Menu

การกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ

ความสำคัญและความมุ่งมั่น

ปตท.สผ. เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนจะทำให้สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็น Energy Partner of Choice ของบริษัทฯ มีการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบและสามารถรับมือต่อความท้าทายต่าง ๆ เพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ด้วยความเชื่อมั่นนี้ ปตท.สผ. จึงได้วางกรอบแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นเพื่อเป็นวิถีการทำงานร่วมกันในองค์กรและเป็นรากฐานการพัฒนาที่แข็งแกร่งให้แก่องค์กรในระยะยาว โดยมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การมุ่งพัฒนาสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization – HPO) การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management, and Compliance – GRC) และการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation – SVC)

แนวทางการบริหารจัดการ

ปตท.สผ. มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล การกำกับดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในอย่างเหมาะสม ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือ GRC

การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และ การกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์

ปตท.สผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการระบบการบริหารจัดการการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และ การกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance – GRC) เพื่อให้มั่นใจว่าการกำกับดูแลองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและอยู่ในกรอบของกฎระเบียบและจริยธรรมที่ดี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรภายในตั้งแต่ระดับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายและช่วยขับเคลื่อนให้สามารถบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้อย่างยั่งยืน

ปตท.สผ. ได้ส่งเสริมการดำเนินงานตามหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรต้นแบบด้าน GRC ให้กับบริษัทจดทะเบียนไทยภายในปี 2573 ผ่านกลยุทธ์การดำเนินงานระยะยาว 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ กลยุทธ์การกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ (Smart Assurance) ซึ่งมุ่งเน้นการบริหารจัดการกระบวนการกำกับดูแลองค์กรแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ และ กลยุทธ์การสร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติงานตามหลัก GRC (Mindful GRC) ซึ่งมุ่งเน้นให้บุคลากรของ ปตท.สผ. ตระหนัก เข้าใจ และยอมรับที่จะนำแนวทางการดำเนินการตามหลัก GRC ไปปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานประจำวันและการตัดสินใจที่สำคัญ ซึ่ง ปตท.สผ. พร้อมที่จะขยายผลโดยเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีด้าน GRC ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจของ ปตท.สผ. และองค์กรอื่น ๆ ที่สนใจ โดยมีหน่วยงานกลาง ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายบรรษัทภิบาล การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และการควบคุมภายใน และฝ่ายบริหารความเสี่ยง ทำหน้าที่ขับเคลื่อนแผนงาน การส่งเสริม GRC ทั่วทั้งองค์กร (GRC Management System) ทั้งนี้บริษัทยังได้กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแล (Governance Structure) ให้เป็นไปตามหลักการโมเดลสามด่าน (Three Lines Model) ซึ่งประกอบด้วย

  1. หน่วยงานที่มีบทบาทในด่านที่หนึ่ง (First Line Roles) คือ หน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องกำกับดูแลงานของตนให้มีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน
  2. หน่วยงานที่มีบทบาทในด่านที่สอง (Second Line Roles) คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบในภาพรวมเกี่ยวกับกฎหมาย กฎเกณฑ์ และนโยบายต่าง ๆ ที่ใช้ในองค์กร และทำหน้าที่ในการกำหนดกฎเกณฑ์ รวมทั้งกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว
  3. หน่วยงานที่มีบทบาทในด่านที่สาม (Third Line Roles) คือ หน่วยงานตรวจสอบและผู้ตรวจสอบภายนอก ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการปฏิบัติงานในภาพรวมของระบบงานต่าง ๆ ทั้งในระดับแรกและระดับที่สองอย่างเป็นอิสระ

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระจากภายนอกทำการประเมินผลการดำเนินงานด้าน GRC อย่างสม่ำเสมอ เช่น การประเมินระดับวุฒิภาวะด้าน GRC (GRC Maturity Assessment) และการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นต้น รวมถึงยังจัดให้มีการประเมินการควบคุมภายในตามแนวทางของ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) และการตรวจประเมินโดยผู้รับผิดชอบระดับที่สามหรือหน่วยงานตรวจสอบตามระดับความเสี่ยงในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทไม่พบรายการกิจกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของบริษัทที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ.

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในด้านการบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ได้ที่

จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ

ปตท.สผ. ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี โดยกำหนดให้คณะกรรมการและผู้บริหารต้องเป็นผู้นำและเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติ แนะนำ สื่อสาร และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจของกลุ่ม ปตท.สผ. ให้แก่พนักงานรวมทั้งองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท เช่น ข้อบังคับบริษัท การกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจของกลุ่ม ปตท.สผ. คณะกรรมการบริษัท ระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนและการให้ความคุ้มครอง รายงานการกำกับดูแลกิจการที่ดี และผลการจัดอันดับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้ที่เว็บไซต์ของบริษัท ภายใต้หัวข้อการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมทางธุรกิจ รวมถึงสามารถติดต่อและส่งความคิดเห็นผ่านทางอีเมลของกรรมการอิสระ ได้ที่ IndependentDirector@pttep.com หรือติดต่อเลขานุการบริษัทผ่านทางอีเมล CorporateSecretary@pttep.com

การป้องกันการคอร์รัปชัน

ปตท.สผ. ระบุนโยบายต่อต้านการทุจริตไว้ในการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ โดยใจความสำคัญคือ กลุ่ม ปตท.สผ. ต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบและไม่มีข้อยกเว้น รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันในแต่ละพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการคอร์รัปชันปรากฏในรายงานประจำปี หัวข้อการกำกับดูแลกิจการ และเว็บไซต์บริษัทภายใต้หัวข้อการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมทางธุรกิจ (ส่วนที่ 3: 07 การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน)

การรับเรื่องร้องเรียนของกลุ่ม ปตท.สผ.

ปตท.สผ. กำหนดให้มีระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนและการให้ความคุ้มครอง เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยผู้ร้องเรียนทั้งที่เป็นพนักงานหรือบุคคลภายนอกที่พบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านการส่งจดหมายหรืออีเมลถึงกรรมการ ผู้บังคับบัญชา หน่วยงานบรรษัทภิบาล สายงานเลขานุการบริษัท หรือผ่านระบบการรับเรื่องร้องเรียนในเว็บไซต์ของบริษัท ทั้งนี้หน่วยงานบรรษัทภิบาล สายงานเลขานุการบริษัท จะเป็นหน่วยงานกลางในการรับเรื่องร้องเรียนของ ปตท.สผ. และจัดการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนและการให้ความคุ้มครองของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น

  • หน่วยงานบรรษัทภิบาล สายงานเลขานุการบริษัท พิจารณาข้อเท็จจริงและความเพียงพอของหลักฐานในเบื้องต้น ก่อนส่งเรื่องให้ผู้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนภายใน 7 วันทำการ หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาต้องได้รับการอนุมัติจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เท่านั้น (ขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 7 วันทำการ)
  • ขั้นตอนการตรวจสอบและสรุปผลเรื่องร้องเรียน ต้องดำเนินการภายใน 30 วันทำการ หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาต้องได้รับการอนุมัติจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เท่านั้น (ขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 7 วันทำการสำหรับกรณีที่ไม่ซับซ้อน และไม่เกิน 30 วันทำการสำหรับกรณีเรื่องที่ซับซ้อน) โดยผู้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทุกคนต้องเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องร้องเรียนนั้น ๆ และต้องจัดทำรายงานและสรุปผลเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องที่ได้รับผ่านช่องทางที่กำหนดตามระเบียบข้างต้น เพื่อนำส่งต่อคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน และ/หรือ คณะกรรมการตรวจสอบ (แล้วแต่กรณี) รวมทั้งรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทตามลำดับ

ปตท.สผ. ยังได้กำหนดให้มีการให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมแก่ผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน หรือการกระทำใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน จะถูกเก็บรักษาเป็นความลับ หากมีการฝ่าฝืนหรือมีการกระทำผิดตามระเบียบฯ ปตท.สผ. จะดำเนินการลงโทษทางวินัย และ/หรือ ดำเนินการทางกฎหมาย แล้วแต่กรณี

ในปี 2565 บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางตามระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนฯ และนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคล รวมจำนวน 13 เรื่อง เมื่อพิจารณาความเพียงพอและความชัดเจนของพยานหลักฐานแล้วรับดำเนินการสอบสวนจำนวน 8 เรื่อง และดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 6 เรื่อง และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง 2 เรื่อง (ดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2566) มี 3 เรื่องที่ไม่พบการกระทำที่เป็นความผิด และมี 3 เรื่องซึ่งพบว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยตามนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคลและจริยธรรมธุรกิจว่าด้วยการทรัพยากรบุคคล และ ปตท.สผ. ได้ดำเนินการลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรและการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย

ทั้งนี้ หน่วยงานบรรษัทภิบาลได้แจ้งผลสรุปของเรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการแล้วเสร็จแก่ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียน คณะกรรมการตรวจสอบ หรือคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน (แล้วแต่กรณี) และคณะกรรมการบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับจำนวนเรื่องร้องเรียนเปรียบเทียบแบบรายปี มีการรวบรวมไว้ใน ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์