Menu

การจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

กลยุทธ์และเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธุรกิจของบริษัทในหลายด้าน ทั้งภาวะที่ความถี่ของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น นโยบายและกฎหมายข้อบังคับทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงแรงผลักดันในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

บริษัทได้ดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงและปรับตัวเพื่อรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดขึ้น และแสวงหาวิธีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางและเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Greenhouse Gas (GHG) Emissions ที่ได้ประกาศไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ปตท.สผ. จึงกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี 2593 ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครอบคลุม Scope 1 และ Scope 2 ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ และได้กำหนดเป้าหมายระหว่างทางในการลดปริมาณความเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในปี 2573 และร้อยละ 50 ภายในปี 2583 จากปีฐาน 2563

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ บริษัทได้ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการนำก๊าซเหลือทิ้งหรือก๊าซส่วนเกินกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือนำไปใช้ประโยชน์ การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการลดการรั่วไหลของก๊าซมีเทน บริษัทตระหนักว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการขยายธุรกิจขององค์กร ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. พัฒนาและกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing) ขึ้น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาการลงทุนของบริษัทโดยเฉพาะในโครงการที่อาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก นอกจากนี้ เพื่อให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทยังได้เน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปกักเก็บหรือนำไปใช้ประโยชน์ (Carbon Capture, Utilization & Storage - CCUS) ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัท ตัวอย่างของ CCU ที่บริษัทได้มีการศึกษาและพัฒนา เช่น การเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัสดุตั้งต้นในการผลิตท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotube) การเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทไซคลิกคาร์บอเนต (Carbon Dioxide Conversion to Cyclic Carbonate) เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังแสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยได้เปิดเผยผลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรายงานประจำปีและรายงานความยั่งยืนของบริษัท และยังได้เปิดเผยผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อ CDP ตั้งแต่ปี 2553 และได้รับการจัดอันดับอยู่ใน "ระดับผู้นำ" ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดเป็นเวลา 7 ปี ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2557 และ "ระดับการจัดการ" ในปี 2564 อันแสดงถึงความมุ่งมั่นและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน

ด้วยความมุ่งมั่นตามวิสัยทัศน์ในการเป็น "Energy Partner of Choice" บริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการลงนามรับรองความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศตามหลักการของ UN Global Compact's Guide for Responsible Corporate Engagement in Climate Policy รวมถึงองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) นอกจากนั้น บริษัทยังมองหาโอกาสในการลดหรือชดเชยการปล่อยคาร์บอนผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น การซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อสนับสนุนตลาดคาร์บอนเครดิตของ อบก. และนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดกิจกรรมภายในบริษัท การปลูกป่าเพื่อส่งเสริมการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเข้าร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme - LESS) ของ อบก. ด้วยการใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการของเสียโดยใช้หลัก 3Rs (Reduce Reuse และ Recycle) เป็นต้น

การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บริษัทได้นำกรอบแนวทางของ Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) มาใช้ในการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้แสดงความสอดคล้องดังกล่าวไว้ใน Mapping Index for TCFD Alignment และจัดให้ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในความเสี่ยงเกิดใหม่ (Emerging Risk) ของบริษัท โดยในปี 2564 บริษัทได้มีการประเมินความเสี่ยงเพื่อปรับปรุงให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการใหม่ กิจกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ และคู่ค้า รวมถึงให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดที่ได้ปรับปรุงใหม่ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย ความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risk) และความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) โดยความเสี่ยงทางกายภาพ คือ ความเสี่ยงจากผลกระทบทางตรง ได้แก่ ความเสี่ยงจากคลื่นความร้อน ฝนตกหนัก พายุหมุนเขตร้อน ภัยแล้ง และความเสี่ยงที่เกี่ยวกับน้ำ ส่วนความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน คือ ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย กฎเกณฑ์/กฎหมาย เทคโนโลยี ความต้องการพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และภาพลักษณ์องค์กร ทั้งนี้ การประเมินได้ครอบคลุมความเสี่ยงในระยะสั้น (2563 - 2568) ความเสี่ยงในระยะกลาง (2568 - 2578) และความเสี่ยงในระยะยาว (2578 - 2593)

ในการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพ บริษัทได้เลือกสถานการณ์ (Scenario) ในการประเมินไว้ 3 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับที่โลกมีการใช้มาตรการที่เข้มงวดที่สุด (Aggressive Mitigation) หรือ Representative Concentration Pathways หรือ RCP 2.6 2) ระดับที่โลกใช้มาตรการที่เข้มแข็ง (Strong Mitigation) หรือ RCP 4.5 และ 3) ระดับที่โลกดำเนินการไปตามปกติ (Business-As-Usual - BAU) หรือ RCP 8.5 ซึ่งอ้างอิงตามการประเมินผลกระทบโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) โดยผลการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพในภาพรวมของบริษัทในทุกสถานการณ์และทุกช่วงระยะเวลา อยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง

ส่วนการประเมินความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน บริษัทได้เลือกสถานการณ์ (Scenario) ในการประเมินไว้ 3 ระดับเช่นกัน ได้แก่ 1) Stated Policies Scenario (SPS) หรือเดิมที่รู้จักในชื่อ “New Policies Scenario (NPS)”, 2) Sustainable Development Scenario (SDS) และ 3) IPCC 1.5°C scenario ซึ่งสองสถานการณ์แรกอ้างอิงตามการประเมินผลกระทบโดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency - IEA) และสถานการณ์หลังอ้างอิงตามการประเมินผลกระทบโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผลการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพในภาพรวมของบริษัทในทุกสถานการณ์และทุกช่วงระยะเวลาอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลางเช่นกัน

จากการทบทวนปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อความเสี่ยงตลอดช่วงปี 2564 พบว่า ระดับความเสี่ยงของบริษัทยังคงอยู่ในระดับเดิม จึงทำให้บริษัทมั่นใจว่า การดำเนินงานของบริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายของโลกในการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส โดยบริษัทมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจมีผลกระทบต่อระดับความเสี่ยงของบริษัทอย่างใกล้ชิด อันมีผลจากการประชุม COP26 และการประกาศเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ปตท.สผ. ได้จัดทำแผนการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงทั้งทางกายภาพและการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยได้บูรณาการแผนงานในด้านการบรรเทาผลกระทบ การปรับตัว และการยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เข้าใจถึงระดับความอ่อนไหวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของบริษัท เพื่อจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมองหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจด้วยเช่นกัน