Menu

โครงการพยาบาลชุมชน

“ยายเอ้ย! คุณหมอมาเยี่ยม” เพื่อนบ้านพากันร้องเรียกคุณยายฉวีที่นอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียง ทันทีที่เห็นหญิงสาวในชุดขาวสะพายกระเป๋าพยาบาลใกล้เข้ามายายฉวี ชาวบ้านหนองผือ ตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นป่วยเป็นมะเร็งถุงนํ้าดีตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อนส่วน “คุณหมอ” ที่ชาวบ้านเรียกคือ นิภารัตน์ อนุศาสตร์ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอุบลรัตน์นับตั้งแต่เริ่มงานที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์มาได้ 5 ปี อย่างน้อย 1 วันในแต่ละสัปดาห์ นิภารัตน์จะเปลี่ยนจากการทำหน้าที่ประจำในตัวโรงพยาบาลออกมาตระเวนเยี่ยมชาวบ้านพร้อมให้คำแนะนำเรื่อง การดูแลสุขภาพทั่วทั้งหมู่บ้านหนองผือกิจกรรมลงพื้นที่นี้ดูอย่างผิวเผินคล้ายกับงานของอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดทั่วไป แต่ต่างกันที่เป็นการทำงานตอบแทน ถิ่นฐานบ้านเกิดด้วยใจรักของเหล่าพยาบาลสายเลือดใหม่ ทั้งในฐานะ “พยาบาลชุมชน” และ “บัณฑิตคืนถิ่น” ที่ชาวบ้านเคยเลือกให้เป็นตัวแทนชุมชนไปเรียนต่อด้านพยาบาลการรู้จักรากเหง้า เข้าใจปัญหา คุ้นเคยใกล้ชิด เพราะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย มองตาก็รู้ใจ พูดคุยด้วยภาษาเดียวกันทำให้การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพยาบาลชุมชนเป็นไปอย่างราบรื่น และนั่นหมายถึง สุขภาพที่ดีของคนทั้งชุมชน




โครงการพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลอุบลรัตน์เป็นองค์ประกอบสำคัญของเครือข่ายระบบสุขภาพในอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลนแล้ว ยังช่วยให้เยาวชนที่เพิ่งจบการศึกษา ไม่ต้องย้ายไปทำงานต่างถิ่นและที่สำคัญคือ เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้อาชีพนี้ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 4  นับว่ามีค่ายิ่งนัก ในการพิสูจน์ว่าเด็กคนหนึ่งจะมีใจรักงานพยาบาลจริงหรือไม่

พญ. ทานทิพย์ ธำรงวรางกูร  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี จังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลอุบลรัตน์เล่าถึงสภาพปัญหาเกี่ยวกับบุคลากรตามโรงพยาบาลในต่างจังหวัดว่า “หมอหลายคน บ้านอยู่ในตัวเมือง หรือไม่ก็มาจากต่างจังหวัด บุคลากรที่มีจำนวนมากที่สุดในโรงพยาบาลคือ พยาบาล ก็มาจากพื้นที่อื่นถึงประมาณร้อยละ 98”  และเมื่อสืบสาวสาเหตุย้อนไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กท้องถิ่นสอบเข้าเรียนคณะที่อยากเรียนไม่ได้




จนกระทั่งเมื่อปี 2549 โรงพยาบาลอุบลรัตน์ริเริ่ม “โครงการพยาบาลชุมชน” โดยประชาสัมพันธ์ไปตามโรงเรียนท้องถิ่นว่าเด็กที่ฝันอยากเป็นพยาบาลให้มาสมัครคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนต่อโดยโรงพยาบาลจะมอบทุนการศึกษา พร้อมประสานความร่วมมือไปยังสถานศึกษาที่มีการสอนด้านพยาบาล คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่นโดย ปตท.สผ. ซึ่งเข้ามาดำเนินการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติที่แหล่งสินภูฮ่อมในพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมสนับสนุนในโครงการนี้

จงกลนี สีสด พยาบาลน้องใหม่ที่เพิ่งเรียนจบ เล่าว่า  “ตอนนั้นหนูมาร่วมโครงการเพราะได้ยินเสียงตามสาย ทางโรงพยาบาลบอกว่าจะจัดกิจกรรมจิตอาสาให้เด็ก ๆ หนูอยากเป็นพยาบาลก็ลองเข้ามาสมัคร ผลปรากฏว่าหนูชอบงานด้านนี้จริง”  โดยงานพยาบาลที่จงกลนีมีโอกาสร่วมฝึกประสบการณ์ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย เช่น ช่วยพยาบาลซักประวัติคนไข้ วัดความดัน ติดตามพยาบาลลงพื้นที่ไปดูแลผู้ป่วยในชุมชน และงานเชิงประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ จงกลนี เล่าต่อว่า “ถึงตอนนี้มีความภูมิใจมากกว่าตอนเป็นจิตอาสา เพราะเราได้ฉีดยาผู้ป่วยจริง ๆ ได้ช่วยชีวิตคนจริง ๆ ได้นำผู้ป่วยส่งถึงคุณหมออย่างปลอดภัย  นี่คือความสุข ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยก็ตาม ตอนนี้รู้แล้วว่า พยาบาลนั้นเป็นอาชีพที่เหนื่อยแต่คุ้มค่ากับชีวิตคนคนหนึ่ง”

จรีพร นาหนองตูม อีกหนึ่งสมาชิกของโครงการพยาบาลชุมชน มีโอกาสกลับมาตอบแทนแผ่นดินเกิด แล้ว 3 ปี บอกว่า “โครงการนี้เปิดโอกาสให้เด็กน้อยที่ไม่มีเงินทุนการศึกษา หรือความรู้อยู่ในขั้นปานกลาง  ไม่ได้เก่งมาก แต่เป็นเด็กดีและมีใจรักงานพยาบาลได้เรียน เมื่อเรียนจบก็ได้กลับมาอยู่บ้านเกิดไม่ต้องย้ายไปทำงานที่ไหน ทำให้เรามีความสุข ดีใจที่ได้ช่วยคนไข้มากขึ้น”



เกณฑ์การคัดเลือกเด็กจากชุมชนให้มีโอกาสเรียนต่อด้านงานพยาบาล ยังต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากชาวบ้านโดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีส่วนสนับสนุนลูก ด้วยการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2556  นั่นคือ พ่อแม่ของเด็กที่ได้รับทุนจะต้องปลูกยางนา 100 ต้น ต้นกล้วย 100 ต้น และไม้สร้างบ้าน 100 ต้น ก่อนที่ลูกจะไปเรียน และเมื่อลูกได้ไปเรียนแล้ว พ่อหรือแม่จะต้องมาเข้าโรงเรียนพ่อแม่ด้วย  หากบ้านใดต้นไม้ขาดหาย ต้องปลูกเสริมให้ครบกฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นกุศโลบายในการปลูกฝังเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างความมั่นคงในอนาคต ไม่เฉพาะกับลูกที่ได้รับทุนเท่านั้น แต่ยังลงลึกถึงรากฐานครอบครัวเป็นความสัมพันธ์ ที่ช่วยเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและสอดคล้องกับงานพยาบาลเชิงรุก นิภา ไทโส พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เล่าถึงความสำคัญของการลงชุมชนว่า  “ตามปรกติคนไข้ที่เจ็บป่วยแล้วมาโรงพยาบาลนั้นมีแค่ร้อยละ 25 อีก 75 จะอยู่ที่บ้าน เพราะฉะนั้น การเข้าไปหาในชุมชน จะทำให้เราดูแลชาวบ้านได้มากขึ้น แทนที่จะตั้งรับอยู่ที่โรงพยาบาล  เราทำเชิงรุก ไปหาร้อยละ 75 ที่เหลือด้วย” การลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำในฐานะพยาบาลชุมชน จึงทำให้มีโอกาสเข้าถึงปัญหาเชิงสังคมที่ยุ่งยากซับซ้อนลงไปแก้ที่รากเหง้าของปัญหาด้วยวิธีนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืนของสุขภาพได้นับจากเริ่มต้นโครงการพยาบาลชุมชน บัณฑิตที่กลับมาจำนวนไม่น้อยได้ทุ่มเทกับการทำงาน พยาบาลอย่างจริงจัง ได้ดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยซึ่งที่แท้ก็คือญาติสนิทมิตรสหายที่รู้จักในชุมชนที่ตนเองเติบโตมาแต่เด็ก ได้ภาคภูมิใจในฐานะพยาบาลตัวจริง จากที่เคยเป็นแค่ งานจิตอาสาสมัยนักเรียนสายใยรักบ้านเกิด  ที่โครงการนี้ถักทอขึ้น จึงเป็นภูมิคุ้มกันอย่างดีที่ทำให้ สุขภาพของชุมชนแห่งนี้เข้มแข็ง  ปลอดจากโรคภัยทั้งโรคทางกายและโรคทางสังคม

จนถึงปัจจุบันมีพยาบาลภายใต้โครงการนี้ที่สำเร็จการศึกษาและปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จำนวนทั้งสิ้น 23 คน

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้ทำการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการนี้ โดยนำผลลัพธ์ทางสังคมมาคำนวณมูลค่าเป็นตัวเงินแล้วเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการเพื่อพิจารณาว่าโครงการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ต่อเงินทุก 1 บาทที่ลงทุนไป

ทั้งนี้ ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการ (SROI) นี้ เท่ากับ 6.21: 1

เกี่ยวกับโครงการพยาบาลชุมชน