Menu

โครงการปลูกป่าชายเลน

โครงการปลูกป่าชายเลน มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล ด้วยการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำชายฝั่งของประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายในการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต จำนวน 45,000 ไร่ โดยในปี 2564 ได้ปลูกป่าแล้ว จำนวน 1,000 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบำรุงป่า สำหรับปี 2565 ได้รับการอนุมัติพื้นที่ปลูกป่าแล้ว จำนวน 4,007.15 ไร่ ซึ่งจะเริ่มปลูกในปี 2566 และตั้งแต่ปี 2566 - 2573 จะปลูกป่าเพิ่มเติมและบำรุงรักษาต่อเนื่องจนถึงปี 2582 ตามเป้าหมายโครงการ พร้อมมีการเก็บข้อมูลวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูล Biodiversity Baseline ของแปลงปลูกป่าในทุกพื้นที่ เพื่อให้กลับมาเป็นระบบนิเวศป่าชายเลนที่สมบูรณ์ พร้อมสร้างเครือข่ายราษฎรพิทักษ์ป่า รักษาสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่แปลงปลูกป่าชายเลนของ ปตท.สผ. เพื่อการอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่ป่าชายเลนที่ผ่านการปลูกและฟื้นฟู และเป็นการริเริ่มสร้างโครงการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งโดยเครือข่ายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ผืนป่ายังสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มชนิดพันธุ์สัตว์หน้าดินได้อีกด้วย

นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร พนักงาน และครอบครัวในการร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลนแล้ว โครงการยังมีเป้าหมายที่จะสร้างเครือข่ายอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่ป่าชายเลนที่ปลูกโดย ปตท.สผ. รวมถึงการสร้างงานสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยมุ่งหวังว่าแปลงปลูกป่าชายเลน 45,000 ไร่ จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 559,350 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเพิ่มจำนวนสัตว์หน้าดินร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มโครงการได้ในปี 2573

ปตท.สผ. ได้ทำการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการนี้ โดยนำผลลัพธ์ทางสังคมมาคำนวณมูลค่าเป็นตัวเงิน แล้วเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการ เพื่อพิจารณาว่าโครงการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ต่อเงินทุก 1 บาทที่ลงทุนไป ทั้งนี้ ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการนี้ เท่ากับ 3.35 : 1