Menu

การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศ

กลยุทธ์และเป้าหมายการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศ

บริษัทมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และได้พิจารณาผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศทั้งหมดรวมอยู่ในกระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ โดยเน้นการส่งเสริมผลกระทบเชิงบวกต่อความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศในพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินงาน ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว บริษัทจึงได้กำหนดเป้าหมาย ซึ่งผ่านการอนุมัติโดยคณะกรรมการจัดการและคณะกรรมการบริษัท ดังนี้

  • ไม่ดำเนินงานในพื้นที่มรดกโลกตามเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO)
  • ไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียสุทธิ (No-Net Loss) ต่อความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่คุ้มครองประเภท 1-4 ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature – IUCN) ภายในปี 2587
  • การสร้างมูลค่าเชิงบวก (Net Positive Impact) ต่อความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศทางทะเล (Ocean Biodiversity & Ecosystem Services (BES) Value) ในพื้นที่ปฏิบัติการนอกชายฝั่งในประเทศไทยภายในปี 2568 และพื้นที่ปฏิบัติการนอกชายฝั่งทั้งหมดภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับมูลค่าในปีฐาน 2562
  • ไม่ตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่า*สำหรับโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

*พื้นที่ป่า ตามคำนิยามขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO – Food and Agriculture Organization of the United Nations) หมายถึง ป่าธรรมชาติและป่าปลูกที่มีพื้นที่มากกว่า 0.5 เฮกแตร์ และพื้นที่ทรงพุ่มปกคลุมมากกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ โดยเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้หนาแน่นหรือขาดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งต้นไม้ควรมีความสูงไม่ต่ำกว่า 5 เมตร

ความมุ่งมั่นของบริษัทครอบคลุมถึงความคาดหวังต่อคู่ค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม (Tier 1 & Non-tier 1 Suppliers) รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ ในการมีส่วนร่วมในการปกป้องและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของ ปตท.สผ. ที่ได้ประกาศไว้

เพื่อให้การดำเนินงานตามเป้าหมายเรื่องการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศ (Biodiversity and Ecosystem Services Management Guideline) ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาแผนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (A Guide to Developing Biodiversity Action Plans for the Oil and Gas Sector) ของ IPIECA และ Performance Standard 6: Biodiversity Conservation and Sustainable Management of Living Natural Resources ของ International Finance Corporation (IFC) และได้มีการนำไปปฏิบัติในทุกพื้นที่โครงการของบริษัทตั้งแต่ปี 2557 โดยในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศ บริษัทได้ยึดถือหลักการตามลำดับขั้นของการบรรเทาผลกระทบ (Mitigation Hierarchy) ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้:

  • ประเมินความเสี่ยงต่อความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศในแต่ละระยะโครงการ
  • พัฒนาแผนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในโครงการที่มีความเสี่ยงสูง
  • นำแผนปฏิบัติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Action Plan) ไปใช้ในการดำเนินงานของโครงการ
  • ตรวจติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศ
  • พัฒนาแผนชดเชยความหลากหลายทางชีวภาพตามลำดับความสำคัญในกรณีที่ยังมีผลกระทบเหลืออยู่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนั้น บริษัทยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เช่น

  • IPIECA-IOGP Biodiversity and Ecosystem Services Working Group (BESWG) และ UN Environment Programme World Conservation Monitoring Centre (UNEP-WCMC) ตั้งแต่ปี 2559 โดยมีความร่วมมือในรูปแบบการแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติที่ดี การให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกำหนด/กฎหมายที่เกี่ยวข้องการสนับสนุนโครงการสร้างผลกระทบเชิงบวก การพัฒนาศักยภาพและการอบรมบุคลากร รวมถึงความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียในการส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการของระบบนิเวศ
  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการลงนามข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรและความหลากหลายทางทะเลเพื่อความยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้สำหรับชุมชนใน 17 จังหวัดรอบพื้นที่อ่าวไทยที่บริษัทได้มีการดำเนินงาน เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 10 ปี (ปี 2563-2573)
  • สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในอ่าวไทย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หน่วยงานอนุมัติอนุญาตการจัดทำปะการังเทียม และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ในปี 2563-2564 เพื่อศึกษาและจัดทำแนวทางการจัดทำปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียมในอ่าวไทย
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเสริมสร้างความยั่งยืนของมหาสมุทร เพื่อร่วมมือครอบคลุมระยะเวลา 3 ปี (2564-2566) ในโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการประเด็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ และระดับสากล โดยเฉพาะในโครงการประเภทตรวจติดตามสุขภาพของมหาสมุทรและความหลากหลายทางชีวภาพ
  • กรมประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครอบคลุมระยะเวลา 3 ปี (2565-2568) เพื่อกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมอย่างเหมาะสมและเกิดความยั่งยืนต่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมง
  • สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับผู้ประกอบการปิโตรเลียม ได้แก่ ปตท.สผ. และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี (2566-2571) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านผลประโยชน์ของชาติทางทะเล แลกเปลี่ยนความรู้ ร่วมสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการศึกษาวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศในอ่าวไทย บริเวณรอบแท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งที่กำลังทยอยหมดอายุสัมปทาน เพื่อช่วยรักษาความหลากหลายชีวภาพทางทะเล
  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี (2566-2571) เกี่ยวกับความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในระดับพื้นที่ไปยังฐานข้อมูลของประเทศไทย ความร่วมมือดังกล่าวยังรวมถึงการสร้างความสมดุลให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนของประเทศ

การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศ

บริษัทได้บริหารจัดการความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศ โดยได้ผนวกไว้ในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทุกโครงการ รวมถึงจัดให้มีแผนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Action Plan - BAP) ในโครงการที่มีความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูง โดยแผนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการสูญเสียของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงป้องกันและฟื้นฟูการบริการทางระบบนิเวศที่อาจได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของบริษัท

ผลจากการทบทวนการประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศในปี 2564 พบว่า ไม่มีโครงการใดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูง อย่างไรก็ตาม บริษัทได้จัดทำแผนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพแบบสมัครใจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในระดับกลางจนเสร็จสมบูรณ์ และจัดการอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ ความเข้าใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานในโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ความเสี่ยงระดับกลาง

นอกจากนี้ บริษัทได้ประเมินระดับการพึ่งพา (Dependency) และระดับความเสี่ยง (Impacted-related Risks Assessments) ของการดำเนินงานใกล้เคียงกับพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Critical Biodiversity) โดยใช้เครื่องมือ Water and Biodiversity Risk ของ World Wide Fund for Nature (WWF)

ผลการประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศ รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นไปตามหลักการตามลำดับขั้นของการบรรเทาผลกระทบและแสดงไว้ใน "รายงานความก้าวหน้าและการประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการทางระบบนิเวศ"