Menu

โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS)

โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) คือหนึ่งในแผนการดำเนินงานสำคัญของ ปตท.สผ. เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายของบริษัทในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมและของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) เกี่ยวกับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero greenhouse gas emissions) ในปี 2608

'"/
CCS เป็นกระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวร โดยไม่ปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ มีการบริหารจัดการ การติดตาม และตรวจสอบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บอย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยในทุกขั้นตอน เทคโนโลยี CCS มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ หลายประเทศจึงวางแผนให้เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีรูปแบบอื่น
 
ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก โดยนำเทคโนโลยีด้านการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน มาประยุกต์ใช้ในภาคพลังงาน และภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย




ปตท.สผ. ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการ CCS โดยได้ริเริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2564 ที่แหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ โดยได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) แล้ว ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ได้ในปี 2570 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมได้ในปริมาณมาก

นอกจากนี้ ปตท.สผ. อยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ที่แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค 410บี ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่บริษัทค้นพบในประเทศมาเลเซียด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม โครงการ CCS ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย และปัจจัยส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและองค์กรหลาย ๆ ฝ่ายในการผลักดันและส่งเสริมการนำเทคโนโลยี CCS มาใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย

นอกจากโครงการพัฒนา CCS ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ในการก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตแล้ว ปตท.สผ. ยังให้ความสนใจในโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ พลังงานใหม่ในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน รวมถึง การดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) อีกด้วย



  • เดือนธันวาคม 2566 ปตท.สผ. ได้ลงนามข้อตกลงในการร่วมศึกษาและประเมินศักยภาพชั้นหินทางธรณีวิทยาเพื่อกักเก็บคาร์บอนบริเวณอ่าวไทยตอนบน กับ Japan Organization for Metals and Energy Security (JOGMEC) และ INPEX CORPORATION จากประเทศญี่ปุ่น การศึกษาดังกล่าวอยู่ภายใต้ความร่วมมือระดับประเทศของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกรม‍เชื้อเพลิงธรรมชาติ และ JOGMEC ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีข้อมูลด้านธรณีวิทยาที่จำเป็นต่อการวางแผนพัฒนาโครงการ CCS ในอ่าวไทย รวมทั้ง เพื่อสนับสนุนการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย
  • เดือนเมษายน 2565 ปตท.สผ. ได้ร่วมมือกับบริษัท อินเป็กซ์ คอร์ปอเรชั่น และเจจีซี โฮลดิ้งส์ คอร์ปอเรชั่น พันธมิตรที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการ CCS จากประเทศญี่ปุ่น โดยจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ CCS ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย เพื่อรองรับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในอนาคต
  • เดือนมิถุนายน 2565 ปตท.สผ. ได้ร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ในโครงการศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Eastern Thailand CCS Hub โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรี (Seaboard) เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง
  • เดือนกรกฎาคม 2565 ปตท.สผ. ได้ร่วมการประกาศจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS Technology Development Consortium) นำโดยศูนย์เทคโนโลยีและวิศวกรรมเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green economy Technology & Engineering Center) หรือศูนย์ BCGeTEC คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อศึกษาพัฒนา และผลักดันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี CCUS ให้กับประเทศไทย โดยมีหน่วยงานจากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้าเป็นสมาชิกร่วม ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐและองค์กรสาธารณะในฐานะที่ปรึกษา
ติดตามแนวทางการดำเนินงานของ ปตท.สผ. เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 ได้ที่นี่
 
อ่านบทความ “CCS” ได้ที่นี่