
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน
ระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน (แก้ไขครั้งที่ 9)
สารบัญ
- เจตนารมณ์
- นิยาม
- การแต่งตั้ง
- คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
- หน้าที่และความรับผิดชอบ
- วาระและค่าตอบแทน
- การประชุม
- การรายงาน
- วันที่ใช้บังคับ
ข้อ 1. เจตนารมณ์
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible) และมีความพร้อมที่จะรับมือต่อความท้าทายต่าง ๆ (Resilient) ไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งมั่นในการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 โดยขับเคลื่อนผ่านกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืน (Sustainability Framework) ซึ่งประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การพัฒนาสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization - HPO) การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance - GRC) รวมถึงการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation - SVC) จึงแต่งตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับ และส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
ข้อ 2. นิยาม
ในระเบียบนี้
“บริษัท” หมายความว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยของ ปตท.สผ.
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการ ปตท.สผ.
ข้อ 3. การแต่งตั้ง
คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน (Corporate Governance and Sustainability Committee) ประกอบด้วย กรรมการ ปตท.สผ. อย่างน้อยสามคนเป็นคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน และกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนส่วนใหญ่ต้องเป็นกรรมการอิสระ
คณะกรรมการจะแต่งตั้งกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน และให้หัวหน้าหน่วยงานเกี่ยวกับเลขานุการบริษัทเป็นเลขานุการคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน
ข้อ 4. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
- เป็นกรรมการ ปตท.สผ. และไม่ใช่ประธานกรรมการ ปตท.สผ. หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- สามารถอุทิศเวลาอย่างเพียงพอในการดำเนินงานของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน
- กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนที่เป็นกรรมการอิสระ ต้องมีความเป็นอิสระตามการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ปตท.สผ.
ข้อ 5. หน้าที่และความรับผิดชอบ
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
- กำหนดเป้าหมาย นโยบาย และแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัท โดยครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization - HPO) การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance - GRC) และการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation - SVC) และพิจารณางบประมาณด้านความอย่างยั่งยืน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ
- ให้คำแนะนำและส่งเสริมให้การดำเนินงานของบริษัทสอดคล้องกับเจตนารมณ์และกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และทัดเทียมกับบริษัทชั้นนำ ตลอดจนสนับสนุนให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ปฏิบัติตนตามแนวทางเพื่อความยั่งยืนของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ
- ประเมินและทบทวนเป้าหมาย นโยบาย และแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้เหมาะสมกับสภาวะการดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับกฎหมายหรือแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากล และข้อเสนอแนะของสถาบันต่าง ๆ ตลอดจนพิจารณาข้อเสนอที่เกี่ยวข้องของผู้ถือหุ้นและ การตอบกลับผู้ถือหุ้น
- ดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการด้านความยั่งยืน ให้มีความสมดุลและมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการต่อคณะกรรมการเพื่อทราบเป็นระยะ
- กำหนดนโยบายด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ และนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติ พร้อมทั้งให้คำแนะนำและส่งเสริมให้มีการปฏิบัติในทุกระดับ และทบทวนให้นโยบายดังกล่าวมีความเหมาะสม สอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากลเป็นประจำทุกปี ตลอดจนดูแลให้มีการประเมินผลและรายงานการปฏิบัติตามนโยบายด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ
- ดูแลการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้เสียในรายงานประจำปีและรายงานความยั่งยืนประจำปีของบริษัท
- พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับระเบียบนี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมและทันสมัยอยู่เสมอ
- เปิดเผยรายงานการดำเนินงานของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อนี้ คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนอาจหาความเห็นจากที่ปรึกษาอิสระทางวิชาชีพอื่นหรือแต่งตั้งคณะทำงาน เมื่อเห็นว่ามีความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งให้กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนได้รับการอบรมและเสริมสร้างความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนได้ด้วย โดย ปตท.สผ. เป็นผู้รับค่าใช้จ่าย
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ต่อคณะกรรมการโดยตรง และคณะกรรมการมีความรับผิดชอบในการดำเนินการทุกประการของบริษัทต่อบุคคลภายนอก
ข้อ 6. วาระและค่าตอบแทน
กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนมีวาระอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริษัท
เมื่อมีกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนพ้นจากตำแหน่ง หรือมีเหตุใดที่กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนไม่สามารถอยู่ได้จนครบวาระ คณะกรรมการจะต้องแต่งตั้งกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนรายใหม่แทน ให้ครบถ้วนอย่างช้าภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่จำนวนสมาชิกไม่ครบถ้วน
เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนขึ้นใหม่ ให้กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่ง เพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และ ปตท.สผ. ต้องเปิดเผยค่าตอบแทนไว้ในรายงานประจำปีของ ปตท.สผ. ด้วย
ข้อ 7. การประชุม
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนต้องประชุมอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง
การประชุมคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน ต้องมีกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนที่มาประชุมเลือกกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ทั้งนี้ เลขานุการคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด หรือมีส่วนได้เสียใด ๆ ในเรื่องที่พิจารณา จะต้องแจ้งให้ที่ประชุมทราบและงดให้ความเห็น งดออกเสียง และออกจากห้องประชุม ยกเว้นที่ประชุมโดยไม่รวมกรรมการที่มีส่วนได้เสีย มีมติเอกฉันท์ให้กรรมการ ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลในการประชุมเพื่อความรอบคอบในการพิจารณาตัดสินใจ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงหรือตัดสินใจในเรื่องนั้น ๆ
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนมีอำนาจเชิญฝ่ายจัดการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุม หรือขอให้ชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้
ข้อ 8. การรายงาน
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนต้องรายงานผลการประชุม หรือรายงานอื่นใดที่เห็นว่าคณะกรรมการควรทราบต่อคณะกรรมการเป็นประจำ
ข้อ 9. วันที่ใช้บังคับ
ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2566
รายงานของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน
ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยคำนึงถึงเป้าหมายของประเทศไทยและทิศทางของโลกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนธุรกิจโดยให้สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน พร้อมทั้งยึดมั่นในการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ
คณะกรรมการ ปตท.สผ. มอบหมายให้คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนทำหน้าที่กำหนดเป้าหมาย นโยบาย และแผนงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ครอบคลุมด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับ การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management, and Compliance หรือ GRC) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ดำเนินธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืนคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนประกอบด้วยกรรมการ รวม 4 คน โดยเป็นกรรมการอิสระ 3 คน ได้แก่ นายพงศธร ทวีสิน นายวิรไท สันติประภพ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ และนายดนุชา พิชยนันท์
ในปี 2567 คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนมีการประชุมรวม 4 ครั้ง และกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนทั้งหมดได้เข้าร่วมประชุมครบทุกครั้ง หัวข้อสำคัญของการประชุมและผลการปฏิบัติหน้าที่ สรุปได้ดังนี้
- ปรับปรุงระเบียบการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจของกลุ่ม ปตท.สผ. (Good Corporate Governance and Business Ethics หรือ CG&BE) ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับหลักการมาตรฐานสากลในปัจจุบัน เช่น หลักการ Organisation for Economic Co-operation and Development Principles (OECD) 2023, หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 (CG Code 2017) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นต้น รวมถึงการอ้างอิงมาตรฐานสากลที่นำมาปรับใช้กับระบบการบริหารจัดการด้าน CG&BE ของ ปตท.สผ. เช่น หลักสากล 10 ประการของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ CG&BE ยังคงเป็นส่วนสำคัญใน การส่งเสริมให้ ปตท.สผ. สามารถบรรลุเจตนารมณ์และกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืน (Sustainability Framework) ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management, and Compliance หรือ GRC)
- ทบทวนเป้าหมายและแผนการดำเนินงานของ GRC (GRC Strategy, Target, and Roadmap) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานด้าน GRC สามารถส่งเสริมให้กระบวนการดำเนินงานในบริษัทฯ บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้อย่างยั่งยืน พร้อมส่งเสริมให้มีการกำหนดเป้าหมายและแผนงานเพื่อขับเคลื่อนการสร้างวัฒนธรรมด้าน GRC ที่เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้
- ส่งเสริมให้การดำเนินงานในทุกพื้นที่ปฏิบัติการของ ปตท.สผ. รวมถึงการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน สอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจของกลุ่ม ปตท.สผ. (CG&BE) ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ CG&BE เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้ นอกจากนี้ยังได้สื่อสารและเชิญชวนให้คู่ค้าเข้าร่วมอบรมออนไลน์เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน เน้นย้ำให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์และประเมินตนเองเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ประชาสัมพันธ์นโยบายการงดรับของขวัญ (No Gift Policy) เชิญชวนพนักงานเข้าร่วมกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชัน กิจกรรม PTT Group CG Day 2024 รวมถึงเข้าร่วมการประเมินในโครงการที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลต่าง ๆ เพื่อพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ปตท.สผ. นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้พนักงานนำหลักการ GRC ไปปรับใช้เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งอีกด้วย
- พิจารณา ติดตาม และให้คำแนะนำในการดำเนินงานตามแผนงานด้านความยั่งยืน โดยแบ่งการดำเนินงาน ดังนี้
-
4.1พิจารณาแผนงานและงบประมาณด้านความยั่งยืนปี 2568 เพื่อความต่อเนื่องของการดำเนินงานสอดรับตามประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ รวมถึงเป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืนครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) ตามที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะแผนงานภายใต้กลยุทธ์หลักการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2593
-
4.2พิจารณาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารจัดการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานที่ได้กำหนดไว้ เช่น พิจารณาการปรับปรุงแนวทางการพิจารณาผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับการใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Exploration and Production หรือ E&P) ซึ่งใช้หลักการของราคาคาร์บอนภายในของบริษัทฯ (Internal Carbon Price หรือ ICP) รวมถึงติดตามผลของการใช้แนวทางดังกล่าว พิจารณาแนวทางการกำกับดูแลและบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ในการสร้างคาร์บอนเครดิต Portfolio ผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น การปลูกและดูแลรักษาป่า การดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานภายนอก รวมทั้งการจัดหาคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยให้มีโครงสร้างในการกำกับดูแลให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะให้ปรับปรุงการตรวจวัด การรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการทวนสอบข้อมูลให้มีความรัดกุม และจัดทำแผนงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ชัดเจน เพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงทิศทางของโลกต่อการใช้พลังงานฟอสซิล รวมถึงให้ติดตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยให้นำเสนอความคืบหน้าเป็นประจำทุกไตรมาส เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ จะสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในปี 2573 และร้อยละ 50 ภายในปี 2583 จากปีฐาน 2563 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593
-
4.3ติดตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเพื่อให้สอดคล้องกับแผนงาน และเป้าหมายรายปีที่กำหนดไว้ เป็นรายไตรมาส พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะเกี่ยวกับดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างชัดเจนและเกิดประสิทธิผล โดยให้พิจารณาหาแนวทางใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างการรับรู้ของสังคมในวงกว้างให้สามารถจดจำโครงการขององค์กรได้ เช่น การประชาสัมพันธ์โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล (PTTEP Ocean Data Platform) เพื่อการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการศึกษาและการวิจัย การสื่อสารเรื่องความสำคัญและประโยชน์ของการดำเนินโครงการการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำต่อผลการดำเนินด้านความยั่งยืนต่าง ๆ เช่น การดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) โดยให้เพิ่มเติมแผนงานที่เกี่ยวข้อง การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกี่ยวข้องกับทะเล (Adaptation Plan) และหาโอกาสขยายการสร้างฐานข้อมูลและการใช้ข้อมูลใน PTTEP Ocean Data Platform รวมกับแพลตฟอร์มสากลอื่น ๆ เพื่อให้เกิดเป็นงานวิจัย และองค์ความรู้ใหม่ ๆ ของประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการของเสียเพื่อบรรลุเป้าหมายปราศจากของเสียที่กำจัดโดยวิธีการฝังกลบ (Zero Waste to Landfill) สำหรับโครงการในประเทศไทยภายในปี 2568 อีกด้วย
-
4.4ติดตามผลการดำเนินงานโครงการเพื่อสังคมปี 2566 และแผนการดำเนินงานปี 2567 โดยส่งเสริมให้ดำเนินโครงการเพื่อสังคมที่เชื่อมโยงกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ โดยให้คำนึงถึงการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่าง ๆ ผ่านการประเมินผลการดำเนินงานและผลตอบแทนทางสังคมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของโครงการทั้งในและต่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเน้นย้ำการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริงและยั่งยืน
-
4.5พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลและทบทวนการรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนตามประเด็นความยั่งยืนขององค์กร รวมถึงข้อมูลด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2567 (แบบ 56-1 One Report) และเสนอแนะให้มีการทวนสอบข้อมูลให้มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือจากผู้ทวนสอบภายนอกอีกด้วย
-
- ส่งเสริมให้จัดกิจกรรมเยี่ยมชมกิจการสำหรับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจในธุรกิจและความมั่นใจในการลงทุนกับ ปตท.สผ. รวมถึงสร้างสัมพันธภาพที่ดีระยะยาวระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทฯ
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถด้วยความรอบคอบ และเป็นอิสระเพื่อยกระดับและพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อความอย่างยั่งยืนของกลุ่ม ปตท.สผ. เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ ผู้ถือหุ้นทุกรายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ได้รายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการ ปตท.สผ. ทราบเป็นประจำทุกไตรมาส
นายพงศธร ทวีสิน
(นายพงศธร ทวีสิน)
ประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน