ข่าวและประกาศ

ปตท.สผ. แจงกำไรสุทธิไตรมาสแรก 349 ล้านดอลลาร์ สรอ. รับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

27 เม.ย. 2560

  • รายได้รวมสูงขึ้นจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
  • ต้นทุนต่อหน่วยอยู่ในระดับต่ำที่ 27.54 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
  • เร่งรัดโครงการต่างๆที่มีอยู่ในมือ เพื่อเพิ่มปริมาณขายในระยะยาว
  • พร้อมร่วมประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในอ่าวไทย เชื่อมั่นว่าจะสามารถรักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติได้

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 1 ปี 2560 ด้วยกำไรสุทธิที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 349 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 12,284 ล้านบาท) ซึ่งโดยหลักเป็นผลจากสัญญาณบวกของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกส่งผลให้ราคาขายผลิตภัณฑ์ของ ปตท.สผ. ปรับสูงขึ้นเป็น 38 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ พร้อมทั้งสามารถรักษาต้นทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำตามแผนที่วางไว้ ประกอบกับมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ ปตท.สผ. สามารถรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับแผนการลงทุนและการเข้าซื้อกิจการ พร้อมเข้าประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่กำลังจะหมดอายุสัมปทาน

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. เปิดเผยว่าในไตรมาส 1 ปี 2560 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 1,092 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 38,377 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2559 ซึ่งมีรายได้ 1,085 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 38,692 ล้านบาท) ถึงแม้ว่า ปตท.สผ. จะมีปริมาณขายที่ปรับลดลงจาก 329,858 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันเป็น 304,108 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งเป็นผลหลักจากปริมาณขายที่ลดลงของโครงการในออสเตรเลียและการขายโครงการผลิตในโอมาน ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีผลกำไรสุทธิที่ 349 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 12,284 ล้านบาท) สูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 โดยเป็นส่วนของกำไรจากการดำเนินงานตามปกติ (Recurring Net Income) จำนวน 211 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 7,437 ล้านบาท) ซึ่งเป็นผลหลักจากการปรับตัวขึ้นของราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยมาอยู่ที่ 38 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ประมาณ 35 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ประกอบกับต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) ในไตรมาสนี้ที่ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหลักจากการลดลงของค่าเสื่อมราคาซึ่งแปรผันตามกิจกรรมการลงทุน และปริมาณปิโตรเลียมสำรอง (Reserves) ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยปรับลดมาอยู่ที่ 27.54 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเทียบกับต้นทุนต่อหน่วยในไตรมาส 1 ปี 2559 ที่ 28.57 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมีกำไรจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-recurring) จำนวน 138 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 4,847 ล้านบาท) โดยหลักเกิดจากผลประโยชน์ทางภาษีจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และการรับรู้กำไรจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (oil price hedging) ผลการดำเนินงานข้างต้นส่งผลให้ ปตท.สผ. สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไรโดยมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA Margin) สูงถึงร้อยละ 74 และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ 688 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปตท.สผ. มีเงินสดในมือกว่า 4,400 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 153,158 ล้านบาท)

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2560 ปตท.สผ. มีสินทรัพย์ จำนวน 19,251 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 663,207 ล้านบาท) มีหนี้สินรวม จำนวน 7,800 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 268,710 ล้านบาท) โดยเป็นหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจำนวน 2,863 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 98,616 ล้านบาท) และมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 11,451 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 394,497 ล้านบาท)           

ทิศทางการดำเนินงานปี 2560

สำหรับการดำเนินงานในปี 2560 นั้น  ปตท.สผ. มองว่าด้วยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากความร่วมมือตามข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและกลุ่มนอกโอเปก โดยคาดว่าในครึ่งแรกของปี 2560 ราคาน้ำมันน่าจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 50-55 ดอลลาร์ สรอ. ซึ่งจะส่งผลบวกกับราคาผลิตภัณฑ์เฉลี่ยของ ปตท.สผ. ทั้งปี และ ปตท.สผ. ยังคงมีความพยายามในการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ประมาณการต้นทุนต่อหน่วยที่ 29 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบสำหรับปี 2560 ลดลงจากต้นทุนต่อหน่วยของปี 2559 ที่ 30.46 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขายเฉลี่ยของ ปตท.สผ. มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยอาจจะอยู่ในช่วง 300,000 - 310,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เป็นผลจากความไม่แน่นอนของปริมาณการเรียกก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของผู้ซื้อ ที่ได้รับผลกระทบจากราคา LNG ในตลาดจร (spot LNG) ที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้มีแนวทางในการลดผลกระทบดังกล่าวโดยการปรับแผนการผลิตซึ่งจะเน้นการผลิตจากหลุมที่มีปริมาณคอนเดนเสทเพื่อชดเชยปริมาณการขายและรายได้จากก๊าซธรรมชาติที่อาจจะลดลง ในขณะเดียวกันเพื่อเสริมกำลังการผลิตในระยะยาว ปตท.สผ. จะต้องเร่งรัดการพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในมือ เช่น โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน และแหล่งอุบลในโครงการคอนแทร็ค 4 เป็นต้น

ในส่วนของแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุในปี 2565-2566 นั้น ปตท.สผ. ยืนยันถึงความพร้อมที่จะเข้าประมูลแหล่งสัมปทานดังกล่าว

“เราเชื่อว่าประสบการณ์และความชำนาญในการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งบงกช ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินงานเกือบ 20 ปี จะทำให้ ปตท.สผ. สามารถดำเนินการในการผลิตก๊าซได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานเป็นอย่างดี มีต้นทุนที่แข่งขันได้ ที่สำคัญคือสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยในอนาคต  นายสมพร กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังคงแสวงหาโอกาสในการร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (LNG Value Chain) โดยจะมีความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายในปีนี้ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการที่อยู่ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ ปตท.สผ. มีความชำนาญและสามารถดำเนินการได้ด้วยต้นทุนและความเสี่ยงต่ำ

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกบริหารงานสื่อมวลชน
ต้องจิตร พงศ์อรพินท์ โทร. 02 537 4587
นลิน วิบูลย์ชาติ โทร. 02 537 4834
E-mail: PTTEPCorpCom@pttep.com

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความก้าวหน้าในโครงการที่สำคัญของ ปตท.สผ. ในไตรมาส 1 ปี 2560

ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2560 ปตท.สผ. มีโครงการรวมทั้งสิ้น 37 โครงการ ใน 10 ประเทศ โดยความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรมในโครงการหลัก ๆ มีดังนี้

โครงการในประเทศไทย  มีโครงการในประเทศจำนวน 16 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้วทั้งในอ่าวไทยและบนบก โดยโครงการผลิตหลักสามารถรักษาระดับการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 และโครงการคอนแทร็ค 4 มีปริมาณการขายเฉลี่ยรวมที่ประมาณ 235,996 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 78 ของปริมาณการขายเฉลี่ยทั้งหมดของบริษัท

โครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งหมด 14 โครงการใน 4 ประเทศ คือ เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยมีปริมาณการขายเฉลี่ยรวมในไตรมาส 1 ที่ 52,600 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณการขายทั้งหมด โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญของโครงการต่างๆ เช่น โครงการซอติก้า สามารถรักษาปริมาณการผลิตได้ตามเป้าหมาย โดยอยู่ระหว่างการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมสำหรับเฟส 1B และก่อสร้างแท่นหลุมผลิตเฟส 1C อีก 4 แท่น เพื่อรักษาอัตราการผลิต ในไตรมาสนี้โครงการมีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 272 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ประมาณ 42,345 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) โครงการเวียดนาม 16-1 ในไตรมาส 1 ปี 2560 โครงการมีปริมาณการขายน้ำมันดิบเฉลี่ย 20,206 บาร์เรลต่อวัน โดยสามารถเริ่มดำเนินการผลิตครั้งแรกจากหลุมพัฒนาจำนวน 3 หลุมตามแผนที่วางไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระดับการผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการขุดเจาะหลุมประเมินผลและหลุมพัฒนาเพิ่มเติมจำนวน 2 หลุม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2560 โครงการเมียนมาร์ เอ็ม 11 และ โครงการเมียนมาร์ MD-7 ปัจจุบันโครงการทั้งสองอยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างทางธรณีวิทยาและประเมินศักยภาพของแหล่งกักเก็บ โครงการเมียนมาร์ เอ็มโอจีอี 3 ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างดําเนินงานสำรวจคลื่นไหวสะเทือนแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2560 และ โครงการซาราวักเอสเค 410 บี ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อการสำรวจคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ โดยจะเริ่มดำเนินการสำรวจในช่วงกลางปี 2560

โครงการในทวีปอเมริกา โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประเทศแคนาดา อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการดำเนินงานในอนาคต โดยจะเน้นการศึกษาเพื่อลดต้นทุนและลดความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการ โครงการบารารินเนียส์ เอพี 1 ประเทศบราซิล อยู่ระหว่างการดำเนินการประมวลผลข้อมูลคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ เพื่อศึกษาและประเมินศักยภาพปิโตรเลียม ส่วนโครงการบราซิล บีเอ็ม อีเอส 23 อยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนา

โครงการในออสตราเลเชีย แหล่ง Montara ในโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 10,653 บาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับแผนการผลิตที่วางไว้ และแหล่ง Cash Maple อยู่ระหว่างการศึกษาวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED Study) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 เพื่อหาแนวทางพัฒนาโครงการต่อไป

โครงการในแอฟริกา โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ประสบความสำเร็จในการค้นพบอัตราการไหลของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ เป็นผลให้โครงการเร่งเตรียมแผนพัฒนาโครงการเพื่อนำส่งต่อรัฐบาลแอลจีเรียภายในปี 2560 โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน มีความคืบหน้าที่สำคัญในเรื่องสัญญาสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกับรัฐบาลโมซัมบิก โดยมีการประกาศให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว และได้รับอนุมัติแผนการโยกย้ายชุมชนออกจากบริเวณการก่อสร้าง ขณะเดียวกันโครงการอยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวกับผู้ซื้อ และการเจรจาสัญญาเงินกู้ในรูปแบบของ Project Finance กับสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายต่อไป


The information, statements, forecasts and projections contained herein reflect the Company’s current views with respect to future events and financial performance.   These views are based on assumptions subject to various risks.   No assurance is given that these future events will occur, or that the Company’s future assumptions are correct.   Actual results may differ materially from those projected.