ปตท.สผ. ดำเนินธุรกิจทั้งการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม และธุรกิจพลังงานสะอาด รวมทั้งพลังงานรูปแบบใหม่แห่งอนาคต โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ปตท.สผ. มีการดำเนินธุรกิจสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม มากกว่า 50 โครงการ ในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก โดยให้ความสำคัญต่อการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง รวมทั้งพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านปิโตรเลียมและโอกาสในการลงทุน

ในประเทศไทย ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ในแหล่งปิโตรเลียมสำคัญ ๆ ของประเทศ เช่น โครงการจี 1/61 โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 และยังมีโครงการที่เป็นการร่วมทุนอีกหลายโครงการทั้งบนบกและในอ่าวไทย

สำหรับโครงการในต่างประเทศ ปตท.สผ. มีการลงทุนและเป็นผู้ดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ในหลายประเทศ โดยโครงการหลัก ๆ ที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการ เช่น โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ซึ่งเป็นโครงการผลิตน้ำมันดิบที่สำคัญของ ปตท.สผ. ในทวีปแอฟริกา และโครงการมาเลเซีย แปลง เอช ซึ่งเป็นโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศมาเลเซีย สำหรับโครงการที่อยู่ในระยะพัฒนา เช่น โครงการมาเลเซีย เอสเค410บี ซึ่งได้สำรวจพบแหล่งลัง เลอบาห์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ ปตท.สผ. เคยสำรวจพบ ส่วนโครงการร่วมลงทุนอื่น ๆ เช่น โครงการโอมาน แปลง 61 เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่มีปริมาณสำรองขนาดใหญ่และมีความสำคัญต่อตลาดก๊าซฯ ในประเทศโอมาน โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ซึ่งมีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ และโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งเป็นโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas) ขนาดใหญ่ในทวีปแอฟริกา

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมีการร่วมลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียมขั้นกลาง (Midstream Business) เช่น โอมาน แอลเอ็นจี (Oman LNG หรือ OLNG) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในประเทศโอมาน และโรงแยกก๊าซธรรมชาติแอดนอค (ADNOC Gas Processing หรือ AGP) ซึ่งเป็นกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติบนบกขนาดใหญ่ที่สุดของรัฐอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อส่งเสริมธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วย

นอกเหนือจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแล้ว ปตท.สผ. ยังได้ขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและพลังงานรูปแบบใหม่ของอนาคต เช่น พลังงานลมนอกชายฝั่ง (Offshore wind farm) ที่สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่ประเทศโอมาน นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต รวมทั้ง ช่วยส่งเสริมการดำเนินงานให้แก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วย เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ภาคเกษตรกรรม ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดย ปตท.สผ. ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าว เช่น บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) และ บริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FTEV) รวมทั้งการลงทุนธุรกิจในรูปแบบ Corporate Venture Capital เช่น บริษัท เอ็กซ์พลอร์ เวนเจอร์ส จำกัด (Xplor Ventures) เพื่อเข้าลงทุนในบริษัท Startup ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ

ขณะเดียวกัน ปตท.สผ. กำลังศึกษาและพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมอื่น ๆ  โดยได้เริ่มการพัฒนาโครงการ CCS เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่แหล่งอาทิตย์ ในอ่าวไทย รวมทั้งกำลังศึกษาการดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) ด้วยการนำคาร์บอนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น เมทานอล เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสนใจในการพัฒนาแหล่งพลังงานแห่งอนาคต เช่น พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Business) เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ สำหรับอนาคต โดยในเดือนมิถุนายน 2566 FTEV ได้เข้าร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ในประเทศโอมาน โดยมีเป้าหมายที่จะเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573

โครงการลงทุนของเรา


สปอตไลต์

GoT Model องค์ความรู้เฉพาะทางของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย
GoT Model หรือ Gulf of Thailand Model คือองค์ความรู้เฉพาะด้านซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์จากการสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรปิโตรเลียมจากแหล่งขนาดเล็กขึ้นมาใช้ประโยชน์ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ ซึ่งลักษณะทางธรณีวิทยาในอ่าวไทย จะมีรอยเลื่อนของชั้นหิน (Fault) ค่อนข้างมาก จึงทำให้โครงสร้างชั้นหินที่มีปิโตรเลียมถูกตัดแบ่งกลายเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมขนาดเล็ก กระจายตัวอยู่ใต้ชั้นหิน อีกทั้ง ใต้ดินของอ่าวไทยยังมีอุณหภูมิสูงมากเมื่อเทียบกับบริเวณอื่นของโลก และยังมีแรงดันไม่คงที่ เงื่อนไขเหล่านี้ ทำให้การเจาะหลุมมีความยากและซับซ้อน จึงกลายเป็นความท้าทายในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแห่งหนึ่งของโลก
GoT Model เป็นต้นแบบที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการสำรวจและพัฒนาแหล่งก๊าซฯ ในพื้นที่อื่น ๆ ของโลกที่มีลักษณะทางด้านธรณีวิทยาคล้ายกัน เพื่อนำทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งเป็นแหล่งขนาดเล็กขึ้นมาใช้ประโยชน์ต่อไป
การค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติครั้งประวัติศาสตร์ของเรา
นอกจากการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในหลาย ๆ แหล่งแล้ว ในปี 2564 ปตท.สผ. ได้ค้นพบก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ที่สุดและมีปริมาณมากที่สุดเท่าที่บริษัทเคยสำรวจพบที่แหล่งลัง เลอบาห์ (Lang Lebah) ในโครงการซาราวัก เอสเค410บี นอกชายฝั่งประเทศมาเลเซีย โดยเบื้องต้นพบว่ามีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 5–6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ
Green Hydrogen พลังงานแห่งอนาคต
กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) เป็นพลังงานสะอาดซึ่งเกิดจากการนำพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงแดด หรือพลังงานลม มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยการแยกองค์ประกอบทางเคมีของน้ำ เพื่อให้ได้ไฮโดรเจน โดยในกระบวนการผลิตจะไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้น จึงไม่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ปตท.สผ. โดยบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FTEV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ร่วมมือกับ 5 บริษัทชั้นนำของโลก ชนะการประมูลการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในรัฐสุลต่านโอมาน ในแปลงสัมปทาน Z1–02 โดยตั้งเป้าหมายเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573 นับเป็นก้าวสำคัญของ ปตท.สผ. ในการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ
การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS)
การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2564 ปตท.สผ. ได้ริเริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ในอ่าวไทย รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ที่แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค410บี ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับบริษัทภายในกลุ่ม ปตท. ทำการศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ในพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. บริเวณจังหวัดระยองและชลบุรี (Eastern Thailand CCS Hub) และร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ CCS ในบริเวณอื่น ๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศด้วย​
โครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบกขนาดใหญ่ในทวีปแอฟริกา
ปตท.สผ. ได้ร่วมลงทุนในโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบกแห่งแรกของโมซัมบิก และยังเป็นโครงการก๊าซธรรมชาติเหลวขนาดใหญ่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวในปี 2571 จากแหล่งโกลฟินโญ–อาตุม โดยในเฟสแรกมีกำลังการผลิตรวม 13.1 ล้านตันต่อปี
พื้นที่สัมปทานกาชา

ในปี 2567 ปตท.สผ. เข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 10 ในพื้นที่สัมปทานกาชา (Ghasha Concession) หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณนอกชายฝั่งอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) การเข้าร่วมลงทุนครั้งนี้เป็นการขยายฐานการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งส่งเสริมทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลก เพื่อพัฒนาและผลักดันโครงการให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

แปลงสัมปทานกาชาตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1 โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 และโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 3 ซึ่ง ปตท.สผ. มีการร่วมทุนอยู่แล้ว จึงเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการโครงการร่วมกัน โดยคาดว่า แปลงสัมปทานกาชา จะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้มากกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2573 พร้อมมีแผนการดำเนินงานในการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี (MMtpa) เพื่อให้เป็นโครงการผลิตก๊าซฯ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์