คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง




ระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (แก้ไขครั้งที่ 8)
สารบัญ
1. เจตนารมณ์
2. นิยาม
3. การแต่งตั้ง
4. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
5. หน้าที่และความรับผิดชอบ
6. วาระและค่าตอบแทน
7. การประชุม
8. การรายงาน
9. หน่วยงานบริหารความเสี่ยงในระดับฝ่ายจัดการ
ข้อ 1. เจตนารมณ์
เพื่อให้บริษัทมีการพัฒนาด้านการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่บริษัทจดทะเบียนพึงปฏิบัติ จึงสมควรจัดให้มีคณะกรรมการ บริหารความเสี่ยงเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายกำกับและส่งเสริมการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่ทำให้บริษัทบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
ข้อ 2. นิยาม
ในระเบียบนี้
“บริษัท” หมายความว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยของ ปตท.สผ.
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการ ปตท.สผ.
“หน่วยงานบริหารความเสี่ยง” (Risk Management Function) หมายถึง หน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้รับผิดชอบการบริหารความเสี่ยงองค์กรในภาพรวม ให้สอดคล้องกับกรอบนโยบายที่คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงกำหนด
ข้อ 3. การแต่งตั้ง
คณะกรรมการ เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee) ประกอบด้วย กรรมการ ปตท.สผ. อย่างน้อยสามคนเป็นคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและกรรมการบริหารความเสี่ยงอย่างน้อยหนึ่งคนต้องเป็นกรรมการอิสระ
คณะกรรมการจะแต่งตั้งกรรมการบริหารความเสี่ยงคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง และให้หัวหน้าหน่วยงานบริหารความเสี่ยง เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
ข้อ 4. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
กรรมการบริหารความเสี่ยงต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
(1) | เป็นกรรมการ ปตท.สผ. และไม่ใช่ประธานคณะกรรมการ ปตท.สผ. หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร | |
(2) | สามารถอุทิศเวลาอย่างเพียงพอในการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง | |
(3) | กรรมการบริหารความเสี่ยงที่เป็นกรรมการอิสระ ต้องมีความเป็นอิสระตามการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ปตท.สผ. |
ข้อ 5. หน้าที่และความรับผิดชอบ
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
(1) | กำหนดนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กร (Enterprise Risk Management Policy and Framework) รวมถึงให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการและฝ่ายจัดการ ในเรื่องการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร | |
(2) | พิจารณาการกำหนดระดับความเสี่ยงที่องค์กรยอมรับได้ (Risk Appetite) ก่อนนำเสนอคณะกรรมการเพื่ออนุมัติ และกำหนดเกณฑ์และขอบเขตของความเสี่ยง (Corporate Level Risk Metrics and Limits) พร้อมทั้งติดตามอย่างสม่ำเสมอ | |
(3) | กำกับดูแลและสนับสนุนการบริหารความเสี่ยง ให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพทั้งในระดับองค์กรตลอดจนระดับกลุ่มงาน/หน่วยงาน (Enterprise Wide Risk Management) โดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงความเสี่ยง (Risk Awareness) ในแต่ละปัจจัยเพื่อประกอบการตัดสินใจ การจัดสรรทรัพยากร และการดำเนินงานในกระบวนการต่าง ๆ อย่างเหมาะสม | |
(4) | พิจารณาความเสี่ยงที่สำคัญของบริษัทในระดับองค์กรที่สอดคล้องกับทิศทางองค์กร (Corporate Direction) ในธุรกิจที่ ปตท.สผ. เข้าไปลงทุนในด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และธุรกิจอื่น ๆ โดยให้เสนอแนะวิธีป้องกัน และวิธีลดระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ตาม ข้อ 5. (2) พร้อมทั้งติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงแผนการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสมกับสภาวะการดำเนินธุรกิจ | |
(5) | สนับสนุนหน่วยงานบริหารความเสี่ยง (Risk Management Function) ในการประเมินปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ พร้อมทั้งแนะนำประเด็นความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจมีผลกระทบในระดับองค์กร เพื่อให้มีการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับบริษัทชั้นนำ เพื่อส่งเสริมให้ ปตท.สผ. สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจได้ รวมทั้งมอบหมายงานอันเกี่ยวเนื่องกับการบริหารความเสี่ยงของ ปตท.สผ. ให้แก่หน่วยงานบริหารความเสี่ยงได้โดยตรง | |
(6) | รายงานผลการกำกับดูแลการประเมินความเสี่ยงและการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงต่อคณะกรรมการเพื่อทราบเป็นประจำ ในกรณีที่มีเรื่องสำคัญซึ่งกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ต้องรายงานต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาโดยเร็วที่สุด | |
(7) | เปิดเผยรายงานของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท | |
(8) | พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับระเบียบนี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมและทันสมัยอยู่เสมอ | |
(9) | ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย อันเกี่ยวเนื่องกับการบริหารความเสี่ยงของ ปตท.สผ. |
ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงอาจขอความเห็นจากที่ปรึกษาอิสระ เมื่อเห็นว่ามีความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งให้กรรมการบริหารความเสี่ยงได้รับการอบรมและเสริมสร้างความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานบริหารความเสี่ยงด้วย โดยบริษัทเป็นผู้รับค่าใช้จ่าย
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ต่อคณะกรรมการโดยตรงโดยคณะกรรมการรับผิดชอบในการดำเนินการทุกประการของบริษัทต่อบุคคลภายนอก
ข้อ 6. วาระและค่าตอบแทน
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีวาระอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริษัท
เมื่อมีกรรมการบริหารความเสี่ยงพ้นจากตำแหน่ง หรือมีเหตุใดที่กรรมการบริหารความเสี่ยงไม่สามารถอยู่ได้จนครบวาระ คณะกรรมการจะต้องแต่งตั้งกรรมการบริหารความเสี่ยงรายใหม่แทนให้ครบถ้วนอย่างช้าภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่จำนวนกรรมการไม่ครบถ้วน
เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการบริหารความเสี่ยงขึ้นใหม่ ให้กรรมการบริหารความเสี่ยงซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่ง เพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการบริหารความเสี่ยงซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการบริหารความเสี่ยงซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการบริหารความเสี่ยงพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และบริษัทต้องเปิดเผยค่าตอบแทนไว้ในรายงานประจำปีของบริษัทด้วย
ข้อ 7. การประชุม
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงต้องประชุมอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง
การประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ต้องมีกรรมการบริหารความเสี่ยงมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารความเสี่ยงทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการบริหารความเสี่ยงที่มาประชุมเลือกกรรมการบริหารความเสี่ยงคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการบริหารความเสี่ยงคนหนึ่งให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเพื่อชี้ขาด ทั้งนี้ เลขานุการคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
กรรมการบริหารความเสี่ยงผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด หรือมีส่วนได้เสียใด ๆ ในเรื่องที่พิจารณา จะต้องแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และงดให้ความเห็น งดออกเสียง และออกจากห้องประชุม ยกเว้นที่ประชุมโดยไม่รวมกรรมการที่มีส่วนได้เสียมีมติเอกฉันท์ให้กรรมการผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลในการประชุมเพื่อความรอบคอบในการพิจารณาตัดสินใจ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงหรือตัดสินใจในเรื่องนั้น ๆ
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีอำนาจเชิญฝ่ายจัดการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุม หรือขอให้ชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้
ข้อ 8. การรายงาน
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงต้องรายงานผลการประชุม หรือรายงานอื่นใดที่เห็นว่าคณะกรรมการควรทราบต่อคณะกรรมการเป็นประจำ
ข้อ 9. หน่วยงานบริหารความเสี่ยง
หน่วยงานบริหารความเสี่ยง มีภารกิจเพื่อสนับสนุนคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ดังต่อไปนี้
(1) | ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง จัดทำมติ และรายงานการประชุมอย่างครบถ้วนและถูกต้อง รวมทั้งติดตาม แจ้งคำสั่งหรือมติดังกล่าวให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ และดำเนินการ | |
(2) | รายงานประเด็นความเสี่ยงระดับองค์กร และความเสี่ยงระดับปฏิบัติการที่มีนัยสำคัญ พร้อมทั้งแนวทางบริหารความเสี่ยง และความคืบหน้าของการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยง อย่างสม่ำเสมอและทันท่วงที |
|
(3) | รายงานประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญของข้อเสนอการลงทุนต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อประกอบการกลั่นกรองข้อเสนอการลงทุนดังกล่าว | |
(4) | ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายอันเกี่ยวเนื่องกับการบริหารความเสี่ยงของ ปตท.สผ. |
ข้อ 10. วันที่มีผลใช้บังคับ
ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2564
ปตท.สผ. ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้องค์กรบรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และกลยุทธ์ ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ปี 2565 ยังคงเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างยิ่งในการบริหารความเสี่ยง ทั้งในเรื่องความผันผวนของราคาน้ำมันจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศต่าง ๆ ที่ ปตท.สผ. เข้าไปลงทุน ได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) และสาธารณรัฐโมซัมบิก (โมซัมบิก) การเปลี่ยนผ่านสิทธิและเข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการจี 1/61 และโครงการจี 2/61 ในประเทศไทย และโครงการยาดานา ในประเทศเมียนมา ปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ "อนาคตคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Future)" และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) ที่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด (Disruptive Technology) ดังนั้น คณะกรรมการ ปตท.สผ. จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วย กรรมการ ปตท.สผ. รวม 4 คน ซึ่งเป็นกรรมการอิสระ 4 คน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงองค์กรในภาพรวมให้อยู่ภายใต้นโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยงที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ปตท.สผ.
ในรอบปี 2565 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีการประชุมรวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง ซึ่งรวมการประชุมร่วมกับคณะกรรมการตรวจสอบจำนวน 1 ครั้ง โดยสรุปสาระสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ ได้ดังนี้
1) | กำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ เพื่อตอบสนองปัจจัยแวดล้อมภายในและภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปและเพื่อให้มั่นใจว่า ปตท.สผ. จะสามารถดำเนินการได้ตามแผนกลยุทธ์ Drive Value – การเติบโตในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม Decarbonize – การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ Diversify – การเติบโตในธุรกิจใหม่ โดยได้พิจารณาการดำเนินการตามบทบาทของปตท.สผ. ทั้งในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างยั่งยืน และการขยายการลงทุนไปในธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังได้พิจารณากลั่นกรองแผนธุรกิจปี 2566 แผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2566-2570) และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ซึ่งได้ปรับให้สอดรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ และสอดคล้องกับทิศทางและนโยบายการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์อีกด้วย |
2) | ติดตามการบริหารความเสี่ยงของโครงการปัจจุบันให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิผล อาทิ การเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการของโครงการจี 1/61 และโครงการจี 2/61 ในประเทศไทย การเข้าเป็นผู้ดำเนินการของโครงการยาดานาในประเทศเมียนมา ส่งผลให้โครงการสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย การติดตามสถานการณ์ความไม่สงบและแผนการดำเนินงานในประเทศเมียนมาและประเทศโมซัมบิก พร้อมทั้งให้คำแนะนำมาตรการรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาการต่ออายุสัญญาแบ่งปันผลผลิตโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) การขยายระยะเวลาผลิตและการสำรวจปิโตรเลียมสำหรับโครงการต่าง ๆ ที่กำลังจะหมดลง เช่น โครงการมาเลเซียเอสเค 309 ประเทศมาเลเซีย และ โครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย ซี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น โดยพิจารณาทั้งประเด็นความเสี่ยงควบคู่กับความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้โครงการสามารถดำเนินการผลิตและสำรวจได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ |
3) | พิจารณากลั่นกรองการขยายการลงทุนและการบริหารจัดการสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P Portfolio) โดยพิจารณาการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero GHG Emissions และเน้นการลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติ เช่น การประมูลแปลงสำรวจในอ่าวไทย การลงทุนในโครงการ ชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพิจารณากลั่นกรองการลดสัดส่วนหรือยุติการลงทุนตามแผนกลยุทธ์ เช่น การยุติการลงทุนในโครงการเยตากุนและบริษัทท่อขนส่งก๊าซ Taninthayi Pipeline Company LLC หรือ TPC ในประเทศเมียนมา การขายหุ้นหรือขายสัดส่วนการลงทุนในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการบารารินเนียส์เอพี1 และโครงการบราซิล บีเอ็ม อีเอส 23 สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล โดยให้ข้อคิดเห็นทั้งประเด็นความเสี่ยงควบคู่กับโอกาสการเพิ่มมูลค่าในการเข้าลงทุน ทางเลือกในการลดสัดส่วนหรือยุติการลงทุน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางจัดการและติดตามประเด็นความเสี่ยง ในการนี้ ส่งผลให้การลงทุนของ ปตท.สผ. เป็นไปตามทิศทางการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง |
4) | พิจารณากลั่นกรองและให้คำแนะนำในการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคต ได้แก่ โอกาสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน กลยุทธ์การลงทุนในเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน รวมถึงเชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยให้ข้อคิดเห็นถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจ ประเด็นความเสี่ยง และโอกาสการเพิ่มมูลค่าในการเข้าลงทุน เช่น การวิเคราะห์ทางเลือกในการเข้าลงทุน การร่วมทุนกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อเรียนรู้และต่อยอดทางธุรกิจ หรือการกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการตัดสินใจถอนตัวออกจากธุรกิจ เป็นต้น |
5) | พิจารณาแนวทางการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ติดตามทิศทางราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการนำเครื่องมือมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบมากขึ้น การวิเคราะห์ทิศทางราคาน้ำมันแบบ Scenario และรูปแบบการทำประกันที่มีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และลดผลกระทบต่อกำไรสุทธิจากราคาน้ำมันที่ยังคงมีความผันผวนอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้นำบทเรียนจากการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันในอดีตมารวบรวมเป็นองค์ความรู้ ส่งผลให้การทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันของ ปตท.สผ. บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ |
6) | มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านการบริหารความเสี่ยง เพื่อสนับสนุนแนวทางการตรวจสอบแบบ Risk-based Audit โดยมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองประเด็นความเสี่ยงองค์กรกับแผนงานตรวจสอบ รวมถึงติดตามประเด็นความเสี่ยงสำคัญร่วมกัน เช่น การจัดการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น ทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนจากโครงการลงทุนเพื่อเก็บเป็นองค์ความรู้ เช่น ความคืบหน้าของโครงการ Oman Block 61 ภายหลังการเข้าร่วมทุนครบ 1 ปี (Post Project Review) ซึ่งทำให้การพิจารณาโครงการลงทุนอื่น ๆ ในอนาคตมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น |
นอกเหนือจากเรื่องข้างต้น คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงยังได้กำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงสำคัญขององค์กรอย่างต่อเนื่องให้อยู่ภายในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ความเสี่ยงด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความเสี่ยงด้านกฎหมาย ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) เป็นต้น และรายงานผลการประชุมและข้อคิดเห็นให้คณะกรรมการ ปตท.สผ. รับทราบเป็นประจำทุกเดือน
กล่าวโดยสรุป คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระ ในการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงของ ปตท.สผ. ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างครบถ้วน ด้วยความรอบคอบและเต็มความสามารถ ตามขอบเขต อำนาจ และหน้าที่ที่ระบุในระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ส่งผลให้การบริหารความเสี่ยงของ ปตท.สผ. เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายขององค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ ปตท.สผ. ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในระยะยาว
นายปิติพันธ์ เทพปฏิมากรณ์
(นายปิติพันธ์ เทพปฏิมากรณ์)
ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง