Menu

การบริหารจัดการการรั่วไหล

กลยุทธ์และเป้าหมายการบริหารจัดการการรั่วไหล

บริษัทมีเป้าหมายหลัก คือ การทำให้อุบัติเหตุด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์ (SSHE Target Zero) ซึ่งการรั่วไหลเป็นศูนย์ หรือ Zero Spill เป็นหนึ่งในเป้าหมายดังกล่าว และได้กำหนดเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหลักประจำปีทางด้าน SSHE ของบริษัท โดยเริ่มจากการคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดการรั่วไหลจากกิจกรรมของบริษัท การเตรียมความพร้อมในการตอบสนองตามหลักการของแผนบริหารจัดการการรั่วไหล (Spill Management Plan) ซึ่งมีการกำหนดโครงสร้างองค์กรในการตอบสนองและบริหารจัดการเหตุการณ์รั่วไหลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดให้มีเอกสาร อุปกรณ์ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องต่อการรับมือต่อเหตุการณ์รั่วไหลอย่างเหมาะสม

บริษัทได้พัฒนาและปรับปรุงแผนบริหารการจัดการการรั่วไหลให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการกำหนดระดับการตอบสนองต่อการรั่วไหลเป็น 3 ระดับ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์กรระดับสากลของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เช่น สมาคมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (International Petroleum Industry Environmental Conservation Association - IPIECA) และ สมาคมผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ (International Association of Oil and Gas Producers - IOGP) นั่นคือ

  • ระดับที่ 1: หมายถึง บริษัทสามารถจัดการการรั่วไหลได้ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ภายในโครงการเอง
  • ระดับที่ 2: หมายถึง บริษัทสามารถจัดการการรั่วไหลได้ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ ร่วมกับการขอสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ๆ ภายในประเทศ เช่น อบต. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ เป็นต้น
  • ระดับที่ 3: หมายถึง บริษัทสามารถจัดการการรั่วไหลได้ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ ร่วมกับการขอสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ๆ ภายในประเทศและระดับสากล เช่น บริษัทจัดการการรั่วไหลของน้ำมัน (Oil Spill Response Limited - OSRL) เป็นต้น

การบริหารจัดการความเสี่ยงของการรั่วไหล

บริษัทได้บริหารจัดการความเสี่ยงของการรั่วไหลตามข้อกำหนดทางกฎหมาย และกระบวนการบริหารความเสี่ยงของบริษัทในทุกระยะของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อให้มั่นใจว่าการรั่วไหลจากแต่ละกิจกรรมได้ถูกประเมินและกำหนดมาตรการลดความเสี่ยงนั้น ๆ อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ มีการประเมินความพร้อมของการจัดการการรั่วไหล (Spill Capability Assessment) สำหรับโครงการในปัจจุบันและโครงการใหม่ โดยผลการประเมินจะถูกนำมาวางแผนการเตรียมความพร้อม เพื่อให้มั่นใจว่า โครงการสามารถจัดการการรั่วไหลได้อย่างเหมาะสม

บริษัทมีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินระดับบริษัทและระดับพื้นที่โครงการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินความพร้อมและศักยภาพในการจัดการการรั่วไหล รวมถึงเสนอแผนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทยังจัดทำข้อตกลงร่วมกันกับหน่วยงานตอบสนองภาวะฉุกเฉินทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถจัดการเหตุการณ์รั่วไหลที่เกิดจากกิจกรรมของบริษัทได้อย่างทันท่วงทีและเหมาะสม เช่น สมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (Oil Industry Environmental Safety Group Association - IESG) กลุ่มให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมปิโตรเลียมของมาเลเซีย (Petroleum Industry of Malaysia Mutual Aid Group - PIMMAG) บริษัทจัดการการรั่วไหลของน้ำมัน (Oil Spill Response Limited - OSRL) เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทในฐานะสมาชิกของ IESG ได้ให้การสนับสนุนในการเตรียมความพร้อมของระบบการจัดการการรั่วไหลในประเทศไทย เช่น การเข้าร่วมเป็นสมาชิกในคณะกรรมการระดับต่าง ๆ การสนับสนุนให้มีการจัดหาอุปกรณ์ขจัดคราบน้ำมันให้มากขึ้น การเข้าร่วมในการตรวจประเมินความพร้อมของอุปกรณ์ การเข้าร่วมในการซ้อมแผนฉุกเฉินประจำปี รวมถึงกิจการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วย