
คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน

นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส
- กรรมการอิสระ
- ประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
- กรรมการตรวจสอบ

พลเอก นิธิ จึงเจริญ
- กรรมการอิสระ
- กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
- กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน

พลเรือเอก ปกครอง มนธาตุผลิน
- กรรมการอิสระ
- กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน

พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์
- กรรมการอิสระ
- กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
ระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
สารบัญ
- เจตนารมณ์
- นิยาม
- การแต่งตั้ง
- คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
- หน้าที่และความรับผิดชอบ
- วาระและค่าตอบแทน
- การประชุม
- การรายงาน
- วันที่ใช้บังคับ
ข้อ 1. เจตนารมณ์
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีความแน่วแน่ที่จะดำรงไว้ซึ่งการจัดการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด เป็นที่ยอมรับจากผู้ลงทุนและ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไปอยู่เสมอว่าเป็นกิจการที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance)
การจัดให้มีคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน (Nomination and Remuneration Committee) เป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ปตท.สผ. ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ได้อนุมัติไว้ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนของ ปตท.สผ. เป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นในการทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยให้มีการกำหนดวิธีการสรรหากรรมการ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างมีหลักเกณฑ์ และโปร่งใส รวมถึงพิจารณาเสนอค่าตอบแทนสำหรับคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และโครงสร้างเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง โดยมีวิธีการและหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ผู้ถือหุ้น หรือที่ประชุมคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
ข้อ 2. นิยาม
ในระเบียบนี้
“ปตท.สผ.” หมายความว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
ข้อ 3. การแต่งตั้ง
คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน (Nomination and Remuneration Committee) ประกอบด้วย กรรมการ ปตท.สผ. อย่างน้อยสามคนเป็นคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนส่วนใหญ่ต้องเป็นกรรมการอิสระ
คณะกรรมการจะแต่งตั้งกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นกรรมการอิสระคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และให้หัวหน้าหน่วยงานเกี่ยวกับเลขานุการบริษัทเป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
ข้อ 4. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
- เป็นกรรมการ ปตท.สผ. และไม่ใช่ประธานกรรมการ ปตท.สผ. หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- สามารถอุทิศเวลาอย่างเพียงพอ ในการดำเนินงานของคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
- กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นกรรมการอิสระ ต้องมีความเป็นอิสระตามการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ปตท.สผ.
ข้อ 5. หน้าที่และความรับผิดชอบ
คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
- สรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมื่อมีตำแหน่งว่างลง หรือที่ครบวาระ หรือเข้ารักษาการในกรณีตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารว่างลง และ อยู่ระหว่างการพิจารณาสรรหาตามขั้นตอนเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเลือกตั้ง หรือเสนอต่อ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี โดยคำนึงถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อ ปตท.สผ. จำนวนบริษัทที่บุคคลนั้นดำรงตำแหน่ง และการมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) รวมทั้งอาจพิจารณาจากฐานข้อมูลกรรมการ (Director’s Pool) ขององค์กรที่น่าเชื่อถือประกอบด้วย
- พิจารณาแผนการสืบทอดตำแหน่งของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและแผนพัฒนาผู้บริหารเพื่อรองรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้มีความเหมาะสม และเพื่อให้ได้ผู้บริหารที่มีทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นเพื่อรองรับการเติบโตของ ปตท.สผ. ให้เป็นไปตามเป้าหมาย
- พิจารณาคุณสมบัติที่เหมาะสมในการเป็นกรรมการ และจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ของ ปตท.สผ. (Skill Matrix) และกำหนด Target Skill Mix สำหรับการสรรหากรรมการในแต่ละปี รวมถึงจัดเตรียมบัญชีรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือผู้รักษาการในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารไว้เป็นการล่วงหน้า และ/หรือ ในกรณีที่มีตำแหน่งกรรมการ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ว่างลง เพื่อเสนอให้คณะกรรมการ หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น แล้วแต่กรณี พิจารณาเลือกตั้งต่อไป
- พิจารณา Board Performance Target แต่ละปีของคณะกรรมการ และการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อเสนอให้คณะกรรมการอนุมัติ รวมทั้งกำหนดแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานกรรมการ กรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- พิจารณาเสนอรายชื่อกรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นกรรมการชุดย่อย และประธานกรรมการชุดย่อยต่อคณะกรรมการเพื่อแต่งตั้ง เมื่อมีตำแหน่งว่างลง หรือเสนอปรับปรุงกรรมการชุดย่อย ต่อคณะกรรมการตามความเหมาะสม
- พิจารณาการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการเติบโตและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจให้เหมาะสม
- พิจารณาค่าตอบแทนให้แก่คณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย โดยมีหลักเกณฑ์หรือวิธีการ และโครงสร้างที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล ซึ่งพิจารณาตามผลการปฏิบัติงาน ผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ. แนวปฏิบัติในอุตสาหกรรมเดียวกัน และขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ และเสนอที่ประชุม ผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ
- พิจารณาค่าตอบแทนให้แก่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และพิจารณาโครงสร้างเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง โดยการพิจารณาต้องมีหลักเกณฑ์หรือวิธีการ และโครงสร้างที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล และในกรณีค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้คำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบและผลการปฏิบัติงานประจำปีด้วย และเสนอที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติ
- ประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และจัดให้มีรายงานผลการปฏิบัติงานเพื่อรายงานให้คณะกรรมการทราบ และเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้นเป็นประจำทุกปี
- พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับระเบียบนี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมและทันสมัยอยู่เสมอ
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
คณะกรรมการชุดย่อย ใน (4) และ (5) หมายถึง กรรมการ ปตท.สผ. ที่เป็นคณะกรรมการชุดย่อยตามข้อบังคับบริษัท
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อนี้คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนอาจหาความเห็น ที่เป็นอิสระจากที่ปรึกษาทางวิชาชีพอื่นใดเมื่อเห็นว่าจำเป็นได้ รวมทั้งให้กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนได้รับการอบรมและเสริมสร้างความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนได้ด้วย โดย ปตท.สผ. เป็นผู้รับค่าใช้จ่าย
คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ต่อคณะกรรมการโดยตรง และคณะกรรมการมีความรับผิดชอบในการดำเนินการทุกประการของ ปตท.สผ. ต่อบุคคลภายนอก
ข้อ 6. วาระและค่าตอบแทน
กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนมีวาระอยู่ในตำแหน่ง เท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริษัท
เมื่อมีกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนพ้นจากตำแหน่ง หรือมีเหตุใดที่กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนไม่สามารถอยู่ได้จนครบวาระ คณะกรรมการจะต้องแต่งตั้งกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนรายใหม่แทนให้ครบถ้วนอย่างช้าภายในสามเดือน นับแต่วันที่จำนวนสมาชิกไม่ครบถ้วน
เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนขึ้นใหม่ ให้กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น อยู่ในตำแหน่ง เพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ เข้ารับหน้าที่
กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4
คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นและ ปตท.สผ. ต้องเปิดเผยค่าตอบแทนไว้ในรายงานประจำปีของ ปตท.สผ. ด้วย
ข้อ 7. การประชุม
คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนต้องประชุมอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี
การประชุมคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนต้องมีกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนไม่อยู่ในที่ประชุมให้กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนที่มาประชุมเลือกกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนคนหนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ทั้งนี้ เลขานุการคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด หรือมีส่วนได้เสียใด ๆ ในเรื่องที่พิจารณา จะต้องแจ้งให้ที่ประชุมทราบและงดให้ความเห็น งดออกเสียง และออกจากห้องประชุม ยกเว้นที่ประชุมโดยไม่รวมกรรมการที่มีส่วนได้เสีย มีมติเอกฉันท์ให้กรรมการผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลในการประชุมเพื่อความรอบคอบในการพิจารณาตัดสินใจ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงหรือตัดสินใจในเรื่องนั้น ๆ
คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนมีอำนาจเชิญฝ่ายจัดการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่เห็นสมควร เข้าร่วมประชุมหรือขอให้ชี้แจง รวมถึงมีอำนาจขอเอกสารในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้
ข้อ 8. การรายงาน
คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนต้องรายงานผลการประชุม หรือรายงานอื่นใด ที่เห็นว่าคณะกรรมการควรทราบต่อคณะกรรมการเป็นประจำ
ข้อ 9. วันที่ใช้บังคับ
ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
รายงานของคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนประจำปี 2566
คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนของ ปตท.สผ. เป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญตามการกำกับดูแลกิจการที่ดี ของ ปตท.สผ. ในการทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยมีการกำหนดวิธีการสรรหาอย่างมีหลักเกณฑ์ และโปร่งใส รวมถึงพิจารณาเสนอค่าตอบแทนสำหรับคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และโครงสร้างเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง โดยมีวิธีการและหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล โดยคณะกรรมการ ปตท.สผ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ประกอบด้วย กรรมการอิสระ จำนวน 4 คน ได้แก่ 1) นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส 2) นายพงศธร ทวีสิน 3) พลเรือเอก ปกครอง มนธาตุผลิน และ 4) พลเอก นิธิ จึงเจริญ
ในปี 2567 คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนได้มีการประชุมรวมทั้งหมด 9 ครั้ง และกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนทุกรายได้เข้าร่วมประชุมครบทุกครั้ง โดยผลการปฏิบัติหน้าที่สรุปได้ ดังนี้
- พิจารณาหลักการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการประจำปี 2567 (Board Performance Target) โดยมีปัจจัยหลักในการพิจารณาคือ การติดตามผลการดำเนินงานตามดัชนีวัดผลการดำเนินงาน (Corporate KPIs) ให้เป็นไปตามเป้าหมายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การเข้าร่วมประชุมของคณะกรรมการ และการเข้ารับการอบรมและการพัฒนาตนเองของกรรมการ รวมถึงการประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในภาพรวมของคณะกรรมการ โดยบุคคลภายนอก เช่น การประเมินโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (CGR) โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เป็นต้น
- พิจารณาการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย และประธานกรรมการ รวมถึงทบทวนและปรับปรุงแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ให้มีความชัดเจน สามารถวัดผลได้ตามเป้าหมาย ที่กำหนด รวมทั้งแปลผลเพื่อนำผลการประเมินมาจัดทำแผนพัฒนาการดำเนินงานได้อย่างตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน (CG Code) ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งรายงานผลการประเมินฯ ให้คณะกรรมการทราบ
- ทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ (Skill Matrix) ของคณะกรรมการ และพิจารณากำหนด Board Target Skill Mix เพื่อสรรหากรรมการแทนกรรมการที่ครบวาระประจำปี 2568 หรือที่พ้นจากวาระในกรณีอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในปี 2568 ปตท.สผ. มุ่งเน้น ให้ความสำคัญกับ Skill Mix 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านบัญชี (Accounting) 2) ด้านกฎหมาย (Legal) และ 3) ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน (Economics and Finance) เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจทั้งด้าน E&P และ Beyond E&P การเข้าลงทุนในพื้นที่ใหม่ ๆ และการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจใหม่หรือการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการดำเนินธุรกิจ E&P ในปัจจุบัน และเพิ่มความรอบคอบด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและสัญญา เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทางกฎหมายอย่างเหมาะสม
- พิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตาม Skill Matrix เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการชุดย่อย ต่อคณะกรรมการเมื่อมีตำแหน่งว่างลง โดยคำนึงถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการ ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อ ปตท.สผ. จำนวนบริษัทที่บุคคลนั้นดำรงตำแหน่ง และความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าเป็นกรรมการ ต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อยมีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และเหมาะสม
- พิจารณากำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้นำองค์กร การพัฒนาและการจัดทำแผนสืบทอดผู้นำองค์กร เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร สอดคล้องกับสถานการณ์ทางธุรกิจและแผนกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงพิจารณาหลักเกณฑ์ในการประเมินผลและการกำหนดค่าตอบแทนตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารให้เหมาะสมด้วย
- พิจารณาการกำหนดค่าตอบแทนคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อยในอัตราที่เหมาะสมกับความรับผิดชอบ สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาวของบริษัทฯ และเทียบเคียงได้กับหน่วยธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน
- พิจารณานโยบายการจ่ายค่าตอบแทนและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กรให้สอดคล้องเหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อให้ การดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ
อนึ่ง คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความรอบคอบและเป็นอิสระ ในการให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม และได้รายงานผลการปฏิบัติงาน ให้คณะกรรมการทราบเป็นประจำตลอดปี 2567
ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส
(นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส)
ประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน