กรที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการตัดสินใจ (Data Driven Organization) ที่มีความพลวัต (Dynamic) ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ และสามารถรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตได้