ภาพรวมธุรกิจ



ปตท.สผ. มีการดำเนินธุรกิจสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม มากกว่า 50 โครงการ ในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง รวมทั้ง พื้นที่ที่มีศักยภาพด้านปิโตรเลียมและโอกาสในการลงทุน

ในประเทศไทย ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ในแหล่งปิโตรเลียมสำคัญ ๆ ของประเทศ เช่น โครงการจี 1/61 โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 และยังมีโครงการที่เป็นการร่วมทุนอีกหลายโครงการทั้งบนบกและในอ่าวไทย

สำหรับโครงการในต่างประเทศ ปตท.สผ. มีการลงทุนและเป็นผู้ดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ในหลายประเทศ โดยโครงการหลัก ๆ ที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการ เช่น โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ซึ่งเป็นโครงการผลิตน้ำมันดิบที่สำคัญของ ปตท.สผ. ในทวีปแอฟริกา และโครงการมาเลเซีย แปลง เอช ซึ่งเป็นโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติที่สำคัญในประเทศมาเลเซีย สำหรับโครงการที่อยู่ในระยะสำรวจ เช่น โครงการมาเลเซีย เอสเค410บี ซึ่งได้สำรวจพบแหล่งลัง เลอบาห์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ ปตท.สผ. เคยสำรวจพบ ส่วนโครงการร่วมลงทุนอื่น ๆ  เช่น โครงการโอมาน แปลง 61 เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่มีปริมาณสำรองขนาดใหญ่และมีความสำคัญต่อตลาดก๊าซฯ ในประเทศโอมาน โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ซึ่งมีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ และโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งเป็นโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied National Gas) ขนาดใหญ่ในทวีปแอฟริกา

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมีการร่วมลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียมขั้นกลาง (Midstream Business) เช่น โอมาน แอลเอ็นจี (Oman LNG หรือ OLNG)  ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในประเทศโอมาน และโรงแยกก๊าซธรรมชาติแอดนอค (ADNOC Gas Processing หรือ AGP) ซึ่งเป็นกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติบนบกขนาดใหญ่ที่สุดของรัฐอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อส่งเสริมธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วย

นอกเหนือจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแล้ว ปตท.สผ. ยังได้ขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ของอนาคต นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ และเสริมสร้างการเติบโตในอนาคต  รวมทั้ง ช่วยส่งเสริมการดำเนินงานให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วย เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ภาคเกษตรกรรม ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดย ปตท.สผ. ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าว เช่น บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) และบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FTEV) รวมทั้ง การลงทุนธุรกิจในรูปแบบ Corporate Venture Capital เช่น บริษัท เอ็กซ์พลอร์ เวนเจอร์ส จำกัด (Xplor Ventures) เพื่อเข้าลงทุนในบริษัท Startup ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ

ขณะเดียวกัน ปตท.สผ. กำลังศึกษาและพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ในประเทศไทยและในต่างประเทศ เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมอื่น ๆ  โดยได้เริ่มการพัฒนาโครงการ CCS เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่แหล่งอาทิตย์ ในอ่าวไทย รวมทั้ง กำลังศึกษาการดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) ด้วยการนำคาร์บอนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น  เมทานอล เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสนใจในการพัฒนาแหล่งพลังงานแห่งอนาคต เช่น พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Business) เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ สำหรับอนาคต โดยในเดือนมิถุนายน 2566 FTEV ได้เข้าร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ในประเทศโอมาน โดยมีเป้าหมายที่จะเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573