Menu

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

ความสำคัญและความมุ่งมั่น

ในธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ต้องดำเนินการได้ในทุกพื้นที่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิประเทศหรือสภาพอากาศแบบใด ปัจจัยความสำเร็จอย่างหนึ่งคือการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อน เพื่อทำการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์และบุคลากรไปยังสถานที่ปฏิบัติงานให้ทันเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมาย EP Net Zero 2050 ของบริษัท

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันผลกระทบต่อธุรกิจและชื่อเสียงขององค์กร แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ความโปร่งใส ตลอดจนสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่าง ปตท.สผ. กับคู่ค้า โดยการดำเนินงานภายใต้หลักการ คุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้ ครอบคลุมตั้งแต่การคัดเลือกผู้ค้าและคู่ค้า การบริหารจัดการความเสี่ยงของคู่ค้าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environment, Social, Governance – ESG) ตลอดจนการสานสัมพันธ์และยกระดับศักยภาพของคู่ค้า โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการบริหารจัดการในแต่ละขั้นตอนให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

เป้าหมายสำคัญ

1. การเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ

ปตท.สผ. มีความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (SSHE) ให้บรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ ซึ่งครอบคลุมการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง (Major Accident Event), การเกิดการรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี (Spill), การเกิดอุบัติเหตุจากการขนส่ง (Motor Vehicle Incident), การเกิดอุบัติเหตุในการเดินเรือ (Marine Vessel Incident) และการเกิดอุบัติเหตุที่มีการบาดเจ็บจากการทำงานทั้งหมด (Total Recordable Injury) จนถึงอุบัติเหตุที่มีการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงาน (Lost Time Injury) ทั้งนี้บริษัทมุ่งหวังให้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บและทุกคนกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก นโยบาย SSHE

2. การจัดหาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ปตท.สผ. ดำเนินกิจกรรมการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 โดยจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนาระบบขนส่งให้มีการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน เพื่อลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงซึ่งส่งผลต่อภาวะโลกร้อน

3. การจัดหาสินค้าและบริการระดับท้องถิ่น

ปตท.สผ. สนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นและสนับสนุนให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ การจ้างงานและสร้างรายได้ในระดับท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและได้รับการยอมรับจากประเทศที่ ปตท.สผ. เข้าไปดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทยังสนับสนุนให้คู่ค้าดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบและสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

4. การบริหารจัดการผู้ค้าและแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้า

ปตท.สผ. จัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรมตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญา ราคา คุณภาพ การจัดส่ง และด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (SSHE) ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้ผู้รับเหมาต้องปฏิบัติตามหลักการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคม

บริษัทเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ และเน้นถึงความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกผ่านนโยบายของบริษัทและกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact - IP) เพื่อเสริมสร้างนโยบายต่อต้านการทุจริตให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง (พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้าง) และกฎหมายต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC)

5. การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ

นโยบายบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเน้นการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่มีคุณภาพอย่างคุ้มค่าที่สุดในเวลาที่เหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัท หลักจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายทั้งหมด ปตท.สผ. ได้นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างมากขึ้น ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ปตท.สผ. จัดหาบริการหรือผลิตภัณฑ์บางรายการผ่านโครงการจัดซื้อจัดจ้างแบบบูรณาการของกลุ่ม ปตท. เพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์และความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานปิโตรเลียม เช่น อุปกรณ์ Air Filter for Gas Turbine, อะไหล่สำรอง Filter, อุปกรณ์ Turbine Compressor Maintenance, และกรมธรรม์ประกันชีวิตของพนักงานในกลุ่มบริษัท ปตท. เป็นต้น

แนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

กลุ่ม ปตท.สผ. ยึดนโยบายการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ในการดำเนินการ มุ่งเน้นให้มีการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลผู้ค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินงานขององค์กรซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจได้ รวมถึงเพื่อสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างระดับท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ที่ ปตท.สผ. ดำเนินการ

รูปแบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกลุ่ม ปตท.สผ.

รูปแบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของกลุ่ม ปตท.สผ. เป็นไปตามภาพด้านล่าง ที่แสดงถึงกิจกรรมหลักและบทบาทหน้าที่ ตลอดจนกระบวนการภายใต้การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท.สผ. อย่างครบวงจร

หลักการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของกลุ่ม ปตท.สผ.

หลักการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของกลุ่ม ปตท.สผ. ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ดังนี้

1. มาตรฐานงานซัพพลายเชน

จัดทำระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานซึ่งครอบคลุมการจัดทำนโยบาย มาตรฐาน และแนวทางในการปฏิบัติงาน รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านห่วงโซ่อุปทานสำหรับการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2. กลยุทธ์การจัดการซัพพลายเชน การจัดหาและสัญญา

จัดหาข้อมูลเชิงลึกและข้อมูลทางเทคนิคด้านการตลาดเพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนากลยุทธ์ของแต่ละกลุ่มงาน รวมถึงการบริหารจัดการคู่ค้าโดยทำหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ค้ารายใหม่เพื่อประเมินความสามารถในด้านต่าง ๆ และบริหารความสัมพันธ์ผ่านการประสานงานและความร่วมมือระหว่างบริษัทกับคู่ค้าหลักที่มีความสำคัญ เป็นต้น นอกจากนั้น หน่วยงานนี้ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในขั้นตอนการจัดหาและสัญญาที่ครอบคลุมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การหาแหล่งสินค้า การประมูล การต่อรองราคา การทำสัญญา และการออกใบสั่งซื้อสินค้า/บริการ รวมถึงการสนับสนุนการบริหารจัดการสัญญา การให้คำปรึกษาและคำแนะนำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดหาเพื่อให้การปฏิบัติงานจัดหาและสัญญาเป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้

3. โลจิสติกส์

รับผิดชอบงานด้านโลจิสติกส์ต่าง ๆ เช่น การขนส่งบุคลากรและสินค้า การนำเข้าส่งออกสินค้าและเดินพิธีการศุลกากร การกำจัดขยะ เป็นต้น ภายใต้ข้อกำหนดและการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลเพื่อความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการบริหารจัดการสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการลงทุน ค่าใช้จ่าย และความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน

4. ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม

ปตท.สผ. บริหารจัดการฐานปฏิบัติการส่งกำลังบำรุงในประเทศไทย 2 แห่ง เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน มีหน้าที่ให้บริการท่าเทียบเรือน้ำลึก การขนส่ง และการจัดเก็บสินค้า ตลอดจนการให้บริการในเชิงธุรกิจกับบริษัทที่ทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยฐานปฏิบัติการนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานในด้านต่าง ๆ เช่น ISO 14001, ISO22301, ISO 45001และ ISPS Code

กลยุทธ์การจัดหาและการทำสัญญา

กรอบการทำงานและแผนกลยุทธ์สำหรับการจัดหาและการทำสัญญา ดังรูปที่แสดงไว้ด้านล่างนี้ เป็นการกำหนดเป้าหมายระยะยาวในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท อีกทั้งยังเป็นกรอบในการวางแผนสำหรับการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้หน่วยงานจัดหาและสัญญาที่จะนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างยั่งยืน


PTTEP Procurement and Contract Strategy 2020 - 2024

โดย ปตท.สผ. มีการกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของผู้ค้า โดยมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องจริยธรรมธุรกิจ สิทธิมนุษยชน อาชีวอนามัย ความปลอดภัย และความคาดหวังด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งลดความเสี่ยงสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการทำสัญญาของ ปตท.สผ. โดย มีประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

การบริหารจัดการกลุ่มสินค้าและบริการเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

เพื่อให้มั่นใจการบริหารจัดการคู่ค้า ปตท.สผ. เป็นไปอย่างเหมาะสม ปตท.สผ.คู่ค้าจึงมีการจัดกลุ่มสินค้าและบริการโดยใช้เกณฑ์คู่ค้าคู่ค้าพิจารณา ดังต่อไปนี้

  1. ยอดการใช้จ่าย
  2. ความเสี่ยง (เช่น การจัดหาส่วนประกอบที่สำคัญ หรือ สินค้าและบริการที่มีคู่ค้าเพียงรายเดียว)

ปตท.สผ. มีการบริหารจัดการกลุ่มสินค้าและบริการ (Category Management) ตามเกณฑ์ที่กล่าวในข้างต้น มูลค่าและความเสี่ยงและมีการวิเคราะห์ตลาดและความต้องการภายในอยู่เสมอ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการจัดซื้อจัดจ้างให้มีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในด้านต้นทุน การจัดส่งที่ตรงเวลาและได้คุณภาพตรงตามมาตรฐาน โดยมีการพิจารณาความเสี่ยง 3 ด้านได้แก่ ความเสี่ยงในด้านการจัดหาสินค้าและบริการ (Supply Risk), ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการดำเนินธุรกิจ (ESG Risk) และความเสี่ยงทางด้านเทคนิค (Technical Risk) สำหรับการประเมินความเสี่ยงในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัท


การบริหารจัดการกลุ่มสินค้าและบริการ (Category Management)

ปตท.สผ. ระบุกลุ่มคู่ค้าสำคัญโดยทำการวิเคราะห์เพื่อจัดประเภทและจัดลำดับความสำคัญของประเภทสินค้าและบริการ จากนั้นจึงเลือกคู่ค้าสำคัญจากประเภทสินค้าและบริการที่มีความสำคัญสูงจากยอดการใช้จ่าย และความเสี่ยง (เช่น การจัดหาส่วนประกอบที่สำคัญ หรือสินค้าและบริการที่มีคู่ค้าเพียงรายเดียว) โดย ปตท.สผ.ใช้ Supplier Positioning Model (SPM) เป็นเครื่องมือในการระบุและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง "ความเสี่ยงจากการจัดหา" และ "ศักยภาพในการทำกำไร" ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

1. "ความเสี่ยง" จากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

ก. การพัฒนาอย่างยั่งยืนและความเสี่ยงทางเทคนิคระหว่างการปฏิบัติงาน รวมถึงคู่ค้าที่เป็นผู้จัดหาสินค้าและบริการที่สำคัญ ได้แก่

การพัฒนาอย่างยั่งยืนและความเสี่ยงทางเทคนิคที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน ความเสี่ยงจากผลกระทบด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และชื่อเสียงยังถูกนำมาพิจารณานอกเหนือจากความเสี่ยงทางเทคนิค เช่น ด้านการเงิน รูปแบบสินค้าและบริการ ความซับซ้อนในการผลิตและการบริการ และผลกระทบด้านกฎหมายและการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด โดยสัดส่วนของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความเสี่ยงทางเทคนิคคิดเป็นร้อยละ 50 ของความเสี่ยงทั้งหมด

ข. ความเสี่ยงจากการจัดหา หรือการไม่สามารถจัดหาสินค้าและบริการตามความต้องการได้

ความเสี่ยงในการจัดหาที่เกิดจากความเปราะบางของธุรกิจไปจนถึงความไม่แน่นอนของตลาดในระหว่างกระบวนการจัดหา เกณฑ์การพิจารณารวมถึงประสบการณ์ของบริษัทเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ประสิทธิภาพการจัดส่ง ระยะทางทางภูมิศาสตร์ ผู้ค้าที่มีศักยภาพ คู่ค้าที่ไม่สามารถทดแทนได้ และสภาพตลาดของสินค้าและบริการ โดยสัดส่วนของความเสี่ยงในการจัดหาคิดเป็นร้อยละ 50 ของความเสี่ยงทั้งหมด

2. "ศักยภาพในการทำกำไร" คือระดับของโอกาสที่มีอยู่สำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรของบริษัท โดยเกณฑ์การพิจารณาเพื่อกำหนดระดับศักยภาพในการทำกำไร ตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายประจำปีของบริษัท (การใช้จ่ายปริมาณมาก) และโอกาสในการทำรายได้ของคู่ค้า จำนวนคู่ค้า ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา ข้อกำหนดของสินค้าหรือบริการ สภาพตลาด

SPM แบ่งออกเป็น 4 หมวดหมู่ คือ Critical Vendor Bottleneck Leverage และ Routine โดยคู่ค้าที่สำคัญคือผู้ค้าที่มีศักยภาพในการทำกำไรสูง (มูลค่าการจัดซื้อต่อปีสูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์ สรอ.) มีความเสี่ยงด้านเทคนิคและการจัดหาสูง และถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Critical Vendor Bottleneck Leverage และ Routine ของแบบจำลอง SPM ในขณะที่คู่ค้าสำคัญที่มีความเสี่ยงสูงหรือสูงมากจะถูกจัดประเภทเป็นคู่ค้าที่มีความเสี่ยงสูงระดับ 1 และบริษัทยังกำหนดคู่ค้าที่ระดับ 2 คือ คู่ค้าของคู่ค้าสำคัญระดับ 1 ของ ปตท.สผ. (โดยคู่ค้าระดับ 2 จัดหาสินค้าและบริการทางตรงหรือทางอ้อมให้กับ ปตท.สผ.)

นอกจากนี้ มีการนำการบริหารจัดการกลุ่มสินค้าและบริการไปใช้ในการจัดกลุ่มคู่ค้าเพื่อบริหารความสัมพันธ์ (Supplier Relationship Management) และในการปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับประเภทของกลุ่มสินค้าและบริการด้วย (ข้อมูลตัวเลขการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละประเทศ จำนวนคู่ค้าทางตรงในประเทศไทยและมูลค่าการจัดซื้อรวม แสดงใน ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน)

การจัดหาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และมีการกำหนดแผนงานการจัดซื้อจัดจ้างที่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ ปตท.สผ. (PTTEP Green Procurement Roadmap) ซึ่งเริ่มจัดทำเกณฑ์การจัดซื้อสินค้าและจัดจ้าง บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับแต่ละกลุ่มงานตั้งแต่ปี 2560 ทำเรื่องโดยมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thai Environment Institute-TEI) รับหน้าที่ตรวจประเมินเกณฑ์ที่ได้จัดทำขึ้นตามแผนงานการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ ปตท.สผ. ปี 2559 - 2573 (ข้อมูลตัวเลขการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แสดงใน ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน)

การจัดหาสินค้าและบริการระดับท้องถิ่น

ปตท.สผ. สนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากคู่ค้าในระดับท้องถิ่น (ท้องถิ่นหมายถึง การจัดหาภายในประเทศที่ ปตท.สผ. ดำเนินงาน) เพื่อส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะคู่ค้าในระดับท้องถิ่นที่สามารถพัฒนาสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานและข้อกำหนดของ ปตท.สผ. ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสื่อสารวิธีการปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน รวมถึงความปลอดภัยต่าง ๆ ผ่านการประชุมรายงานความคืบหน้าการปฏิบัติงานของคู่ค้า (ข้อมูลตัวเลขการจัดหาสินค้าและบริการระดับท้องถิ่น แสดงใน ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน)

การบริหารจัดการผู้ค้าและแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้า

ปตท.สผ. มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน และผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมผ่านทางการกำกับดูแลผู้ค้า บริษัทได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้า (PTTEP Vendor Sustainable Code of Conduct) โดยพิจารณาเนื้อหาและขอบเขตให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนด ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ค้าของ ปตท.สผ. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติอย่างยั่งยืนดียิ่งขึ้นและมีการดำเนินงานอย่างมีจริยธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชน มีการดูแลอาชีวอนามัย ความปลอดภัยของลูกจ้าง และการให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดกลยุทธ์ในการสนับสนุน ให้คำแนะนำ และความรู้เกี่ยวกับนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น คู่มือสำหรับคู่ค้า ปตท.สผ., แบบสอบถามคุณสมบัติผู้ค้ารายใหม่, เอกสารการประมูล และเว็บไซต์ของ ปตท.สผ.

การจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีคุณภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้

ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประมูล โดยไม่เพียงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ค้าที่มีศักยภาพเข้าร่วมนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงต่อความต้องการของบริษัท แต่ยังสามารถช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการควบคุมและประเมินการทำงานของผู้ค้าเพื่อให้ตรงตามมาตรฐานและข้อตกลงตามสัญญา และสอดคล้องกับการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริต และมาตรฐานด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (Safety, Security, Health and Environment – SSHE) (ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประมูล แสดงใน ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน)

1. ประเด็นสำคัญในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน

1.1 การแข่งขันอย่างเป็นธรรม

ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยสนับสนุนให้มีการแข่งขัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส รวมถึงดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ รวมทั้งข้อกำหนดต่าง ๆ ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตใหม่ (Production Sharing Contract – PSC)

1.2 การประเมินคัดเลือกคู่ค้า

ปรับปรุงวิธีการประเมินคัดเลือกคู่ค้า โดยนำการประเมินแบบให้น้ำหนักด้านคุณภาพ-ราคามาใช้คัดเลือกคู่ค้า เพื่อให้ได้คู่ค้าที่มีคุณภาพด้วยราคาที่เหมาะสม ตามขั้นตอนการจัดซื้อที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract – PSC) ปตท.สผ. ยังต้องจัดทำแผนแม่บทสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี กำหนดกลยุทธ์การจัดซื้อจัดจ้าง และสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อขอความเห็นชอบหรือรายงานต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการประเมินคัดเลือกคู่ค้าที่โปร่งใส และตรวจสอบได้

การประเมินความเสี่ยงในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน

1. การประเมินความเสี่ยงของคู่ค้า

คู่ค้าเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน ปตท.สผ. จึงมีการบริหารและประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของคู่ค้า ใน 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1.1 การตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ค้ารายใหม่ (New Vendor Pre-Qualification) โดยการคัดกรองและประเมินผู้ค้าจำแนกตามกลุ่มและประเภทธุรกิจ

1.2 การวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย (Spend Analysis) และการวิเคราะห์ความเสี่ยงการจัดหาโดยใช้ Supply Positioning Model

1.3  การประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของคู่ค้า

1.4 การบูรณาการประเด็นด้านความยั่งยืนในการจัดหาและบริหารสัญญา

1.5 การบริหารจัดการความเสี่ยงของคู่ค้า

คู่ค้าสำคัญ (Critical Supplier) หมายถึง คู่ค้าโดยตรงที่มีความเสี่ยงสูงในเชิงเสถียรภาพทางธุรกิจ ความเชี่ยวชาญ และความเสี่ยงของอุปทาน ซึ่งรวมถึงคู่ค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจการขุดเจาะน้ำมันและการก่อสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม โดย ปตท.สผ. กำหนดคู่ค้าโดยอ้อม โดยการสอบถามผ่านไปทาง คู่ค้าสำคัญโดยตรงเพื่อให้ส่งข้อมูลคู่ค้าสำคัญของตน (Tier 2 รวมถึงสินค้าและบริการที่ให้กับ ปตท.สผ. ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม) ทั้งนี้ คู่ค้าดังกล่าวต้องได้รับการประเมินจากฝ่ายปฏิบัติการและความปลอดภัย รวมถึงมีการเยี่ยมชมพื้นที่ทุกปี นอกจากนี้ คู่ค้าจะต้องกำหนดแผนและแนวทางการแก้ไขเพื่อลดความเสี่ยงและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งต้องมีแผนการตรวจสอบการปฏิบัติการตามแนวทางการดำเนินงานและแผนความปลอดภัยของกลุ่ม ปตท.สผ. เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

2. การตรวจสอบและการประเมินคู่ค้า

กลุ่ม ปตท.สผ. มีกระบวนการตรวจสอบและประเมินคู่ค้าทั้งในระหว่างการดำเนินงานบริหารสัญญาและภายหลังจบสัญญา เพื่อประเมินความเสี่ยงและให้มั่นใจว่าคู่ค้าได้ดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนด กำหนดแผนการแก้ไข ประเมินผลในระหว่างและภายหลังดำเนินการ รวมทั้งแก้ไขตามแผนร่วมกัน โดยหากเกิดความเสี่ยงที่สำคัญด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ปตท.สผ. จะดำเนินการตรวจสอบกับคู่ค้าเพื่อหาสาเหตุและกำหนดแนวทางแก้ไข และทำการประเมินหลังการแก้ไขร่วมกัน โดยคำนึงถึงคุณภาพ ปริมาณ หรือความปลอดภัยในการสำรวจและผลิต และข้อกำหนดตามมาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐานสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (American Petroleum Institute – API) สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทท่อกรุและท่อผลิต ในงานขุดเจาะ มาตรฐานการตรวจเรือสนับสนุนกิจการนอกชายฝั่ง (Offshore Vessel Inspection Database – OVID) ของกลุ่มธุรกิจน้ำมัน ทางทะเล (Oil Companies International Marine Forum – OCIMF) สำหรับผู้ให้บริการเรือขนส่ง และมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice – GMP) สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร รวมถึงข้อกำหนดขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานการจัดการต่าง ๆ เช่น มาตรฐาน ISO 14001 และ ISO 45001 เป็นต้น ซึ่งผู้ค้าทุกรายจะต้องได้รับการสื่อสาร เข้าใจ และยอมรับแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้า ปตท.สผ. (Vendor Sustainable Code of Conduct) ผ่านทางแบบประเมินออนไลน์ (Vendor Management System) เพื่อให้ผู้ค้าปฏิบัติตามและผ่านการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ในขั้นตอนการตรวจประเมินผู้ค้าก่อนเริ่มทำสัญญา ซึ่งรวมถึงความสามารถในการผลิตของผู้จัดจำหน่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายในการรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการ เช่น การตรวจประเมินคู่ค้าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการดำเนินธุรกิจ (ESG On-site Audit) การตรวจเยี่ยมคู่ค้า (Key Supplier Site Visit) รวมถึงการตรวจประเมินแนวทางการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของคู่ค้า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและเป็นการช่วยปรับปรุงศักยภาพในการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในองค์กรของคู่ค้าเองอีกด้วย

3. ระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้าและผู้รับเหมา

ปตท.สผ. พัฒนาระบบการจัดการ SSHE สำหรับคู่ค้าและผู้รับเหมา เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมและบริหารการดำเนินงาน โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่

  • การผนวกเกณฑ์การคัดเลือกแผนการดำเนินงานด้าน SSHE เข้ากับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างปัจจุบัน
  • การระบุและประเมินความเสี่ยงด้าน SSHE ของคู่ค้าและผู้รับเหมา การกำหนดภาระความรับผิดชอบที่อาจจะเกิดขึ้น แนวทางการควบคุมและดำเนินงาน การรายงานประสิทธิผลการดำเนินงานของผู้รับเหมาตามที่กำหนด
  • การพัฒนาโครงการเพื่อผลักดันให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของการจัดการด้าน SSHE สำหรับผู้รับเหมาให้ดียิ่งขึ้น เช่น ระบบการประเมินผลการดำเนินงานของคู่ค้าและผู้รับเหมา การอบรมให้ความรู้ด้าน SSHE แก่ผู้รับเหมาในงานที่มีความเสี่ยงเฉพาะ ระบบข้อเสนอแนะด้าน SSHE สำหรับผู้รับเหมา
  • การสื่อสารความคาดหวังด้าน SSHE ที่ต้องการจากคู่ค้าและผู้รับเหมาในหลายช่องทาง เพื่อให้ผู้รับเหมาตระหนัก ปรับปรุง และเตรียมพร้อมให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของ ปตท.สผ. ได้
  • การสนับสนุนคู่ค้าและผู้รับเหมามีการปรับปรุงพัฒนาด้าน SSHE เพื่อให้มีมาตรฐานการดำเนินงานตามที่ ปตท.สผ. คาดหวัง

4. การตรวจประเมินผู้รับเหมาด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

ปตท.สผ. มีการตรวจประเมินผู้รับเหมาที่ทำงานซึ่งมีความเสี่ยงสูงตามมาตรฐานด้านการจัดการผู้รับเหมาของบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความมั่นใจว่าผู้รับเหมามีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของบริษัท เพื่อให้มีการประเมินการบริหารความเสี่ยงและปฏิบัติงานในกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การตรวจประเมินประจำปีนั้น เลือกจากประเภทของการทำงานที่มีความเสี่ยงความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมสูง ได้แก่ การทำงานประเภทการขุดเจาะปิโตรเลียม การก่อสร้าง การซ่อมบำรุง โลจิสติกส์ทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ผลการตรวจประเมินในอดีต รวมทั้งผู้รับเหมาที่ทำงานที่มีความเสี่ยงสูงกับ ปตท.สผ. เป็นครั้งแรกด้วย

การกำหนดผู้รับเหมาที่จะได้รับการตรวจประเมิน ปตท.สผ. อิงตามสถิติด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของผู้รับเหมาด้วย โดยหากผู้รับเหมาที่ทำงานซึ่งมีความเสี่ยงสูงและมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บริษัทจะทำการตรวจประเมินเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขและปรับปรุงในการทำงานให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยมีการติดตามผลของการปรับปรุงและแก้ไขตามข้อเสนอแนะ (ข้อมูลการตรวจประเมินผู้รับเหมา แสดงใน ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน)

5. การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของคู่ค้า

ปตท.สผ. ประเมินความยั่งยืนของคู่ค้าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG On-Site Audit) เพื่อทบทวนความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีใน 5 ประเด็นคือ 1. ระบบและนโยบายบริษัท 2. จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ 3. สังคม 4. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย 5. สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การประเมินทำโดยบุคคลที่สามที่ให้การรับรอง เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของคู่ค้าได้รับการตรวจสอบและจัดการโดยแนวทางที่ดีที่สุดอีกด้วย (ข้อมูลการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของคู่ค้า แสดงใน ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน)

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า

ปตท.สผ. ส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารห่วงโซ่อุปทานเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับคู่ค้า โดยได้จัดการประชุมกับคู่ค้าในเชิงกลยุทธ์ ตามวิสัยทัศน์ "Energy Partner of Choice" เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ สร้างความเข้าใจในแนวทางการดำเนินการ วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีของทั้งสองบริษัทเพื่อให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานและเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้จัดทำสัญญาระยะยาว (Master Service Agreement – MSA) ล่วงหน้าสำหรับการประมูลในอนาคตกับคู่ค้าในกลุ่มงานหลักเช่น งานขุดเจาะและดูแลหลุมผลิต เพื่อหามาตรฐานข้อกำหนดและเงื่อนใขในการทำสัญญาร่วมกันเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น

กลยุทธ์การปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์

กรอบการทำงานและแผนกลยุทธ์สำหรับงานด้านโลจิสติกส์ ดังรูปที่แสดงไว้ด้านล่างนั้น เป็นการกำหนดเป้าหมายระยะยาวในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท อีกทั้งยังเป็นกรอบในการวางแผนสำหรับการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้หน่วยงานโลจิสติกส์ที่จะนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างยั่งยืน


PTTEP Logistics Strategy 2020 - 2024

การจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

ปตท.สผ. ยึดถือความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจและมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุด้วยการปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในเชิงรุก เพื่อให้พนักงานตระหนักถึงความปลอดภัยในการดำเนินงานตลอดจนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุร้ายแรงและผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อม ในปี 2564 ปตท.สผ. ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

  • จัดกิจกรรม "Safety Stand Down" ในทุกพื้นที่ที่มีการดำเนินงาน เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยให้กับพนักงานและผู้รับเหมา
  • นำระบบ Driver's Fatigue Detection System มาใช้เพื่อติดตามพฤติกรรมของผู้ขับขี่ เช่น ความเหนื่อยล้าหรือง่วงนอน เสียสมาธิหรือละเลยความสนใจในการขับขี่ โดยใช้เทคโนโลยีผสมผสานระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) กับระบบการวิเคราะห์ภาพวิดีโอ (Video Analytics) เพื่อสังเกตพฤติกรรมของผู้ขับขี่ได้แบบเรียลไทม์ผ่านกล้องที่ติดตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ารถ โดยระหว่างขับรถกล้องจะจับภาพคนขับเพื่อเก็บข้อมูลของผู้ขับ หากพบค่าความเสี่ยงถึงระดับที่ต้องแจ้งเตือน ระบบจะส่งสัญญาณเสียงและระบบสั่นไปยังที่นั่งคนขับ พร้อมทั้งแจ้งต่อไปยังห้องควบคุมส่วนกลางเพื่อดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ ผู้ดูแลระบบยังสามารถตรวจสอบและประเมินผลการทำงานผู้ขับขี่ในระยะยาวได้ผ่านหน้าจอแสดงข้อมูลที่มีระบบการวิเคราะห์ข้อมูล Dashboard เพื่อหาแนวทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแง่มุมต่าง ๆ ที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ในการฝึกอบรมผู้ขับขี่
  • จัดโครงการ "เสริมสร้างแรงจูงใจในการทำงานเพื่อความปลอดภัย" หรือ "Perfect Day" ภายใต้เป้าหมายลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ เพื่อยกระดับมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยและปรับพฤติกรรมการขับขี่อย่างต่อเนื่อง โดยให้พนักงานขับรถทุกคนมีความมุ่งมั่นในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการทำงานบนพื้นฐานแนวความคิดที่ว่าอุบัติเหตุสามารถป้องกันได้ และได้มอบรางวัลให้กับพนักงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานต่อไป

การบริหารพัสดุคงคลังเพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ปตท.สผ. ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพัสดุคงคลัง เพื่อให้มูลค่าพัสดุคงคลังอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นการจัดการพัสดุคงคลังของโครงการบงกช โครงการอาทิตย์ และโครงการเอส 1 โดยมีขั้นตอนสำคัญในการบริหารพัสดุคงคลังดังนี้

  1. ทบทวนการบริหารจัดการพัสดุคงคลัง โดยครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ กำหนดคุณลักษณะ การจัดซื้อจัดจ้าง จัดเก็บ เบิกจ่าย และตัดจำหน่าย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับมาตรการควบคุมภายในของบริษัทและกฎระเบียบทางราชการที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2564 บริษัทได้ทดลองโครงการการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ท่อซึ่งเป็นพัสดุคงคลังที่มีมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (Oil Country Tubular Goods - OCTG) เพื่อให้มีการบริหารจัดการท่ออย่างมีประสิทธิภาพและนำไปใช้งานอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยบริษัททำสัญญาฝากขาย (consignment) กับคู่ค้าให้คู่ค้าบริหารจัดเก็บ OCTG ไว้ในคลังสินค้าส่วนกลางในประเทศไทยสำหรับใช้ในทุก ๆ โครงการของ ปตท.สผ. โดยแต่ละโครงการจะทำการสั่งซื้อ OCTG ตามจำนวนที่ต้องการใช้จริงในแต่ละงาน วิธีการดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดปริมาณท่อคงเหลือจากการใช้งานแล้วยังเป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการเรียกใช้ผลิตภัณฑ์ท่อให้กับโครงการต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทได้ปรับปรุงแผนกลยุทธ์การจัดหาท่อ โดยจัดหาท่อเหล็กไร้เกลียว และตัดเกลียวในประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจในท้องถิ่นให้มีศักยภาพทัดเทียมกับต่างชาติ และการสนับสนุนการจ้างงานภายในประเทศ ในขณะเดียวกันยังช่วยลดต้นทุนพัสดุคงคลัง และลดความเสี่ยงเรื่องท่อขาดแคลน อีกทั้งบริษัทยังมีแนวความคิดในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยมีการนำพลาสติกป้องกันเกลียว (Thread Protection) ซึ่งต้องใช้กับท่อ OCTG ทุกเส้นกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้อีกด้วย
  2. ปรับปรุงระดับการจัดเก็บพัสดุให้เหมาะสมกับความต้องการใช้จริง เพื่อลดปริมาณการจัดเก็บและบริหารการใช้พื้นที่ในการจัดเก็บอย่างเหมาะสม โดยบริษัทได้ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี Machine Learning เพื่อคาดการณ์ระดับการจัดเก็บพัสดุคงคลังที่เหมาะสมสำหรับความต้องการใช้งานในอนาคต
  3. บริหารจัดการพัสดุแบบองค์รวมผ่านฐานข้อมูลกลาง เพื่อจัดการพัสดุคงเหลือหรือพัสดุใช้แล้วที่ยังอยู่ในสภาพดีและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยนำพัสดุดังกล่าวกลับเข้าคลังพัสดุกลางเพื่อลดปริมาณการสั่งซื้อ ลดขั้นตอนและเวลาในการจัดซื้อพัสดุ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการจัดซื้อจัดจ้างและต้นทุนการผลิตลดลง
  4. ประเมิน ตรวจสอบ และตัดจำหน่ายพัสดุคงคลัง ที่มีลักษณะเสื่อมสภาพ ล้าสมัย หรือมีคุณลักษณะไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานในปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านการจัดเก็บพัสดุคงคลัง

การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ปตท.สผ. ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการและการดำเนินงานด้านการขนส่งภายใต้กลยุทธ์ 3E (Economics, Efficiency and Environment) โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (Safety, Security, Health and Environment – SSHE) ภายใต้การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ มีการวางแผน การคาดการณ์ การรวบรวม และการขนส่งตามมาตรฐานสากล ความเชื่อถือได้ในกระบวนการนำส่งสินค้าและบริการ บริษัทมีการติดตั้งระบบควบคุมและติดตามการใช้น้ำมัน (GPS Vessel Monitoring System) ของเรือแต่ละลำตั้งแต่ปี 2556 เพื่อให้มั่นใจว่าเรือทุกลำมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทมีการควบคุมปริมาณการใช้น้ำมัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการจัดการของการเดินเรือแบบรวมศูนย์ (Centralized Vessel Utilization Management)