Menu

โครงการก๊าซธรรมชาติเพื่อเกษตรชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ปตท.สผ. ร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และชุมชนตำบลหนองตูม อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของแหล่งสิริกิติ์ แหล่งน้ำมันดิบบนบกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ดำเนินโครงการซึ่งนับเป็นต้นแบบของโครงการพัฒนาสังคมที่ช่วยเสริมสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นให้ดีขึ้น

โมเดล "หนองตูม" สะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขระหว่างผู้ประกอบการด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกับชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติการ โดย ปตท.สผ. นำก๊าซธรรมชาติส่วนเกินที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำมันดิบ (Associated Gas) ณ ฐานผลิตหนองตูม-เอ ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนประมาณ 1 กิโลเมตร มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน ภายใต้ "โครงการก๊าซธรรมชาติเพื่อเกษตรชุมชนและสิ่งแวดล้อม"

ปตท.สผ. สนับสนุนก่อสร้างโรงเรือนแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนตำบลหนองตูม พร้อมกับติดตั้งระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนผลิตของฐานผลิตหนองตูม เพื่อลำเลียงก๊าซมาจำหน่ายให้กับสหกรณ์แปรรูปกล้วยตำบลหนองตูม จำกัด ในราคาที่ต่ำกว่าราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในท้องตลาด ตอบสนองต่อความต้องการของวิสาหกิจของชุมชนตำบลหนองตูม ที่จำเป็นต้องใช้ก๊าซหุงต้มในปริมาณมากเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรชุมชนสำหรับจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก เป็นการช่วยลดต้นทุนในการแปรรูปผลผลิตของชาวบ้านถึงร้อยละ 50 ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนและเป็นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ปีละกว่า 5,000 ตัน

การดำเนินโครงการ

ขอบเขตการสนับสนุนของ ปตท.สผ. ประกอบด้วย การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติระยะทาง 1 กิโลเมตรจากฐานผลิตหนองตูมมายังศูนย์แปรรูปผลผลิตการเกษตรตำบลหนองตูมขนาดพื้นที่ 12 ไร่ สร้างโรงเรือนเพื่อใช้ทอดผลิตภัณฑ์จำนวน 4 โรง สนับสนุนเตาทอดผลิตภัณฑ์จำนวน 240 เตา ติดตั้งระบบสาธารณูปโภค และติดตั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อเชื่อมต่อลำเลียงก๊าซมาใช้ในการทอดผลิตภัณฑ์ รวมงบประมาณ 60 ล้านบาท

แผนภาพแสดงผังการส่งก๊าซธรรมชาติจากฐานผลิตหนองตูม มายังศูนย์แปรรูปผลผลิตการเกษตรตำบลหนองตูม


เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยและความถูกต้องสมบูรณ์ในการตรวจวัดและบันทึกปริมาณก๊าซที่จำหน่ายแก่ชุมชน ปตท.สผ. มีการติดตามตรวจสอบการบันทึกค่าของเครื่องวัดปริมาณก๊าซที่ติดตั้งอยู่ ณ ศูนย์แปรรูปผลผลิตการเกษตรตำบลหนองตูม และนำส่งรายงานตรวจสอบความถูกต้องในการอ่านค่าไปยังเจ้าหน้าที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยมีตัวแทนจากกลุ่มสหกรณ์แปรรูปกล้วยตำบลหนองตูม จำกัด ร่วมสังเกตการณ์เป็นประจำทุกเดือน

แผนที่แสดงที่ตั้งของศูนย์แปรรูปผลผลิตการเกษตรตำบลหนองตูมและฐานผลิตหนองตูม


ในปี 2550 กลุ่มชุมชนในพื้นที่ตำบลหนองตูม อำเภอกงไกลาศ จังหวัดสุโขทัย จำนวน 28 ครัวเรือน ได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์แปรรูปกล้วยตำบลหนองตูมจำกัด ปัจจุบันสามารถแปรรูปผลผลิตการเกษตร ได้แก่ กล้วยทอด ฟักทองทอด มันทอด และเผือกทอดได้ถึง 60 ตันต่อวัน

การลดต้นทุนและการสร้างรายได้

โครงการก๊าซธรรมชาติเพื่อเกษตรชุมชนและสิ่งแวดล้อมถือเป็นการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคม (Creating Shared Value: CSV) อย่างแท้จริง โดยได้สร้างคุณค่าที่เกิดประโยชน์ทั้งแก่ชุมชนตำบลหนองตูมและ ปตท.สผ. นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ชุมชนสามารถลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสำหรับแปรรูปผลผลิตการเกษตรได้ประมาณร้อยละ 50

ในปี 2565 พบว่า กลุ่มสหกรณ์ฯ สามารถลดค่าก๊าซหุงต้มได้ประมาณ 42 ล้านบาท หรือกว่า 1.27 ล้านดอลลาร์ สรอ. (คำนวณเปรียบเทียบกับราคาก๊าซหุงต้มถังใหญ่) และแทนที่จะเผาก๊าซส่วนเกินที่ได้จากกระบวนการผลิตทิ้ง ปตท.สผ. เปลี่ยนก๊าซธรรมชาติส่วนเกินเหล่านี้ให้เป็นเชื้อเพลิงราคาถูกสำหรับสหกรณ์ฯ และยังสามารถสร้างรายได้แก่ ปตท.สผ. รวม 6.9 ล้านบาท หรือกว่า 209,000 ดอลลาร์ สรอ.

ปตท.สผ. ได้ทำการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการนี้ โดยนำผลลัพธ์ทางสังคมมาคำนวณมูลค่าเป็นตัวเงิน แล้วเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการ เพื่อพิจารณาว่าโครงการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ต่อเงินทุก 1 บาทที่ลงทุนไป ทั้งนี้ ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการนี้ เท่ากับ 1.64: 1