
ประกาศ
ประเด็นถามตอบเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทในเคย์แมน ไซปรัส เบอร์มิวดา และบาฮามาส
1. การตั้งบริษัทในเคย์แมนมีวัตถุประสงค์เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ใช่หรือไม่
การจัดตั้งบริษัทของ ปตท.สผ. ในเคย์แมน ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการฟอกเงินหรือหลบเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด การจัดตั้งบริษัทดังกล่าวเป็นไปเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการการลงทุน และลดความเสี่ยงของการลงทุน เนื่องจากเคย์แมนมีกฎหมายการจัดตั้งบริษัท การเพิ่มทุน การลดทุน และการปิดบริษัทที่ไม่ยุ่งยาก รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการจัดการที่ต่ำ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปของบริษัทน้ำมันนานาชาติรายใหญ่ทั่วโลก โดย ปตท.สผ. มีการเสียภาษีทั้งในประเทศไทยและประเทศที่ลงทุนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
2. การตั้งบริษัทในเคย์แมนเพื่อใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน โดยดูดเงินออกจากระบบการควบคุมภายใน และทำให้ตรวจสอบไม่ได้ ใช่หรือไม่
การจัดตั้งบริษัทของ ปตท.สผ. ในเคย์แมน ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการฟอกเงิน แต่เพื่อความคล่องตัวในการลงทุนตามที่ได้กล่าวแล้ว ในด้านธุรกรรมการเงิน ปตท.สผ. ไม่มีการเปิดบัญชีธนาคารในเคย์แมน โดยบัญชีของบริษัทในเคย์แมนเป็นบัญชีที่เปิดในประเทศไทยหรือในประเทศที่บริษัทไปลงทุน ซึ่งขั้นตอนการเปิดบัญชีและธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นเป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ โดยมี ปตท.สผ. สำนักงานใหญ่เป็นผู้บริหารจัดการและดูแลบัญชีดังกล่าวตามหลักการควบคุมภายในของบริษัท และมีคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กำกับดูแลเพื่อความถูกต้องและโปร่งใส
3. บริษัทในเคย์แมนมีความโปร่งใสเพียงใด เคยได้รับการตรวจสอบบ้างหรือไม่ มีใครเป็นผู้ตรวจสอบกำไรขาดทุนหรือไม่ ขัดกับหลักบรรษัทภิบาลที่บริษัทควรมีต่อผู้ถือหุ้น หรือไม่
งบการเงินของบริษัทในเคย์แมนทุกบริษัทผ่านการตรวจสอบและรับรองโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยกเว้นบริษัท Taninthayi Pipeline Company LLC ซึ่งเป็นกิจการที่ควบคุมร่วมกัน โดย ปตท.สผ. ถือหุ้น 19.3178% และมีบริษัท Ernst & Young เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี นอกจากนี้ ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปตท.สผ. ได้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีการบริหารงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4. ทำไมต้องมีการรีบร้อนปิดบริษัทในเกาะเคย์แมนที่ถูกค้นพบ มีคนตั้งข้อสังเกตุว่าคือการทำลายหลักฐานเพื่อไปหาที่ซ่อนเงินไกลตาใหม่หรือเปล่า?
ปตท.สผ. ไม่ได้รีบร้อนแต่อย่างใด ในการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา ปตท.สผ. มีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นบริษัทในเครืออย่างต่อเนื่องเพื่อความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และลดภาระค่าใช้จ่าย โดยบริษัทจะพิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสมตามสภาพแวดล้อมของกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอาจเป็นการเพิ่มหรือลดบริษัทในเครือ ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ก็มีการลดจำนวนบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศ เช่น ในประเทศไทยมีการปิดบริษัทไปแล้ว 3* บริษัท ในเคย์แมนปิดไปแล้ว 6 บริษัท หลังจากที่แปลงสัมปทานปิโตรเลียมไม่ประสบความสำเร็จในการสำรวจและได้มีการคืนให้กับรัฐ ปตท.สผ. จึงพิจารณาปิดบริษัทในเครือที่เปิดขึ้นเพื่อรองรับแปลงดังกล่าว
5. ทำไม ปตท.สผ. จึงไปเปิดบริษัท Cove Energy ในไซปรัสซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นเกาะฟอกเงินและมีวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2556 ถือได้ว่ามีความเสี่ยงสูงทางการเงิน ทั้งๆ ที่ Cove Energy ถือแหล่งสัมปทานในประเทศโมซัมบิกซึ่งอยู่ในแอฟริกา
ปตท.สผ. มีบริษัทในเครือที่จดทะเบียนที่ประเทศไซปรัส จำนวน 3 บริษัท ซึ่งถือหุ้นโดย ปตท.สผ. 100% บริษัทในเครือทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว เป็นบริษัทย่อยของบริษัท Cove Energy และเป็นกลุ่มบริษัทที่ถือสัมปทานในประเทศโมซัมบิกตามโครงสร้างเดิมก่อนที่ ปตท.สผ. เข้าซื้อหุ้นในปี 2555 ในตลาด Alternative Investment Market (AIM) ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์รองของประเทศอังกฤษ (คล้ายกับ MAI ของประเทศไทย) โดยผู้ถือหุ้นเดิมของ Cove Energy ในขณะนั้นคือนักลงทุนสถาบันทั่วไปที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอังกฤษ หลังจากการเข้าซื้อดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ ปตท.สผ. ได้เริ่มทำการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่ม Cove Energy เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เช่นเดียวกับการดำเนินการในประเทศอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ ปตท.สผ. ยังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบหากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากเดิม รายชื่อของบริษัทในเครือที่จัดตั้งที่ประเทศไซปรัส ได้แก่
- Cove Energy East Africa Limited (CEEAL)
- Cove Energy Mozambique Rovuma Offshore Limited (CEMROFL)
- Cove Energy Mozambique Rovuma Onshore Limited (CEMROL)
6. การเปิดบริษัทท่อส่งก๊าซในเบอร์มิวดา โดยบริษัทลูกหลาน ปตท.มีหุ้นอยู่25% เปิดบริษัทท่อส่งก๊าซ 2 บริษัทในเคย์แมนที่ถือหุ้น 19.3178% และอีกบริษัท 80% ส่วนบริษัทที่เปิดที่เกาะบาฮามาส เป็นธุรกิจให้เช่าเรือถือหุ้นเพียง 13.11%เป็นเรื่องน่าสังเกตว่า หุ้นที่เหลือใครเป็นผู้ถือบ้าง มีนักการเมือง ข้าราชการ หรือกรรมการ ปตท.ไปถือหุ้นด้วยหรือไม่? มีรายละเอียดตรวจสอบได้หรือไม่
สำหรับบริษัทในเครือที่จัดตั้งที่เบอร์มิวดา เคย์แมน และบาฮามาสที่กล่าวถึง มีลักษณะเป็นบริษัทร่วมทุนเพื่อทำธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ท่อขนส่งก๊าซจากประเทศเมียนมาร์มาประเทศไทย และการให้เช่าเรือกักเก็บน้ำมันในอ่าวไทย โดยผู้ถือหุ้นรายอื่นในบริษัทในเครือเหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำระดับโลกและหน่วยงานรัฐในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มิได้เป็นนักการเมือง ข้าราชการ หรือกรรมการ ปตท.อย่างที่มีการตั้งข้อสงสัย รวมทั้ง ปตท.สผ. ไม่มีการเปิดบัญชีธนาคารในไซปรัส บาฮามาส เคย์แมน และเบอร์มิวดา บัญชีธนาคารของบริษัทเหล่านี้ที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ เป็นบัญชีที่เปิดในประเทศไทย และประเทศที่เข้าไปลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเท่านั้น
ทั้งนี้ งบการเงินของบริษัทในเครือทุกบริษัทที่กล่าวถึงข้างต้นได้รับการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ทีได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC)เอินส์ท แอนด์ ยัง (EY) และเคพีเอ็มจี (KPMG) บริษัทเปิดเผยข้อมูลบริษัทในเครือ ลักษณะธุรกิจและรายชื่อบริษัทที่ร่วมทุนที่กล่าวมาทั้งหมด ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมทางธุรกิจ โดยเผยแพร่ผ่านทาง แบบ 56-1 ที่เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานประจำปี และเว็บไซต์ ซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณะ ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน และตรวจสอบได้ โดยมีรายละเอียดการดำเนินธุรกิจและโครงสร้างผู้ถือหุ้นดังนี้
บริษัทในเครือ ปตท.สผ. |
ประเทศที่จดทะเบียน |
ลักษณะธุรกิจ |
สัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท.สผ. |
สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอื่น |
||||||
Moattama Gas Transportation Company (MGTC) |
เบอร์มิวดา |
ท่อขนส่งก๊าซ |
25.5% |
|
||||||
TaninthayiPipeline CompanyLLC (TPC) |
เคย์แมน |
ท่อขนส่งก๊าซ |
19.31784% |
|
||||||
Andaman Transportation Limited (ATL) |
เคย์แมน |
ท่อขนส่งก๊าซ |
80% |
|
||||||
Erawan 2 FSO Bahamas Limited (Erawan 2) |
บาฮามาส |
ให้เช่าเรือ FSO |
13.11% |
|
* หมายเหตุ: รวมถึง บริษัท ปตท.สผ. อันดามัน จำกัด ซึ่งอยู่ในระหว่างการชำระบัญชี