Menu

ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life)

ปตท.สผ. เป็นองค์กรหนึ่งที่มีพื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่ในทะเล ซึ่งเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองที่ต้องช่วยกันดูแล รักษาและปกป้อง ปตท.สผ. จึงมีแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศ ทางทะเลอย่างยั่งยืน ที่เรียกว่า “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life) ด้วยการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การร่วมมือกับชุมชนซึ่งเป็นเหมือนเพื่อนบ้านของเรา ในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เสริมสร้างความสมดุลและความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล รวมทั้ง เพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนในบริเวณ 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย โดยได้ตั้งเป้าหมายดำเนินงานในระยะยาว (พ.ศ. 2563 – 2573) ไว้ 3 ด้าน ซึ่งกิจกรรมที่ ปตท.สผ. ดำเนินการนั้น หลายกิจกรรมประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความร่วมมือร่วมใจของชุมชน หน่วยงานราชการ และหน่วยงานท้องถิ่น รวมทั้ง สถาบันการศึกษา และบางกิจกรรมยังอยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย ดังนี้

สำรวจและผลิตเพื่อพิทักษ์อนุรักษ์ทะเล (Sustainable Ocean-Friendly Operations)

ปตท.สผ. ให้ความสำคัญในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดและเพื่อยกระดับแนวทางดังกล่าว จึงเริ่มศึกษาและนำนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินงาน อาทิ การนำยานขับเคลื่อนใต้น้ำแบบอัตโนมัติ (Autonomous Underwater Vehicle: AUV) มาใช้ในการตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ใต้น้ำ (Smart Underwater Inspection and Maintenance) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการนำน้ำจากกระบวนการผลิตกลับเข้าสู่แหล่งกักเก็บปิโตรเลียม (Produced Water Reinjection) ให้ได้ร้อยละ 100 ในพื้นที่ปฏิบัติการนอกชายฝั่งของประเทศไทย และขยายผลไปยังพื้นที่ผลิตอื่นๆ ในต่างประเทศ โดยดำเนินงานตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับกฎหมายและเหนือกว่าระดับของกฎหมายที่กำหนดไว้ในบางประเทศ รวมถึง การศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมต่อการจัดวางปะการังเทียมรูปแบบโครงสร้างเหล็ก (Rig to Reef) ร่วมกับการสำรวจความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ดำเนินการนอกชายฝั่งของ ปตท.สผ. เพื่อบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศบริเวณแท่นผลิตและสนับสนุนกระบวนการรื้อถอนสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ต่างๆ จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมเมื่อเลิกใช้งาน

ฟื้นฟูดูแลความสมบูรณ์ทางทะเลและบลูคาร์บอน (Sustainable Ocean Health and Blue Carbon Solutions)

ปตท.สผ. มุ่งหวังที่จะพัฒนาศักยภาพและความชำนาญจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ปฏิบัติการนอกชายฝั่งบริเวณทะเลอ่าวไทยมุ่งสู่เป้าหมายของการเป็นศูนย์ข้อมูลทางทะเลที่สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของบุคคลทั่วไปที่ต้องการมีส่วนร่วมในการปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางทะเลและนักวิจัยที่สนใจในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ โดยใช้พื้นที่ปฏิบัติการนอกชายฝั่งของ ปตท.สผ. เป็นจุดเริ่มต้น สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ มหาวิทยาลัยชั้นนำ องค์กรอิสระด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อริเริ่มการดำเนินการโครงการสนับสนุนการเก็บข้อมูลทางสมุทรศาสตร์ และการศึกษาวิจัยทางทะเลต่างๆ อาทิ โครงการศึกษาและวิเคราะห์ปริมาณไมโครพลาสติก (Micro-plastic Baseline Study) ครั้งแรกในอ่าวไทย โครงการฟื้นฟูข้อมูลทางสมุทรศาสตร์ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยและสร้างเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของโลก โครงการพัฒนาคลาวด์ แพลทฟอร์ม ในการติดตามความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ตลอดจนสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่า และฉลามวาฬ โดยเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของประเทศ โครงการพัฒนาการสำรวจระบบนิเวศและกิจการชายฝั่งด้วยการประยุกต์ใช้โดรนและเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของมหาสมุทร เป็นต้น

พลิกฟื้นคืนทะเล เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable Community around the Ocean)

มีหลายโครงการที่ ปตท.สผ. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ มาเป็นเวลาหลายปีจนถึงปัจจุบัน และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น
โครงการแหล่งเรียนรู้หลวงไทยใต้ทะเล (H.T.M.S.Underwater Learning Site Project) เป็นโครงการศึกษาและพัฒนาการนำเรือรบหลวงมาจัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนท้องถิ่น โดยวางเรือหลวงปราบ ที่เกาะง่ามน้อย จังหวัดชุมพร และเรือหลวงสัตกูด ที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นบ้านหลังใหม่ของปะการังและสัตว์น้ำ ช่วยลดผลกระทบที่มีต่อแนวปะการังธรรมชาติที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และยังเป็นแหล่งดำน้ำยอดนิยมเพื่อการศึกษาเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ทะเล นอกจากคืนความสมบูรณ์กลับสู่ท้องทะเลอย่างยั่งยืนได้สำเร็จแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย

โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ (Aquatic Animal Hatchery Learning Center) เป็นโครงการที่ขยายผลมาจากโครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู โดยร่วมกับส่วนราชการและชุมชน ขยายศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจเพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายพันธุ์สัตว์น้ำ รวมทั้ง ส่งเสริมการทำประมงเชิงอนุรักษ์สร้างจิตสำนึกให้กับชุมชนในพื้นที่ 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย และสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และวิถีประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ. ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจดังกล่าวแล้วในจังหวัดสงขลา ปัตตานี และนครศรีธรรมราช เป็นต้น โดยได้นำเทคโนโลยีเข้าไปเสริมกับการพัฒนาองค์ความรู้ของกลุ่มประมงพื้นบ้านอย่างเป็นรูปธรรม
โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล (Sea Turtle Conservation) ปตท.สผ. ดำเนินการร่วมกับศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ภายใต้การบริหารจัดการของ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยสนับสนุนการปรับปรุงอาคาร บ่ออนุบาล และโรงพยาบาลเต่าทะเลให้ทันสมัย ถูกสุขอนามัยตามหลักมาตรฐานสากล เหมาะสมต่อการอนุบาลและการรักษาพยาบาลเต่าทะเลก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ รวมทั้ง สนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ในการตรวจรักษาและผ่าตัดเต่าทะเลที่เจ็บป่วย การจัดทำส่วนนิทรรศการและสื่อการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณศูนย์อนุรักษ์ฯ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นอกจากนี้ มีแผนขยายการสนับสนุน ไปที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลเกาะมันใน จังหวัดระยอง และศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลทัพเรือภาคที่ 2 จังหวัดสงขลาด้วย

โครงการบริหารจัดการขยะทะเล (Ocean Waste Management) เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัด ผ่านการสร้างโมเดลบริหารจัดการขยะทะเล ตั้งแต่การป้องกันขยะลงสู่ทะเล การติดตั้งทุ่นดักขยะในลำคลอง การจัดกิจกรรมรณรงค์เก็บขยะริมชายหาดและในทะเล การสร้างความตระหนักรู้และสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ การลดปริมาณขยะในชีวิตประจำวัน รวมถึงการสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากขยะ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทดลองแปรรูปขยะพลาสติกเป็นวัสดุปูพื้น และการแปรรูปขยะและอุปกรณ์การประมงเก่าเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ตลอดจนการสร้างเครือข่ายชุมชนพิทักษ์ทะเล
โครงการปลูกป่าชายเลน (Mangrove Forestation) เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยมีแผนดำเนินการปลูกป่าจำนวน 45,000 ไร่ ซึ่งการปลูกป่าจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มชนิดพันธุ์สัตว์หน้าดิน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายราษฎรพิทักษ์ป่า รักษาสิ่งแวดล้อม
โครงการจัดทำแนวเขตอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลและบ้านปลา (Coastal Conservation Area and Fish Home) จัดทำทุ่นลอยแนวเขตอนุรักษ์ชายฝั่ง และสร้างบ้านปลา (ซั้ง) ในพื้นที่ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล เพื่อสร้างรายได้จากการทำการประมงให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

โครงการเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเล (Seafood Product Value Enhancement) สนับสนุนเครือข่ายชุมชนในโครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจในพื้นที่ 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย ก่อตั้งกลุ่มอาชีพผลิตและจำหน่ายอาหารทะเล สนับสนุนวัสดุและอุปกรณ์พื้นฐานในการผลิตสินค้า นำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปอบรมและช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลและอาหารทะเลแปรรูป และจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องตามความต้องการของตลาด เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน

ปตท.สผ. เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานตามแนวทาง “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life) นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนบริเวณชายฝั่ง แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล (Life below water) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนดัชนีสุขภาพของมหาสมุทร (Ocean Health Index) ของประเทศไทยและของโลกอีกด้วย

บนเส้นทางการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. นอกจากการแสวงหาพลังงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและเพื่อให้คนไทยมีพลังงานใช้อย่างต่อเนื่องแล้ว ความร่วมมือฉันท์พันธมิตรเพื่อสร้างคุณค่าร่วมและการเติบโตให้กับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ยังเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นที่ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญมาโดยตลอด



พบกับ PTTEP Ocean Data Platform แหล่งข้อมูลทางทะเลไกลฝั่งของประเทศไทย ซึ่ง ปตท.สผ. พัฒนาขึ้นจากโครงการศึกษาวิจัย และการดำเนินงานโครงการภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) ผ่านความร่วมมือจากพันธมิตร เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและต่อยอดการใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน