เทคโนโลยีและนวัตกรรมของเรา
การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี และองค์ความรู้
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม นับเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร และช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ปตท.สผ. จึงมุ่งสร้างสรรค์และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้น เพื่อผลักดันการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ที่ล้ำสมัย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมไปถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความยั่งยืน
ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ของ ปตท.สผ.
ศูนย์วิจัยเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. (PTTEP Subsurface Research Center หรือ PSRC)
ศูนย์วิจัยเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. หรือ PSRC จัดตั้งขึ้นด้วยพันธกิจหลักในการสนับสนุนการวิจัยด้านธรณีวิทยา เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยได้รับการพัฒนาจากศูนย์วิจัยตัวอย่างหิน (PTTEP Core Research Center หรือ PCRC) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มีห้องปฏิบัติการวิจัย ซึ่งมีอุปกรณ์วิเคราะห์ที่ทันสมัย และสนับสนุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทุกขั้นตอน ได้แก่ การวิจัยเพื่อการสำรวจและประเมินแหล่งปิโตรเลียม การวิจัยเพื่อการเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมัน รวมทั้งการวิจัยเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS
ภายใน PSRC ยังมีการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ Sight Center ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดปิโตรเลียม การสำรวจด้านธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ การขุดเจาะเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งมีสวนที่จัดแสดงชั้นหินจำลองและตัวอย่างหินหลากหลายชนิดทางธรณีวิทยาจากทั่วประเทศ หรือ GeoTerrace อาคารเก็บตัวอย่างหิน ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บตัวอย่างหินที่ได้จากการขุดเจาะหลุมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในโครงการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ กว่า 1 ล้านตัวอย่าง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์แหล่งปิโตรเลียม ศูนย์วิจัยเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. ยังเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา และองค์กรต่าง ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมไปถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTTEP Technology and Innovation Center หรือ PTIC)
ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC ตั้งอยู่ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เป็นสถานที่สำหรับการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยี สู่การนำไปใช้งานจริงในนอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด การพัฒนาสารเคมีและวัสดุขั้นสูงในระดับห้องปฏิบัติการ และการพัฒนาต้นแบบด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี และผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ภายในศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. ประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่ทันสมัย อาทิ ห้องทดลองและปฏิบัติการ ห้องผลิตชิ้นงานด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ อาคารทดสอบต้นแบบ (Pilot Area Building) สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ (UAV Test Field) ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ สนามทดลองเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Green Energy Technology Playground) เพื่อศึกษา ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น การผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด และการผลิตพลังงาน รููปแบบใหม่ เช่น เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจน เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานที่ทันสมัย ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดจะถูกควบคุมโดยระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะ PTIC มีความพร้อมในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานในระบบนิเวศนวัตกรรม EECi เพื่อร่วมกันผลักดันนวัตกรรมแห่งอนาคต
ศูนย์เร่งการพัฒนาเทคโนโลยี ปตท.สผ. (PTTEP Rapid Scale-up Center หรือ RASC)
ศูนย์เร่งการพัฒนาเทคโนโลยี ปตท.สผ. หรือ RASC ตั้งอยู่ในพื้นที่่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการทดสอบเทคโนโลยีก่อนที่จะนำไปทดลองใช้งานจริง รองรับการทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตปิโตรเลียม รวมทั้ง ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการผลิตพลังงานสะอาดในอนาคต
RASC ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ เช่น อาคารสำนักงาน อาคารสำหรับการทำงานด้านวิศวกรรม ห้องปฏิบัติการทดลอง กระบวนการสำหรับการทดสอบที่่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติเหลว ระบบท่อจำลองสำหรับทดสอบการทำงานของเทคโนโลยีสำหรับการตรวจสอบท่อส่งปิโตรเลียมและดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต แผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับการทดสอบเทคโนโลยีอื่น ๆ เพิ่มเติม
นวัตกรรม เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์
การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและดูแลรักษาอุปกรณ์ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียม (Technologies for Improving Petroleum Production and Equipment Maintenance Efficiency)
ปตท.สผ. มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการแยกสิ่งที่ไม่ต้องการออกจากก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการทำงานแทนมนุษย์ในการควบคุมการผลิตและตรวจจับความผิดปกติของอุปกรณ์บนแท่นผลิตปิโตรเลียม การพัฒนาวิธีการเคลือบอุปกรณ์ด้วยวัสดุคล้ายเพชรเพื่อเพิ่มความทนทานต่อการกัดกร่อน การพัฒนาสารเคมีและอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและตรวจสอบการกัดกร่อนในท่อส่งปิโตรเลียม เป็นต้น
การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับสนับสนุนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในแหล่งผลิตปิโตรเลียม (Technologies for Supporting Petroleum Facilities Decommissioning)
ปตท.สผ. มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในแหล่งผลิตปิโตรเลียม เช่น MERIns ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเก็บตัวอย่างผิวท่อส่งปิโตรเลียมอัจฉริยะ ที่ ปตท.สผ. พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการรื้อถอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย ปตท.สผ. ได้ริเริ่มพัฒนา MERIns มาตั้งแต่ปี 2560 ด้วยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ได้พัฒนาสารเคมีสำหรับการล้างท่อปิโตรเลียม (MERClean) เพื่อใช้งานร่วมกับ MERIns ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาวิธีการปิดและสละหลุม ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการดำเนินการรื้อถอนท่อส่งปิโตรเลียม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
เทคโนโลยีการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหินแร่เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปะการังเทียม (SEACURE: Artificial reefs for carbon sequestration)
ปตท.สผ. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นแคลเซียมคาร์บอเนต หรือ หินแร่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปะการังเทียม หรือวัสดุซีเมนต์อื่น ๆ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตอย่างรวดเร็วเพื่อฝังในคอนกรีต ช่วยให้วัสดุคอนกรีตปะการังเทียมมีความแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้อีกด้วย
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ (AI and Robotics)
ปตท.สผ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Technology) ในการสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดตั้ง “บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด” หรือ เออาร์วี ขึ้น เพื่อพัฒนาและให้บริการด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม หุ่นยนต์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ เช่น
เทคโนโลยีหุ่นยนต์ปฏิบัติการอากาศยาน (Aerial Robotics Ecosystem)
เช่น “Horrus” ระบบโดรนที่ทำงานอัตโนมัติเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทยสำหรับการสำรวจและตรวจสอบ รวมไปถึงระบบปฏิบัติการที่ใช้ประกอบกับโดรนตรวจสอบอากาศยาน เช่น “Skyller Platform” และ “ARV Platform” ที่ออกแบบมาเพื่อการตรวจสอบและการดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปจากวิธีการที่เราเคยสำรวจ ตรวจสอบ และบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
เทคโนโลยีหุ่นยนต์ปฏิบัติการภาคพื้น (Ground Robotics Ecosystem)
“OURANOS” คือหุ่นยนต์ล้ำสมัยที่ปฏิบัติการบริเวณแหล่งก๊าซ สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย มีแขนหุ่นยนต์และระบบ AI ที่ทันสมัย สามารถจัดการงานต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบประจำวัน การลาดตระเวน และงานอื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอันตราย
“LAIKA-S” คือหุ่นยนต์สำรวจสี่ขาที่มีความสามารถหลากหลาย ติดตั้งเซนเซอร์หลายรูปแบบ และสามารถเคลื่อนที่ได้ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อการสำรวจและตรวจสอบ จึงช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ปฏิบัติงาน
เทคโนโลยีหุ่นยนต์สำรวจและซ่อมบำรุงใต้น้ำ (Subsea Robotics Ecosystem)
เช่น “XPLORER” ยานยนต์ตรวจสอบท่อใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย สามารถตรวจสอบอุปกรณ์ใต้น้ำได้โดยอัตโนมัติ เช่น ขาตั้งแท่น ท่อใต้ทะเล
“XGATEWAY” เรือยนต์ไร้คนขับ มีคุณสมบัติในการทำแผนที่ใต้น้ำอัตโนมัติ รวมถึง รองรับการทำงานหลายรูปแบบเพื่อการปฏิบัติงานนอกชายฝั่ง
“XSPECTOR” ระบบบริหารจัดการข้อมูลสำหรับงานตรวจสอบใต้น้ำแบบเรียลไทม์ผ่าน Web Application
Smart Solutions Platforms
นวัตกรรมการลดคาร์บอนด้วยโซลูชัน ได้แก่ Smart Forest Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว (Green Area Management platform) สำหรับตรวจจับจุดความร้อน การตัดไม้ทำลายป่า การเติบโตของต้นไม้ ประเมินเครดิตคาร์บอน และการจัดการชุมชนท้องถิ่น, ป่าไม้แห่งอนาคต (Forest of Tomorrow) ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่ช่วยเชื่อมโยงผู้ขายและผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงจากธรรมชาติ และการปลูกป่าด้วยโดรน (Drone Plantation) โดรนซึ่งช่วยสำรวจพื้นที่ป่าและปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก
นอกจากนี้ยังมี Smart City Platform: BEDROCK ซึ่งได้พัฒนาข้อมูลเมืองเพื่อใช้ในการพัฒนาเมืองเพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็น Smart City เช่น แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform) ศูนย์บัญชาการด้านข้อมูลกลางของท้องถิ่นที่รวบรวม จัดเก็บ จัดการข้อมูลด้านต่าง ๆ เพื่อใช้วางแผน บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาเมืองที่มีความซับซ้อนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน