Menu

สารจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร


มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

2565 ปีของ “การขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ความท้าทาย” ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวสูง การแข็งค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และความท้าทายที่สำคัญต่อธุรกิจของ ปตท.สผ. คือการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ทั่วโลกต่างมองหาพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ข้างต้น ปตท.สผ. ได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อรองรับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต โดยเน้นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน และตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคตผ่านการเติบโตในธุรกิจใหม่ ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยกลยุทธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 7 8 12 13 14 และ 16 ซึ่งเชื่อมโยงได้โดยตรงกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตามกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนขององค์กร ที่เน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization – HPO) การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance – GRC) และการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation – SVC) โดยกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ประกอบด้วย
1) การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Drive Value) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน ขยายการลงทุนในก๊าซธรรมชาติและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
2) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonize) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายและแผนการดำเนินงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 ตามที่ได้ประกาศเป้าหมายและแผนการดำเนินงานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ภายใต้แนวทางหยุด เลี่ยง ลด และชดเชย ได้แก่ เน้นการลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติ นำปัจจัยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตผ่านโครงการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปกักเก็บ (Carbon Capture and Storage - CCS) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งสร้างสมดุลด้วยการปลูกป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน รวมถึงโครงการดูดซับคาร์บอนจากมหาสมุทร (Blue Carbon) เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก
3) การเติบโตในธุรกิจใหม่ (Diversify) โดยเน้นสร้างการเติบโตให้บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือเออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. แสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน การสร้างโอกาสทางธุรกิจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS as a Service) การดักจับและใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Utilization - CCU) รวมถึงการต่อยอดเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (H2) และพลังงานในอนาคต

มุ่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

ตลอดปี 2565 ปตท.สผ. มีผลสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยบริษัทฯ มีสถิติอัตราการผลิตในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่า 580,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มีสัดส่วนก๊าซธรรมชาติร้อยละ 74 และคาดการณ์การเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญในปี 2565 ประกอบด้วยการเปลี่ยนผ่านมาเป็นผู้ดำเนินการ (Operatorship Transfer) ในโครงการจี 1/61 และจี 2/61 ในอ่าวไทย และโครงการยาดานา ประเทศเมียนมา ที่เป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย และสามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการเพิ่มกำลังการผลิตจากหลายโครงการ อาทิ โครงการอาทิตย์ โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เพื่อช่วยลดผลกระทบจากต้นทุนทางพลังงาน นอกจากนี้ในส่วนของประเทศมาเลเซีย ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จทั้งในการประมูลสิทธิสำรวจปิโตรเลียมในแปลงเอสบี412 รัฐซาบาห์ การได้รับอนุมัติการขยายระยะเวลาการผลิตในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ต่อไปอีก 10 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2582 และประสบความสำเร็จในการค้นพบก๊าซธรรมชาติ ในแปลงเอสเค410 บี รัฐซาราวัก ซึ่งจะช่วยขยายฐานการลงทุนของบริษัทฯ ตามแผนกลยุทธ์ระยะยาว สำหรับภูมิภาคตะวันออกกลาง ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปตท.สผ. ได้ร่วมกับบริษัท Eni ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ได้เจาะสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่จากการเจาะหลุมแรกในโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 และขยายการลงทุนโดยเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนในแปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบก “ชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ” ในรัฐชาร์จาห์ ตามกลยุทธ์ขยายการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูงในตะวันออกกลาง รวมถึงโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ประเทศแอลจีเรีย สามารถเริ่มผลิตน้ำมันระยะที่ 1 ได้เป็นผลสำเร็จ

หลักความปลอดภัยคือหัวใจการทำงาน

ด้วยความร่วมมือของพนักงานทุกคนตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ตลอดจนผู้บริหาร รวมถึงผู้รับเหมาและผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของบริษัทฯ มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น “องค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ” โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานและผู้รับเหมาสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะสถิติอุบัติเหตุที่มีการบาดเจ็บจนถึงขั้นหยุดงานและสถิติอุบัติเหตุการรั่วไหลจากกระบวนการผลิตและหลุมเจาะมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และดีกว่าค่าเฉลี่ยล่าสุดของสมาคมผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซนานาชาติ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานด้านความปลอดภัยฯ ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้สถิติด้านความปลอดภัยของบริษัทฯ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ

พลังความร่วมมือสู่ความยั่งยืน

ปตท.สผ. เชื่อมั่นว่าพลังความร่วมมือจะช่วยนำพาให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปสู่ความยั่งยืนได้ โดย ปตท.สผ. ได้มุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรเพื่อความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ปตท.สผ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรมากมาย เพื่อแสวงหาโอกาสในการต่อยอดเทคโนโลยี โดยเฉพาะโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) โดยได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ CCS ในพื้นที่ของประเทศไทย และยังร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อแสวงหาโอกาสในการประยุกต์ใช้ CCS ในรูปแบบ Hub Model เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย นอกจากนั้นสำหรับบริษัท เออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เพื่อพัฒนาระบบและแพลตฟอร์มการควบคุมอากาศยานไร้คนขับ อีกทั้งยังเดินหน้าร่วมมือเป็นพันธมิตรกับอีซีไรซ์ (Easy Rice) ซึ่งเป็นบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในด้านเกษตรกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย และยังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากแหล่งต่าง ๆ ที่จะสามารถเชื่อมโยงกับบริการประกันสุขภาพด้วย

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อมุ่งมั่นสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมวงกว้าง อาทิ ความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พร้อมกับหน่วยงานราชการ และมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ในดำเนินโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) รวมถึงการรวบรวมข้อมูลวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ไกลฝั่งบริเวณหน่วยปฏิบัติการของ ปตท.สผ. โดยบริษัทฯ ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล (PTTEP Ocean Data Platform) ขึ้น ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ในการเก็บรวบรวม แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลจากโครงการต่าง ๆ ของ ปตท.สผ. เพื่อให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์พิทักษ์ท้องทะเลเพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศและสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับกรมประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล เพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งอ่าวไทย และความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท เออาร์วี ในการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าในการเพิ่มพื้นที่การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมผ่านกลไกการมีส่วนร่วมกับชุมชนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อร่วมสนับสนุนประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608

ความภาคภูมิใจของเรา

ปตท.สผ. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับบริบทการดำเนินงานของบริษัทฯ รวมถึงมุมมองและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องการให้ภาคธุรกิจช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและองค์การสหประชาติ ด้วยความมุ่งมั่นดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินงานของ ปตท.สผ. เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยในปี 2565 ปตท.สผ. ได้รับรางวัล Sustainability Awards of Honor จาก SET Awards 2022 เนื่องจากสามารถรักษาระดับรางวัล Best Sustainability Awards ได้อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 รางวัลธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ประจำปี 2565 จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในระดับโดดเด่นซึ่งเป็นรางวัลสูงสุด รางวัลองค์กรโปร่งใสจากสำนักคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประเภทองค์กรรัฐวิสาหกิจ จากกรมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และรางวัล The International CSR Excellence Awards จาก The Green Organization นอกจากนี้บริษัทฯ มีแนวทางที่จะวัดผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการประเมินโดย ESG Raters ต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ FTSE4Good, Sustainalytics, MSCI, Vigeo Eiris หรือ Moody’s ESG, S&P Global, SET Awards เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานในเชิงรุกของบริษัทฯ ต่อไป

สำหรับปี 2565 นี้ เพื่อเป็นการสะท้อนเป้าหมายการมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ปตท.สผ. ได้มีการจัดทำเล่มรายงานความยั่งยืนรวมถึงรายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ในรูปแบบดิจิทัล โดยไม่มีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตในวิถีใหม่ด้วย

ผมเชื่อว่าโลกนี้จะดีขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของเราทุกคน ผมขอขอบคุณพลังความร่วมมือของผู้บริหารและพนักงานทุกคน (One Team One Goal) รวมถึงแรงสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากผู้ถือหุ้น พันธมิตรทางธุรกิจ คู่ค้า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สังคมและชุมชน ที่ร่วมผสานกำลังเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของบริษัทฯ ตามแนวทางความยั่งยืน เพื่อที่จะส่งมอบอนาคตที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป

เพราะโลกที่น่าอยู่จะเกิดขึ้นได้ด้วยพลังของพวกเราทุกคน