ข่าวประชาสัมพันธ์

ปตท.สผ. นำร่องศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ครั้งแรกในประเทศไทย หนุนเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

6 มิ.ย. 2565

กรุงเทพฯ, 6 มิถุนายน 2565 – ปตท.สผ. ริเริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นำร่องที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ พร้อมกับศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ CCS ในพื้นที่อื่น ๆ  สนับสนุนเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emissions) ในปี 2608 นั้น ปตท.สผ. มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการปัญหาก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน จึงได้ตั้งเป้าหมายและแผนการดำเนินงานของบริษัท เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 โดยหนึ่งในแผนงานที่สำคัญดังกล่าว คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม ด้วยการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลาย ๆ ประเทศวางแผนให้เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีแบบอื่น

ปตท.สผ. ได้เริ่มการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย เมื่อปี 2564 ถือเป็นการริเริ่มพัฒนาโครงการ CCS ครั้งแรกในประเทศไทย โดยขณะนี้ได้เสร็จสิ้นการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) ซึ่งครอบคลุมด้านการตรวจสอบและประเมินความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของชั้นหินใต้ดินเบื้องต้น ด้านการออกแบบกระบวนการดักจับและกักเก็บ ด้านแผนการเจาะหลุมสำหรับกักเก็บ เป็นต้น และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study)  ปตท.สผ. คาดว่าจะเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ในโครงการอาทิตย์ได้ในปี 2569

“ปตท.สผ. เล็งเห็นว่าองค์ความรู้และประสบการณ์ทางด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียมของการสำรวจและผลิต สามารถนำมาต่อยอดในการพัฒนาโครงการ CCS ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้แผนงานลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทบรรลุตามเป้าหมาย นอกจากการพัฒนาโครงการ CCS ในแหล่งก๊าซอาทิตย์ที่ ปตท.สผ. จะดำเนินการเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแล้ว เรายังได้ร่วมกับพันธมิตรที่มีประสบการณ์พัฒนาโครงการ CCS ที่ประเทศญี่ปุ่น ในการศึกษาและพัฒนา CCS ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้ง การศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS Hub Model ซึ่งเป็นความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย โดยการดำเนินงานทั้งหมดนี้ จะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของประเทศไทยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างมีประสิทธิผล

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ CCS จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง   เช่น ด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย ด้านปัจจัยส่งเสริมการลงทุน รวมถึง ด้านการสื่อสารและการให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและองค์กรหลาย ๆ ฝ่าย ในการผลักดันและส่งเสริม การนำเทคโนโลยี CCS มาใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย” นายมนตรี กล่าว

โครงการพัฒนา CCS เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ในการก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังให้ความสนใจในโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ พลังงานใหม่ในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน  รวมถึง การดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) อีกด้วย

​สื่อมวลชนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกบริหารงานสื่อมวลชน


The information, statements, forecasts and projections contained herein reflect the Company’s current views with respect to future events and financial performance.   These views are based on assumptions subject to various risks.   No assurance is given that these future events will occur, or that the Company’s future assumptions are correct.   Actual results may differ materially from those projected.