Menu

ความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

ความสำคัญและความมุ่งมั่น

ปตท.สผ. ยึดถือความปลอดภัยเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุตามเป้าหมายสถิติอุบัติเหตุที่เป็นศูนย์ (Target Zero) โดยมีการปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัยในเชิงรุกและให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยทั้งในกระบวนการผลิต (Process Safety) และความปลอดภัยของบุคคล (Personal Safety) ที่ครอบคลุมทั้งบุคลากรและผู้รับเหมาทั้งหมด โดยใช้ระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (Safety, Security, Health and Environment Management System) ที่สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทและเทียบเคียงกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยฯ ในระดับสากล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกคนที่ร่วมงานกับบริษัทจะสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุร้ายแรงและผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสิ่งแวดล้อม

วิสัยทัศน์ พันธกิจด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

วิสัยทัศน์

องค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ

พันธกิจ

  • เป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุด้วยระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของบุคลากร และความปลอดภัยในกระบวนการผลิต
  • สร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยฯ ในระดับสูงสุด โดยสร้างความเข้าใจและผลักดันภาวะผู้นำด้านความปลอดภัยฯ ให้แก่บุคลากรทุกคนในองค์กร
  • ตระหนักถึงด้านความปลอดภัยฯ เป็นพื้นฐานที่จำเป็นควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างคุณค่าในระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย

เป้าหมายสำคัญ

  1. สถิติอุบัติเหตุเป็นศูนย์ (Target Zero)
  2. ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยทั้งของบุคลากร (Personal Safety) ที่ครอบคลุมทั้งบุคลากรและผู้รับเหมาทั้งหมด และความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety)
แนวทางการบริหารจัดการความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมclose | open

นโยบาย ความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

ปตท.สผ. ยึดถือความปลอดภัย ความมั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น เพื่อให้บรรลุและคงไว้ซึ่งความเป็นเลิศในการปฏิบัติงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปตท.สผ. ได้กำหนดให้มีระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ และยึดถือปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยและสุขภาพของบุคลากรทุกคน รวมถึงชุมชนรอบพื้นที่ปฏิบัติงาน ปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความมั่นคงปลอดภัยของบุคลากรและทรัพย์สิน

ปตท.สผ. มีนโยบายเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของการเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ ดังนี้

  • มุ่งมั่นที่จะสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ ในระดับสูงสุด โดยเน้นภาวะผู้นำด้านความปลอดภัยฯ และการมีส่วนร่วมของพนักงานและผู้รับเหมาทุกคน
  • กำหนดวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด เป้าหมายและแผนงานด้านความปลอดภัยฯ เพื่อการพัฒนาการจัดการด้าน ความปลอดภัยฯ อย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมายของการมีผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ในระดับชั้นนำ โดยผู้บังคับบัญชาตามสายงานมีภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้น
  • ปฏิบัติงานภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากลอย่างเคร่งครัด
  • บริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยฯ ให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่สามารถปฏิบัติได้ ตลอดวัฏจักรของธุรกิจ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินงาน
  • ส่งเสริมการสร้างระบบการจัดการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ และเข้มงวดเรื่องการปฏิบัติงานโดยปราศจากสารเสพติดและแอลกอฮอล์ในสถานที่ปฏิบัติงาน
  • ลดการดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับหลักการของแนวทางสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน และการสร้างคุณค่าเชิงบวกด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ
  • ปกป้องพนักงานและองค์กรจากการระบาดของโรคติดต่อ ภัยพิบัติ ภัยคุกคาม และช่องโหว่ด้านความมั่นคงปลอดภัย ผ่านกระบวนการจัดการเหตุการณ์ฉุกเฉิน เหตุการณ์วิกฤติ และความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ
  • ให้อำนาจทุกคนในองค์กรใช้สิทธิในการหยุดปฏิบัติงานภายใต้สภาวะที่ไม่ปลอดภัย
  • มุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการด้านความปลอดภัยฯ อย่างต่อเนื่อง ผ่านการฝึกอบรม โปรแกรมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และการปรับปรุงพัฒนาระบบและเครื่องมือที่เกี่ยวข้องด้วยเทคโนโลยี

ทั้งนี้ เพื่อให้การนำนโยบายความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ไปใช้ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด บุคลากรของ ปตท.สผ. ตั้งแต่ระดับผู้บริหารสูงสุดจนถึงระดับพนักงานในพื้นที่ปฏิบัติการ รวมทั้งผู้รับเหมาทุกคนต้องมีความมุ่งมั่นร่วมกันและมีสติในทุกครั้งที่ลงมือปฏิบัติงาน

*นโยบาย ความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของ ปตท.สผ. ผ่านการพิจารณาประจำปีโดยคณะกรรมการความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม และได้รับการอนุมัติจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการบริษัท

ระบบการบริหารจัดการความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

ระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของ ปตท.สผ. เป็นการเชื่อมโยงนโยบายด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ของบริษัทเข้าด้วยกัน เพื่อควบคุมความเสี่ยงของการเกิดอันตรายจากกิจกรรมภายในองค์กร โดยเน้นการจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เกิดความปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการทำงาน รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของบริษัท ยังได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามแนวทางของสมาคมผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซนานาชาติ (International Association of Oil and Gas Producers - IOGP) และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอื่น ๆ อาทิ ISO 14001:2015 ระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม และ ISO 45001:2018 ระบบมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของ ปตท.สผ. ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบหลัก ได้แก่



องค์ประกอบรายละเอียด
1. ภาวะผู้นำ และความมุ่งมั่น
(Leadership and Commitment)
ความมุ่งมั่นของผู้บริหารในทุกระดับ และวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ ของคนในองค์กร
2. นโยบาย และวัตถุประสงค์
(Policy and Strategic Objective)
กลยุทธ์ เป้าหมาย และนโยบายด้านความปลอดภัยฯ
3. ทรัพยากรของบริษัท และระบบงานเอกสาร
(Organization Resource and Documentation)
การจัดองค์กร การจัดสรรทรัพยากรในการบริหาร และระบบเอกสารในด้านความปลอดภัยฯ
4. การประเมิน และการบริหารจัดการความเสี่ยง
(Evaluation and Risk Management)
การประเมิน และบริหารจัดการความเสี่ยงจากกิจกรรมต่าง ๆ
5. การวางแผน และควบคุมการดำเนินงาน
(Planning and Operational Control)
การวางแผนการดำเนินงาน รวมทั้งการบริหารการเปลี่ยนแปลง และการเตรียมความพร้อมและตอบสนองในกรณีฉุกเฉิน
6. การลงมือปฏิบัติ และวัดผล
(Implementation and Monitoring)
การลงมือปฏิบัติตามแผนและขั้นตอนต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ รวมถึงการวัดผลการดำเนินงานตามดัชนีชี้วัดต่าง ๆ
7. การตรวจสอบ และทบทวนผลการดำเนินงาน
(Audit and Review)
การประเมินผลและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ด้านความปลอดภัยฯ เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข

บริษัทยังได้จัดให้มีแผนการตรวจติดตามภายใน ซึ่งเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติตามระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ โดยในปี 2565 มีการตรวจติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ในระดับองค์กรจำนวน 55 ครั้ง ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 100 ของกิจกรรมสำรวจและผลิตทั้งหมดของบริษัท

นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดให้มีการตรวจประเมินโดยหน่วยงานภายนอกเพื่อให้การรับรองตามมาตรฐานสากลต่าง ๆ เช่น ISO 14001:2015 และ ISO 45001:2018 ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัท ทั้งนี้ในปี 2565 ปตท.สผ. ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการบริหารจัดการ ดังนี้

ISO 14001:2015 ระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
  • ภายในประเทศ: สำนักงานใหญ่, โครงการอาทิตย์ โครงการบงกช (บงกชเหนือและบงกชใต้) โครงการเอส 1 โครงการพีทีทีอีพี 1 และโครงการสินภูฮ่อม
  • ต่างประเทศ: โครงการซอติก้า ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และโครงการในประเทศมาเลเซีย (ในพื้นที่รัฐซาบาห์และรัฐซาราวัก)
  • ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม: จังหวัดสงขลา และจังหวัดระนอง
ISO 45001:2018 ระบบการบริหารจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย
  • ภายในประเทศ: สำนักงานใหญ่ โครงการอาทิตย์ โครงการบงกช (บงกชเหนือ และบงกชใต้) โครงการเอส 1 โครงการพีทีทีอีพี 1 และโครงการสินภูฮ่อม
  • ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม: จังหวัดสงขลา และจังหวัดระนอง

การพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยฯ ปตท.สผ. ริเริ่มโครงการพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ ขององค์กรตั้งแต่ปี 2554 โดยอ้างอิงตามรูปแบบวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยฯ ขององค์กรผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซนานาชาติ (IOGP) ซึ่งแบ่งระดับวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ ออกเป็น 5 ระดับ คือ Pathological, Reactive, Calculative, Proactive และ Generative

ผลการสำรวจระดับวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยฯ ขององค์กรครั้งแรกในปี 2554 ปตท.สผ. อยู่ในระดับ 3.31 (ระดับ Calculative) จากนั้นได้มีการนำผลสำรวจดังกล่าว มาจัดทำแผนเพื่อปรับปรุงวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยฯ ให้ดีขึ้น และทำการสำรวจซ้ำทุก 3 ปี โดยผลสำรวจระดับวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ มีระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องขึ้นและเข้าสู่ระดับ Proactive ในปี 2560 ด้วยคะแนน 4.16 จากคะแนนเต็ม 5

จากการสำรวจระดับวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ ในปี 2563 ระดับวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ ขององค์กรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.36 ซึ่งผลการสำรวจในทุก ๆ ระดับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานทั่วไปมีค่าที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพนักงาน ปตท.สผ. ในทุกระดับได้ให้ความสำคัญและมีความเข้าใจในการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยฯ ทั่วทั้งองค์กร และในปี 2563 นี้ ปตท.สผ. ยังได้ริเริ่มให้ผู้รับเหมาที่อยู่ภายใต้สัญญาการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยฯ โดยตรง (Mode 1) เข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจระดับวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ ขององค์กรเป็นครั้งแรกอีกด้วย

บริษัทได้จัดทำแผน 3 ปี ในการปรับปรุง และพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ ขององค์กร (2021-2023 SSHE Culture Improvement Plan) เพื่อปรับปรุงวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ ขององค์กร และมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ ขององค์กรในทุกพื้นที่มีการพัฒนา และองค์กรบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ โดยจะมีการสำรวจเพื่อประเมินผลอีกครั้งในปี 2566

อย่างไรก็ดี ในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายการนำเทคนิคการปรับปรุง และพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ ขององค์กร มาใช้กับผู้รับเหมาที่อยู่ภายใต้สัญญาการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยฯ ร่วมกัน (Mode 2) ที่่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงสูง ดังที่อธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของคู่ค้าและผู้รับเหมา

การปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัย

วัฒนธรรมความปลอดภัยถูกปลูกฝังอยู่ในทุกการดำเนินงานของ ปตท.สผ. เพื่อช่วยในการปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย และบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม จำนวนของการเกิดอุบัติเหตุ และอุบัติการณ์ก็ยังคงเกิดขึ้น บริษัทจึงพยายามอย่างไม่ลดละที่จะเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยภายในองค์กร โดยมุ่งเน้นที่การดูแลความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และการแสดงความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านความปลอดภัย รวมถึงส่งเสริม และพัฒนาเครื่องมือสำหรับโครงการความเป็นผู้นำด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม โดยโครงการได้ขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั้งในส่วนของพนักงาน และผู้รับเหมา ผ่านการจัดอบรมในปีที่ผ่านมา และการปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัยที่แข็งแกร่งนั้นต้องเริ่มจากผู้ปฏิบัติงานที่มีศักยภาพ บริษัทจึงมีการกำหนดความจำเป็นในการฝึกอบรม (Training needs) ทางด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของพนักงาน และผู้รับเหมา เพื่อให้ความรู้ และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่าง ๆ ในการทำงานแก่บุคลากร โดยบริษัทได้จัดให้มีการฝึกอบรม และทักษะที่จำเป็นตามเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงานเรื่อง การกำหนดการฝึกอบรมและความสามารถที่จำเป็นด้านความปลอดภัยฯ (SSHE Training and Competency Standard) ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงานจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย และมีความรู้ความสามารถในการป้องกันอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคที่เกิดจากการทำงาน ในปี 2565 บริษัทได้จัดอบรมให้พนักงาน และผู้รับเหมาในหัวข้อต่าง ๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • หลักสูตรเสริมสร้างวัฒนธรรม และความเป็นผู้นำความปลอดภัย
  • หลักสูตรการประเมินความเสี่ยง และการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย
  • หลักสูตรการบริหารจัดการความปลอดภัยในงานผู้รับเหมา
  • หลักสูตรการสืบสวน และวิเคราะห์สาเหตุอุบัติเหตุเบื้องต้น
  • หลักสูตรความปลอดภัยในงานยก
  • หลักสูตรระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต
  • หลักสูตรสำหรับทีมบริหารเหตุการณ์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ บริษัทได้พัฒนาเครื่องมือสำหรับการส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยในองค์กร เช่น การสังเกตงาน และการสื่อสารเพื่อความปลอดภัย (Safety Observation & Communication Card - SOC) การรายงานสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Hazard Reporting Card - HRC) และโปรแกรมตรวจสอบการควบคุมการปฏิบัติงาน (Operational Control Verification Program) เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้เน้นการส่งเสริมให้ทำงานอย่างปลอดภัย และเพิ่มการสังเกตตรวจจับพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดหรือลดความเสี่ยงในที่ทำงาน และบริษัทยังได้ส่งเสริมอย่างเต็มที่ให้พนักงาน และผู้รับเหมาทุกคนมีอำนาจในการหยุดงานเมื่อพบเห็นสภาพแวดล้อมในการทำงานหรือพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้

การบริหารการจัดการภาวะฉุกเฉินและวิกฤตการณ์

ปตท.สผ. ตระหนักดีว่าธุรกิจการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมเป็นธุรกิจที่ต้องใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสูง จึงพัฒนาแผนการบริหารการจัดการภาวะฉุกเฉินและวิกฤตการณ์ภายใต้ข้อกำหนดของระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ปตท.สผ. ได้จัดทำการวิเคราะห์ และประเมินภัยอันตรายต่าง ๆ รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ในพื้นที่ปฏิบัติงานภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ซึ่งทำให้ทราบถึงความเสี่ยง และสามารถกำหนดแนวทางป้องกัน และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และสภาวะวิกฤตโดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงการปกป้องชีวิต สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สิน และชื่อเสียงขององค์กร ทั้งนี้ แผนงานการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินและสภาวะวิกฤตของแต่ละพื้นที่และศูนย์สนับสนุนหลักของส่วนกลางจะดำเนินการฝึกซ้อมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ โดยผลการดำเนินงานและข้อแนะนำจากการฝึกซ้อมนี้จะถูกส่งต่อไปยังหน่วยปฏิบัติงานของแต่ละพื้นที่และส่วนกลางเพื่อปรับปรุงแผนงานและความสามารถของบุคลากรอย่างต่อเนื่องสำหรับการจัดการกับสภาวะฉุกเฉินในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความปลอดภัยของบุคลากร

ปตท.สผ. เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า อุบัติเหตุสามารถป้องกันได้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสถิติอุบัติเหตุที่เป็นศูนย์ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวได้ถูกสื่อสาร และเน้นย้ำตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงาน และผู้รับเหมาทุกระดับ เราจึงเน้นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยใน ทุก ๆ ขั้นตอนการทำงาน มีการกำหนดนโยบายและระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในระดับสากล เพื่อจัดการกับความเสี่ยงในการทำงาน และให้มั่นใจได้ว่าทุกคนที่ร่วมงานกับบริษัทจะสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย

ภาพรวมของสถิติอุบัติเหตุที่มีการบาดเจ็บจนถึงขั้นหยุดงาน และสถิติอุบัติเหตุการรั่วไหลจากกระบวนการผลิต และหลุมเจาะมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และดีกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำระดับโลกซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซนานาชาติ (International Association of Oil & Gas Producers หรือ IOGP)

จากอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในปีที่ผ่านมา บริษัทได้เพิ่มการกำกับดูแลความปลอดภัยที่หน้างาน และจัดให้มีการฝึกอบรมตลอดจนการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดรัดกุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำ (รายละเอียดจำนวนอุบัติเหตุต่อบุคคลปรากฏใน ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัย)

จากการวิเคราะห์อุบัติเหตุพบว่าสาเหตุหลักยังคงเกี่ยวข้องกับปัจจัยมนุษย์ (Human factor) การประเมินความเสี่ยง และขาดการสื่อสารถึงอันตรายในการทำงานให้แก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างเพียงพอ ปตท.สผ. ได้ทำการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อหาวิธีในการควบคุม และลดจำนวนอุบัติเหตุที่เกิด ให้กลับมาอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทางบริษัทยังคงเข้มงวดต่อมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง และมีแผนบริหารจัดการความปลอดภัยต่าง ๆ โดยยังคงเน้นย้ำในเรื่องความเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยของผู้ควบคุมหน้างานให้หัวหน้างานสามารถจัดการอันตรายและความเสี่ยง สื่อสารถ่ายทอดข้อมูล รวมทั้งควบคุมดูแลหน้างานให้ปลอดภัย และให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานและผู้รับเหมา จะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย

ความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง

บริษัทได้กำหนดเป้าหมายด้านความปลอดภัยในด้านอุบัติเหตุทางยานยนต์ และอุบัติเหตุทางเรือ ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติภัยร้ายแรง ทุกกิจกรรมการเดินทาง และการขนส่งภายใต้การดำเนินงานของบริษัทได้รับการส่งเสริมเพื่อสร้างความตระหนักในการป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยของยานพาหนะและเรือเดินสมุทรของทั้งบริษัทและผู้รับเหมา ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2565 มีอุบัติเหตุทางยานยนต์ 1 ครั้ง บริษัทจึงกลับมาทบทวนมาตรการความปลอดภัย ในสถานที่ฝึกอบรมอย่างจริงจัง ทั้งของบริษัท และของหน่วยงานฝึกอบรมภายนอกที่บริษัทใช้บริการอยู่ ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาจากผลการประเมินพบว่ามีความเสี่ยงในระดับต่ำมากก็ตาม ในส่วนของการขนส่งทางเรือ บริษัทยังคงสามารถรักษาสถิติ ไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรง ได้อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน (รายละเอียดจำนวนอุบัติเหตุของการเดินทางและขนส่งปรากฏใน ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัย)

ความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของคู่ค้า และผู้รับเหมา

ปตท.สผ. ยังคงปรับปรุงระบบการจัดการความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของคู่ค้า และผู้รับเหมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้า และผู้รับเหมาทุกคนจะทำงาน และกลับบ้านอย่างปลอดภัย ในทุก ๆ ปีที่ผ่านมาบริษัทยังร่วมมือกับคู่ค้าและผู้รับเหมาจัดการประชุมคู่ค้าประจำปี (SSHE Forum) โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการร่วมกันแสดงความมุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดีด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2565 ทางบริษัทยังคงใช้รูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุข ทั้งนี้การประชุมกลุ่มย่อยยังคงมีการดำเนินงานโดยหน่วยงานที่ถือสัญญากับผู้รับเหมาโดยตรง เพื่อเจาะจงเนื้อหาการประชุมให้ตรงกับลักษณะกิจกรรมของผู้รับเหมาแต่ละกลุ่มผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน บริษัทยังคงมีการให้รางวัลผลงานความปลอดภัยยอดเยี่ยมแก่ผู้รับเหมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการชื่นชม และส่งเสริมให้ผู้รับเหมาปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย

สำหรับผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงสูง ปตท.สผ. ได้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ได้กวดขันผู้ดูแลสัญญาให้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยฯ ของพนักงานผู้รับเหมาให้มากขึ้น และทำการตรวจสอบ และตรวจทานการบริหารจัดการทางด้านความปลอดภัยฯเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ในปีที่ผ่านมา บริษัทยังได้นำเทคนิคการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยมาใช้กับผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงสูง โดยได้เริ่มให้ผู้รับเหมาทำการสำรวจวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กรของพนักงานผู้รับเหมาเอง เพื่อนำไปจัดทำแผนในการปรับปรุง และพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยฯ ขององค์กรผู้รับเหมา เสริมสร้างให้วัฒนธรรมความปลอดภัยของผู้รับเหมาแข็งแรงขึ้น ให้สอดคล้องไปในทางเดียวกับ ปตท.สผ.

นอกจากนี้ บริษัทยังให้แนวทางการจัดการประเมินความเสี่ยงทางด้านสุขภาพแก่บริษัทผู้รับเหมาเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยง และทำให้การทำงานอยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับบริษัท และนำผลการประเมินความเสี่ยงนั้นไปสื่อสารแก่ผู้เกี่ยวข้อง และจัดทำแผนงานเพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อันจะเป็นการยกระดับการดูแลสุขภาพของผู้รับเหมาและพนักงานให้ดีขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่นำมาพิจารณาประกอบด้วย สิ่งคุกคามสุขภาพทางกายภาพ สิ่งคุกคามสุขภาพทางชีวภาพ สิ่งคุกคามสุขภาพทางเคมี สิ่งคุกคามทางการยศาสตร์ และสิ่งคุกคามสุขภาพทางจิตวิทยา

ความปลอดภัยในกระบวนการผลิตclose | open

ปตท.สผ. มีพันธกิจในการนำก๊าซและน้ำมันจากใต้ดินมาเป็นพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในประเทศ และในกระบวนการผลิต หากมีการรั่วไหลของก๊าซและน้ำมันเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงต่อชีวิต สิ่งแวดล้อม และทรัพย์สินได้ ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงผนวกระบบการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety) เข้าในระบบการทำงานต่าง ๆ เพื่อป้องกัน และจัดการกับอุบัติเหตุร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยแนวคิดของระบบการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิตนั้นอ้างอิงจากหน่วยงาน Energy Institute ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดสากลด้านการบริหารความปลอดภัยกระบวนการผลิต และตั้งอยู่บน 4 หลักการดังนี้

  • มุ่งมั่น และจริงจังในการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต
  • ทำความเข้าใจถึงอันตราย และความเสี่ยงในกระบวนการผลิต
  • บริหารจัดการอันตรายเหล่านั้นให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้อย่างสมเหตุสมผล
  • เรียนรู้ และปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา

กระบวนการเหล่านี้ได้ถูกนำมาผสานเข้ากับกระบวนการทำงานต่าง ๆ ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าอุปกรณ์การผลิต และหลุมเจาะมีความมั่นคงปลอดภัยในทุกด้าน ได้แก่

  • ด้านการออกแบบและก่อสร้าง โดยทำการวิเคราะห์หาอันตราย รวมถึงจัดให้มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสมและตามมาตรฐานการออกแบบสากล
  • ด้านการตรวจสอบบำรุงรักษา โดยจัดให้มีการตรวจซ่อมบำรุงอุปกรณ์การผลิตให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
  • ด้านการปฏิบัติการ โดยมีการปฏิบัติตามคู่มือการผลิต และควบคุมการผลิตให้อยู่ในขอบเขตความสามารถของอุปกรณ์การผลิต
  • ด้านหลุมเจาะ โดยจัดให้มีการดำเนินการทั้งด้านการออกแบบ ก่อสร้าง ซ่อมบำรุง และปฏิบัติการที่เหมาะสม

บริษัทกำหนดให้มาตรการในด้านต่าง ๆ ดังกล่าวนี้เป็น "เกราะป้องกัน" (Barrier) ในการป้องกันและบรรเทาอุบัติเหตุร้ายแรง และจัดให้มีการรายงานและตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ และเน้นย้ำความรับผิดชอบส่วนบุคคลต่อความปลอดภัยในกระบวนการผลิตผ่านการดำเนินงานตามแผนงาน "My Barrier" หากเกราะป้องกันเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการบริหารที่เหมาะสม นอกจากนี้ ปตท.สผ. มีการรายงาน และวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุการรั่วไหล (Leak) จากกระบวนการผลิตเพื่อหาสาเหตุ และวางแผนงานป้องกัน ซึ่งในปี 2565 ปตท.สผ. ได้มุ่งเน้นปรับปรุงกระบวนการทำงานในเรื่องดังต่อไปนี้

  • การตรวจสอบคุณภาพในการก่อสร้าง เช่น การตรวจสอบคุณภาพของวัสดุก่อสร้าง การตรวจคุณสมบัติผู้รับเหมาที่ทำงานในกระบวนการสำคัญ เช่น การเชื่อมโลหะ
  • การออกแบบ และเลือกวัสดุการก่อสร้างให้เหมาะสมกับลักษณะของปิโตรเลียม และสิ่งเจือปนในแต่ละพื้นที่
  • จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการทางเทคนิคในแต่ละแหล่งการผลิตเพื่อติดตามผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิต และความคืบหน้าของแผนการป้องกันการรั่วไหลของแหล่งผลิตนั้น ๆ
  • การบังคับใช้กฎความปลอดภัยในกระบวนการผลิต 9 ประการ (ตระหนักรู้ถึงอันตราย, ปฏิบัติตามขั้นตอน, รักษาเกราะป้องกัน, อยู่ในช่วงเวลาการทำงานที่ปลอดภัย, ตัดแยกอุปกรณ์อย่างปลอดภัย, เดินตรวจสอบความปลอดภัย, รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น, หยุดเมื่อสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้น, ค้นหาและใส่ใจสัญญาณเตือน) โดยอ้างอิงมาจาก Process Safety Fundamentals ของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (International Association of Oil & Gas Producers – IOGP)
การจัดการด้านความมั่นคงclose | open

ปตท.สผ. ได้จัดทำการวิเคราะห์ภัยคุกคาม และประเมินความเสี่ยงด้านความมั่นคง (Security Risk and Threat Analysis and Assessment) ในพื้นที่ปฏิบัติงานภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ซึ่งทำให้ทราบถึงความเสี่ยง และสามารถกำหนดมาตรการและแนวทางป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเพียงพอ และเหมาะสม รวมถึงกำหนดให้มีการทบทวน ตรวจสอบทั้งการบริหารจัดการ และมาตรการทางกายภาพอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้ทำการเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านความมั่นคงในทุก ๆ พื้นที่ปฏิบัติงานทั้งใน และต่างประเทศเพื่อให้สามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที

สุขภาพและอาชีวอนามัยclose | open

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่พนักงานมีสุขภาพดีทั้งใจและกาย ทีมแพทย์ และอาชีวอนามัยของบริษัทได้ดำเนินการรวบรวมผลตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงานบริษัทไว้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ และประเมินปัญหาทางด้านสุขภาพของพนักงาน โดยพนักงานสามารถตรวจสอบ และเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยตนเองผ่านทางระบบอินทราเน็ตของบริษัท ฐานข้อมูลสุขภาพดังกล่าวถือเป็นข้อมูลหลักในการวางแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้เหมาะสมกับพนักงานทั้งรายบุคคล และในภาพรวมของบริษัท นอกจากนี้ ทีมแพทย์และอาชีวอนามัยของบริษัทยังได้ดำเนินการประเมินผลความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการทำงาน ซึ่งผลการประเมินจะช่วยในการวางแผนและปรับปรุงโปรแกรมการตรวจสุขภาพให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับงานที่พนักงานได้รับมอบหมาย เป็นการวางแผนการป้องกันดูแลปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่ง ปตท.สผ. ได้กำหนดเป้าหมายอัตราการเจ็บป่วยจากการทำงาน (TROIF) ซึ่งรวมถึงปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่นำไปสู่การเสียชีวิต (FAT) การบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงาน (LTI) การถูกจำกัดลักษณะการทำงาน (RWDC) และกรณีการรักษาทางการแพทย์ (MTC) ครอบคลุมกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัท ทั้งในส่วนของสำนักงานใหญ่ รวมไปถึงพื้นที่ปฏิบัติการของ ปตท.สผ. ทั้งบนฝั่งและนอกชายฝั่ง ทั้งนี้ยังครอบคลุมไปถึงพนักงานและผู้รับเหมาของ ปตท.สผ. โดยมีการติดตามความก้าวหน้าตามเป้าหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

โดยทีมแพทย์และอาชีวอนามัยของบริษัทมีหน้าที่หลักในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และอาชีวอนามัยแก่พนักงาน และผู้รับเหมาทุกคน รวมถึงพัฒนามาตรฐานระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัย ขั้นตอนการปฏิบัติ รวมทั้งแนวทางในการส่งเสริมสถานที่ทำงานที่ถูกสุขลักษณะ และปลอดภัยต่อสุขภาพ เช่น โครงการตรวจ และให้คำปรึกษาด้านการยศาสตร์ (Ergonomic Checkup and Consultation) และให้ความรู้ทางด้านสุขภาพ และอาชีวอนามัยให้กับพนักงานและผู้รับเหมาเป็นประจำทุกปี (รายละเอียดหลักสูตรและจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมปรากฏใน ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัย)

ทั้งนี้ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น และมีการกลับมาใช้ชีวิตกันอย่างปกติ โดยในพื้นที่ปฏิบัติงานของ ปตท.สผ. สำนักงานใหญ่ ในกรุงเทพมหานคร ได้ให้พนักงานกลับเข้าปฏิบัติงานปกติในรูปแบบ Hybrid Workplace สำหรับพื้นที่ปฏิบัติการทั้งบนบกและนอกชายฝั่งได้กลับสู่การปฏิบัติงานแบบปกติตามแผนงานที่ได้วางไว้ อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. ยังคงมีการเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโรคประจำถิ่นและโรคอุบัติใหม่ และแนะนำให้พนักงานและผู้รับเหมามีการรับวัคซีนป้องกันโรคตามคำแนะนำของสาธารณสุข อาทิ โรคโควิด 19 โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมclose | open

ปตท.สผ. มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยปฏิบัติตามนโยบายด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ผนวกรวมความมุ่งมั่นในการปกป้องสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกำหนดให้บุคลากรของบริษัท ผู้ร่วมทุน และผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานในนามของบริษัทปฏิบัติตามนโยบายนี้ ซึ่งรายละเอียดโดยสรุปของการจัดการสิ่งแวดล้อมของ ปตท. สผ. แสดงในเว็บไซต์บริษัท หัวข้อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น

  • การจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และการบริการทางระบบนิเวศ
  • การจัดการการรั่วไหล
  • การจัดการของเสีย
  • การจัดการทรัพยากรน้ำ