Menu

การบริหารจัดการของเสีย

กลยุทธ์และเป้าหมายการบริหารจัดการของเสีย

บริษัทมีการบริหารจัดการของเสียที่เกิดจากกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทตามข้อกำหนดและกฎหมายของประเทศที่บริษัทเข้าไปดำเนินการ ซึ่งเป็นไปตามหลักการจัดการของเสียตามลำดับขั้น โดยให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงการเกิดของเสียที่แหล่งกำเนิด โดยการไม่ทำให้เกิดของเสีย (Remove) และลดปริมาณการเกิดของเสีย (Reduce) เป็นลำดับแรก จากนั้นจึงมุ่งเน้นการพัฒนาสู่การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการนำวัสดุมีค่าหรือพลังงานกลับคืน (Recover) ซึ่งทำให้เกิดการนำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยการออกแบบกระบวนการทำงานและการบริหารจัดการในทุก ๆ กิจกรรมหรือในพื้นที่ปฏิบัติการตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และพิจารณาวิธีการบำบัดเพื่อลดความเป็นอันตราย (Treat) และการกำจัดของเสีย (Dispose) เป็นลำดับสุดท้าย ทั้งนี้ บริษัทกำหนดกลยุทธ์ การปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Circular Model for E&P) และเป้าหมายระยะยาว เพื่อให้มีการดำเนินงานเป็นไปตามหลักการจัดการของเสีย

เป้าหมายสำคัญ

บริษัทได้กำหนดเป้าหมายการบริหารจัดการของเสียครอบคลุมในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 เป้าหมาย ได้แก่

  1. นำโครงสร้างหลักของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาใช้ใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยยังคงสภาพการทำงานที่เหมาะสม ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ภายใน ปี 2573
  2. ปราศจากของเสียที่กำจัดโดยวิธีฝังกลบจากพื้นที่ปฏิบัติการภายในประเทศภายใน ปี 2568 และจากพื้นที่ปฏิบัติการทั้งหมดภายใน ปี 2573

การบริหารจัดการของเสีย

เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามหลักการจัดการของเสียข้างต้น และเป็นการเพิ่มทางเลือกที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการของเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้เป็นไปตามเป้าหมายและเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการของเสียของบริษัทให้มีมาตรฐานสูงกว่าข้อกำหนดทางกฎหมาย บริษัทได้ปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการของเสียให้มีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศึกษาค้นคว้าเพื่อเปลี่ยนของเสียให้มีมูลค่าเพิ่ม โดย ปตท.สผ. มีแนวทางในการดำเนินงาน 2 แนวทาง ดังนี้

  1. นำโครงสร้างหลักมาใช้ใหม่ (Main Structure Reuse): มุ่งเน้นการนำแท่นหลุมผลิตนอกชายฝั่งกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งรวมถึงส่วนบนแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม (Topside) และขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม (Jacket) รวมถึงการนำอุปกรณ์หลักสำคัญ (Main Equipment) ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่อีกด้วย
  2. การบริหารจัดการของเสียจากการปฏิบัติการและเพิ่มมูลค่าของเสีย (Operational Waste Management and Upcycling High Volume Waste): สำหรับการเพิ่มมูลค่าของเสียจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม บริษัทดำเนินงานผ่านโครงการริเริ่มที่สำคัญ เช่น โครงการกระบวนการผลิตผงนาโนคาร์บอนจากก๊าซส่วนเกินในกระบวนการผลิตปิโตรเลียม โครงการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นคาร์บอเนต โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการบ่มเพื่อกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในปะการังเทียม โครงการนำเศษดินเศษหินจากกิจกรรมการเจาะหลุมปิโตรเลียมมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างหรืองานถนน และโครงการผลิตแกรฟีนจากกากตะกอนน้ำมัน การนำของเสียไปกำจัดด้วยวิธีการเผาเพื่อเอาพลังงานความร้อนไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า การเปลี่ยนของเสียเป็นเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย และการเปลี่ยนของเสียประเภทเศษอาหารที่สามารถย่อยสลายได้ให้เป็นปุ๋ย เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทบรรลุเป้าหมายการปราศจากการฝังกลบของเสียอันตรายสำหรับพื้นที่ดำเนินงานในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 และเตรียมการสู่การบรรลุเป้าหมายการปราศจากการฝังกลบของเสียทั้งหมดในทุกพื้นที่ดำเนินงานภายในปี 2573 รวมถึงบริษัทยังจัดให้มีการตรวจประเมินระบบการบริหารจัดการของเสียภายในพื้นที่โครงการของบริษัท รวมถึงบริษัทผู้รับบำบัดและกำจัดของเสียอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินงานที่สอดคล้องตามกฎหมายและข้อกำหนดของบริษัท และยังเป็นการช่วยให้บริษัทผู้รับเหมาปรับปรุงพื้นที่และกระบวนการในการจัดการของเสียให้ถูกต้องและเหมาะสมด้วย