Menu

กรอบแนวคิดและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน

เส้นทางด้านความยั่งยืน

ปตท.สผ. มีแนวคิดที่จะก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ ในปี 2528 โดยเริ่มมุ่งสู่การเป็น "องค์กรสีเขียว" ที่เน้นการดูแลและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ต่อมาบริษัทฯ ได้เริ่มนำแนวคิดด้านความยั่งยืนที่มีองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลมาปรับใช้ จนในปี 2554 ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact - UNGC) เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะยึดถือปฏิบัติตามหลักการ 10 ประการของ UNGC ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยในปี 2558 ปตท.สผ. ได้ถูกยกระดับให้เป็นสมาชิกระดับ Advanced Level สืบเนื่องจากการปฏิบัติตามเกณฑ์ขั้นสูงสุดของ UNGC


นอกจากนั้น ปตท.สผ. ได้นำเกณฑ์การประเมินด้านความยั่งยืนในระดับสากลต่าง ๆ เช่น กลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices – DJSI), MSCI, FTSE4Good เป็นต้น มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมถึงยังรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทสอดคล้องกับมาตรฐานการรายงาน Global Reporting Initiative (GRI) และกรอบการรายงานและบริหารจัดการความยั่งยืนระดับสากล International Petroleum Industry Environment Conservation Association (IPIECA) อีกด้วย

ในปี 2562 ปตท.สผ. จัดทำกรอบแนวคิดและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนพร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายระยะยาว (ปี 2573) ไว้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความยั่งยืนจากภายในองค์กร ผ่านการดำเนินงานที่ดีบนรากฐานที่แข็งแกร่ง และส่งมอบคุณค่า สร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมโดยรวมได้ในที่สุด (From We to World)

ในปี 2563 คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทสำคัญในการผลักดันด้านความยั่งยืนขององค์กรเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้อนุมัติกลยุทธ์ เป้าหมายระยะยาว รวมทั้งเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืน (Sustainability Statement) เพื่อใช้สื่อสารให้พนักงานทุกคนรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ มีความเข้าใจที่ตรงกันในแนวทางด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้ขยายขอบเขตความรับผิดชอบของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลให้ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแล และส่งเสริมการดำเนินงานในด้านความยั่งยืนในภาพรวม โดยมีการติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดเป็นรายไตรมาส และได้เปลี่ยนชื่อจาก "คณะกรรมการบรรษัทภิบาล" เป็น "คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ซึ่งปัจจุบันคณะดังกล่าวมีชื่อว่าคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน

กรอบแนวคิดและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน

กรอบแนวคิดด้านความยั่งยืน

ปตท.สผ. เชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้นเกิดจากการสร้างสมดุลที่เหมาะสม หรือ "Right Balance" ระหว่างธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงได้พัฒนา "กรอบแนวคิดด้านความยั่งยืน" ขึ้นเพื่อเป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ ปตท.สผ. ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการดูแลใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเราเชื่อมั่นว่าการสร้างความยั่งยืนจากภายในองค์กร โดยมีการดำเนินงานที่ดี บนรากฐานที่แข็งแกร่งและมีจิตสำนึกที่คำนึงถึงคุณค่าในระยะยาวต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายแล้ว จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมโดยรวมได้ในที่สุด หรือ Form We to World รวมถึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้บริษัทฯ มุ่งสู่การเป็น "Energy Partner of Choice" ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ โดยกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนนี้ประกอบด้วย การมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization - HPO) การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance - GRC) และการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation - SVC) โดยกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนของ ปตท.สผ. สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals – UN SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย โดยประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 7 8 12 13 14 และ 16 ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท



  1. การมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization - HPO)
    มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพขององค์กร เพื่อให้มีการพัฒนาผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพลังงานในอนาคต
  2. การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance - GRC)
    มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนให้กับองค์กร โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล การกำกับดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในอย่างเหมาะสม ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
  3. การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation - SVC)
    มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญในการสร้างคุณค่าในระยะยาวแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านการเป็นองค์กรที่ยั่งยืน ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชุมชนและสังคม

ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

กระบวนการประเมินประเด็นสำคัญของ ปตท.สผ.

ในปี 2565 ปตท.สผ. ได้ประเมินและทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG โดยพิจารณาใน 2 มิติ ได้แก่ ระดับความสำคัญในมุมมองของ ปตท.สผ. และระดับความสำคัญในมุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย 9 กลุ่มหลัก ซึ่งประกอบด้วย (1) หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล (2) ผู้ค้า คู่ค้า/ผู้รับเหมา (3) ลูกค้า (4) พนักงาน (5) ผู้ถือหุ้น สถาบันการลงทุน สถาบันการเงิน และเครดิตเตอร์ (6) พันธมิตรทางธุรกิจ หุ้นส่วน และผู้ร่วมลงทุนทางธุรกิจ (7) ชุมชน (8) องค์กรอิสระ องค์กรมหาชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และสถาบันการศึกษา (9) สำนักข่าวและสื่อมวลชน โดย ปตท.สผ. ได้ดำเนินการจัดลำดับความสำคัญอย่างเป็นระบบใน 2 มิติดังกล่าวข้างต้น ตามขั้นตอนภายใต้กรอบการรายงาน Global Reporting Initiative Standards: GRI Standards (2021) และ AA1000 AccountAbility Principles: AA1000AP (2018) โดยประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนต่าง ๆ นั้น ได้ถูกรวบรวมมาจากแนวโน้มและทิศทางด้านความยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศไทยและในระดับโลกที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และ SASB Materiality MapTM ของ Sustainability Accounting Standards Board (SASB) ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซ โดยผลจากการประเมินประเด็นที่สำคัญด้านความยั่งยืนดังกล่าวจะถูกนำมาเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อใช้พัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์องค์กร โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. การระบุประเด็นสำคัญ
    พิจารณาจากกลยุทธ์เชิงธุรกิจของบริษัท การประเมินความเสี่ยง ความท้าทาย ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ที่ครอบคลุมด้านธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเทียบกับแนวโน้มและทิศทางด้านความยั่งยืนระดับโลก ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน (Peer) และสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาร่วมกับข้อเสนอแนะ ความคาดหวัง และความสนใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  2. การจัดลำดับความสำคัญ
    เมื่อได้ประเด็นสำคัญมาแล้ว ปตท.สผ. นำประเด็นดังกล่าวมาประเมินระดับความสำคัญใน 2 มิติ ได้แก่ ระดับความสำคัญต่อ ปตท.สผ. และ ระดับความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยประเด็นที่ถูกจัดลำดับความสำคัญแล้วจะถูกนำเสนอในรูปแบบ "เมทริกซ์ประเด็นสำคัญ" โดย
    X (แกนนอน) คือ "ระดับความสำคัญของประเด็นต่าง ๆ ต่อ ปตท.สผ."
    Y (แกนแนวตั้ง) คือ "ระดับความสำคัญของประเด็นต่าง ๆ ต่อ ผู้มีส่วนได้เสีย"
    โดยประเด็นที่มีความสำคัญมากที่สุดจะถูกแสดงอยู่บน ควอดรันต์ ขวาบน ของเมทริกซ์
  3. การทวนสอบ
    คณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการจัดการ เป็นผู้ทบทวนและอนุมัติเนื้อหาในประเด็นสำคัญ เพื่อนำเสนอในรายงานความยั่งยืน เว็ปไซด์บริษัท และพิจารณากำหนดทิศทางและกลยุทธ์ของบริษัทในอนาคต รวมถึง มีการสอบทานรายงานความยั่งยืนโดยหน่วยงานภายนอก เพื่อความโปร่งใส ถูกต้อง และครบถ้วนของการเปิดเผยข้อมูล เป็นประจำทุกปี
  4. การทบทวนและการพัฒนาการรายงานอย่างต่อเนื่อง
    พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วม ตลอดจนรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงการรายงานที่สะท้อนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียได้ดียิ่งขึ้น

ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนประจำปี 2565



  1. การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
  2. เทคโนโลยีและนวัตกรรม
  3. การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์
  4. ความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
  5. การสร้างคุณค่าให้แก่ชุมชนและสังคม
  6. การพัฒนาศักยภาพและความพร้อมของบุคลากร
  7. การปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
  8. การบริหารจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
  9. การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
  10. ความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์
  11. สิทธิมนุษยชน
  12. การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้เสีย

กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน

ภายใต้กรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนและประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กร ปตท.สผ. ได้กำหนดกลยุทธ์ 3 แนวทางหลัก รวมถึงกลยุทธ์อื่น ๆ เพื่อสร้างรากฐานและความแข็งแกร่งด้านความยั่งยืน ที่ครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) โดยกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของ ปตท.สผ. และเป้าหมายระยะยาวในระดับองค์กร ประกอบด้วย