Menu

สิทธิมนุษยชน

ความสำคัญและความมุ่งมั่น

ปตท.สผ. มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติต่อพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายโดยให้ความเคารพต่อกฎหมายท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยมและหลีกเลี่ยงการมีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้บริษัทได้ผลักดันเจตนารมณ์ดังกล่าวให้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยคาดหวังว่าพนักงาน บริษัทคู่ค้าและผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานในนามของบริษัทจะยึดมั่นในหลักการเดียวกันและให้ความสำคัญในการนำหลักสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างครบถ้วนในทุกด้าน

พันธสัญญาในด้านสิทธิมนุษยชน

ปตท.สผ. ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนในทุกพื้นที่ที่บริษัทเข้าไปดำเนินการ ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ กรอบความรับผิดชอบต่อสังคม และปรัชญาการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งตั้งอยู่บนแนวทางของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ปฏิญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เรื่องหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน (Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) ที่สำคัญคือ ปตท.สผ. เป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมเป็นภาคีของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact - UNGC) ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งต้องรายงานกระบวนการที่ได้นำไปปฏิบัติในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดย UNGC มุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่าธุรกิจจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมจากการปฏิบัติตามหลัก 10 ประการของ UNGC ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 บริษัทได้เข้าร่วมรายงานความก้าวหน้าการปฏิบัติตามเกณฑ์ทั้ง 10 ประการของ UNGC (Communication on Progress - CoP) ซึ่งหลักการ 1-2 เกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชน หลักการ 3-6 เกี่ยวกับแรงงาน และหลักการ 7-10 เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและการต่อต้านการทุจริต โดยในปี 2565 ปตท.สผ. เป็นหนึ่งในกว่า 850 บริษัทจากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมใน Early Adopter Programme เพื่อร่วมทดลองและพัฒนาระบบใหม่ของการรายงานความก้าวหน้าการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ UNGC (UNGC Communication on Progress) นอกจากนี้ นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของ ปตท.สผ. ยังอ้างอิงตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights - UNGP) หรือ Ruggie Framework และหลักการความสมัครใจด้านความมั่นคงและสิทธิมนุษยชน (Voluntary Principles on Security and Human Rights) รวมถึงความมุ่งมั่นในการเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ กับแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights - NAP) ในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ปตท.สผ. ยังคาดหวังให้พนักงานของบริษัทปฏิบัติตามนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทและมุ่งมั่นร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจและคู่ค้าในการดำเนินธุรกิจใด ๆ ของบริษัทโดยยึดมั่นในหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ

กลุ่ม ปตท.สผ. ยึดมั่นในการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจในการดำเนินธุรกิจ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคม ปตท.สผ. มุ่งเน้นให้บุคลากรและสถานประกอบการของบริษัทนำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ตลอดจนติดตามผลและปรับปรุงแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ค้าและคู่ค้าทางธุรกิจปฏิบัติเช่นเดียวกัน ซึ่งในด้านห่วงโซ่อุปทานนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานอย่างปลอดภัย ยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปตท.สผ. ได้ดำเนินการสื่อความและให้คู่ค้าและผู้รับเหมาของ ปตท.สผ. ลงนามรับทราบเจตจำนงดังกล่าวของบริษัท ผ่านแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้าของบริษัท โดยบริษัทได้กำหนดกระบวนการประเมินและตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ค้าทั้งก่อนการสรรหาและระหว่างการดำเนินงานตามสัญญา โดยเฉพาะคู่ค้าที่สำคัญ (Critical Supplier) และกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานของคู่ค้าเป็นไปตามมาตรฐาน สัญญา จรรยาบรรณ การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงอันอาจเกิดต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

แนวทางการบริหารจัดการ

ในการนำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และแสดงให้เห็นถึงการเคารพในสิทธิมนุษยชนและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เชื่อมโยงโดยตรงกับกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัท ปตท.สผ. ได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนโดยครอบคลุมกระบวนการสำคัญดังนี้ (1) การตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน (2) การร้องเรียนและการเยียวยา (3) การปลูกฝังความรับผิดชอบและสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีรายละเอียดดังนี้

การตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence)

ปตท.สผ. จัดให้กระบวนการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence Process) เป็นส่วนหนึ่งของระบบการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยงทางด้านสิทธิมนุษยชน การกำหนดแผนและแนวทางการแก้ไขเพื่อลดความเสี่ยงที่มีระดับปานกลางถึงสูง รวมถึงการเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งในปี 2563 บริษัทยังจัดให้มีที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนจากภายนอกมาให้คำปรึกษาและทบทวนกระบวนการประเมินความเสี่ยง ตลอดจนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence - HRDD) อีกด้วย

นอกจากนี้ ระบบการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัท ยังได้ระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับการระบุประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจำแนกได้เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับพนักงาน ชุมชน ห่วงโซ่อุปทาน สิ่งแวดล้อม และการรักษาความปลอดภัย และพิจารณาให้ครอบคลุมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มรวมถึงพนักงาน แรงงานที่ว่าจ้างผ่านบุคคลที่สาม และกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ด้อยโอกาส เพศทางเลือก ผู้สูงอายุ เยาวชน ชนกลุ่มน้อย ชนพื้นเมือง และแรงงานข้ามชาติ โดยพิจารณาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและผลกระทบ สอดคล้องกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของ ปตท.สผ. กรอบการบริหารความเสี่ยงของกลุ่ม ปตท. แนวปฏิบัติด้าน Due Diligence ของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UNGC) และ สมาคมอุตสาหกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมปิโตรเลียม (IPIECA)

ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงในด้านสิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2557 ครอบคลุมการดำเนินงานของบริษัท ตลอดวงจรธุรกิจ กิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงธุรกิจใหม่ (เช่น กิจการควบรวม กิจการที่เข้าซื้อ และกิจการที่บริษัทเป็นผู้ร่วมทุน เป็นต้น) เพื่อประเมินและกำหนดแนวทางลดความเสี่ยงในด้านสิทธิมนุษยชนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของ ปตท.สผ. ในทุกรายการจะถูกระบุในบันทึกความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัทจัดทำขึ้น ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลักทั้งพื้นที่บนบกและนอกชายฝั่งทะเลครอบคลุมทุกระยะการดำเนินโครงการ ได้แก่ การวัดค่าความไหวสะเทือน การขุดเจาะเพื่อสำรวจและประเมินผล การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมและการผลิต การจ้างงาน การบริหารห่วงโซ่อุปทาน การบริหารความปลอดภัย ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงก่อนการเข้าซื้อกิจการหรือร่วมทุน จนกระทั่งการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น

จากการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทในปี 2565 การประเมินครอบคลุมร้อยละ 100 ของพื้นที่ปฏิบัติการทั้งหมด ที่ดำเนินการโดยบริษัท ผู้ร่วมทุน และคู่ค้าสำคัญระดับที่ 1 โดยผลของการประเมินพบร้อยละ 13 ของกิจกรรมของบริษัทมีการระบุประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนระดับกลาง ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานใน 3 ประเด็นหลัก (Salient Issues) ได้แก่ประเด็นด้าน (1) สุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิการของพนักงานและผู้รับเหมา (2) การจัดการความปลอดภัยในพื้นที่เปราะบาง รวมถึง (3) สุขภาพ ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นรอบฐานปฏิบัติการ ทั้งนี้ เมื่อมีการบริหารจัดการตามแนวทางการบริหารจัดการของบริษัท อาทิ ระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ระบบการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน แนวทางการบริหารประเด็นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น พบว่าไม่มีพื้นที่ปฏิบัติการใดมีความเสี่ยงที่เหลือ (Residual risk) อยู่ในระดับสูง

เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิ บริษัทกำหนดให้มีการทบทวนกระดานความเสี่ยงของประเด็นที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ รวมถึงระบุให้ต้องมีการติดตามความเสี่ยงที่อยู่ในระดับกลาง - สูงทั้งหมด โดยระดับความเสี่ยงสูงสุดจากการประเมินในปี 2565 อยู่ที่ระดับกลาง ใน 3 พื้นที่ปฏิบัติการที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการ (ร้อยละ 18 จาก 17 โครงการที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการ) และ 3 พื้นที่ปฏิบัติการที่บริษัทเป็นผู้ร่วมทุน (ร้อยละ 14 จาก 22 โครงการที่ดำเนินการโดยผู้ร่วมทุน) โดยพื้นที่ทั้งหมดได้มีการติดตามและจัดทำแนวทางการป้องกันบรรเทารวมถึงการเยียวยาครบถ้วนแล้วเสร็จร้อยละ 100 แล้ว

นอกจากนี้ บริษัทยังคงติดตามผลการดำเนินงานในโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน (โครงการร่วมทุนที่ ปตท.สผ. ถือหุ้นร้อยละ 8.5) โดยเฉพาะการดำเนินการย้ายชุมชนสู่แหล่งที่พักใหม่ของผู้ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าการบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดย ปตท.สผ. และผู้ร่วมทุนอื่นในโครงการได้ร่วมกันพัฒนาโครงการย้ายชุมชน (Resettlement Program) กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนมาตรการการดำเนินงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายให้เกิดความเสมอภาคและเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนน้อยที่สุด โดยโครงการพัฒนาชุมชนที่ออกแบบร่วมกันนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูให้ชุมชนที่ย้ายสู่พื้นที่ใหม่ได้ปรับตัวแต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองโดยผ่านการส่งเสริมทางด้านการเกษตร จำหน่ายอาหาร ขนส่ง และระบบน้ำชุมชนเป็นต้น

ซึ่งในปี 2563 การก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับการย้ายชุมชนระยะที่ 2 ได้เสร็จสิ้นตามกำหนดการและได้เริ่มขั้นตอนการการย้ายชุมชนเข้าที่พักอาศัยใหม่แล้วแต่ก็ต้องหยุดไปเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมื่อต้นปี 2564 ซึ่งโครงการได้ให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลประเทศโมซัมบิกในการให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมต่าง ๆ ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และในปี 2566 ได้มีการประเมินสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมเพื่อตรวจสอบผลการดำเนินการในด้านดังกล่าวที่ผ่านมาของโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน พร้อมทั้งนำเสนอแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงในมิติเศรษฐกิจสังคมและสิทธิมนุษยชนในบริเวณพื้นที่โครงการ โดยกำหนดให้มีการตรวจสอบการดำเนินการของแผนปฏิบัติการดังกล่าวตามความต้องการของบริษัทผู้ร่วมทุน เพื่อให้บรรลุตามแผนที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ จากการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 2565 ปตท.สผ. ได้ระบุประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในโครงการยาดานาและโครงการซอติก้าอันเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหารในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยมีประเด็นหลักด้านความปลอดภัยของพนักงานและผู้รับเหมาในพื้นที่ปฏิบัติการ รวมถึงประเด็นเรื่อง Operation Integrity ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานได้ เนื่องจากปัจจุบันกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการดังกล่าวเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ การเข้าถึงการใช้พลังงานอย่างเท่าเทียมยังเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกประเทศพึงได้รับอีกด้วย ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงาน และความมั่นคงทางพลังงานของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นหลัก ภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทายนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตและการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นและสร้างความเข้าใจตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ทั้งนี้ ปตท.สผ. ปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ตลอดจนกฎหมายท้องถิ่นในการเข้าไปดำเนินการในทุกพื้นที่ ซึ่งรวมถึงสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานกรอบการประเมินความเสี่ยงของกลุ่ม ปตท. สามารถเข้าถึงได้จากเว็บไซต์ของ ปตท. หัวข้อการบริหารจัดการสิทธิมนุษยชน

การร้องเรียนและการเยียวยา

ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับกระบวนการในการปกป้องและเยียวยาผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินงาน โดยกำหนดระเบียบรับเรื่องร้องเรียนรวมถึงการให้ความคุ้มครอง และความเป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียนโดยจัดเตรียมช่องทางการสื่อสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อร้องเรียนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังมีแนวปฏิบัติในการเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่บุคคล ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องร้องเรียน เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินการเยียวยา ชดเชย หรือบรรเทาความเสียหาย ทั้งในรูปแบบการชดเชย (ทางการเงินและอื่น ๆ ) การให้ผู้ได้รับความเสียหายได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่สูญเสียไประหว่างการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกลับคืน หรือในรูปแบบอื่น ๆ ที่กำหนดไว้และเป็นไปตามแนวปฏิบัติเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องร้องเรียน

การปลูกฝังความรับผิดชอบและสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน

ระหว่างปี 2562-2563 ปตท.สผ. ดำเนินการเพื่อปลูกฝังจิตสำนึก ความรับผิดชอบ และสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน โดยเน้นย้ำการสื่อความและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการกับพนักงานในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ และหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้พนักงานเข้าใจการระบุประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างถูกต้องและนำไปสู่การบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ในปี 2564 ปตท.สผ. ยังจัดให้มีการอบรมออนไลน์ด้านสิทธิมนุษยชนครอบคลุมพนักงานทั่วทั้งองค์กร เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนของ ปตท.สผ. รวมถึงความรู้พื้นฐาน ความคาดหวังทางธุรกิจ และการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับพนักงาน ความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ห่วงโซ่อุปทาน และชุมชน ครอบคลุมทั้งในเรื่องแรงงานและสภาพการทำงานที่เป็นธรรม สถานที่ทำงานที่ปลอดภัย การเจรจาต่อรองร่วมกัน การเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิด การบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งมีพนักงานเข้าร่วมคิดเป็นจำนวนชั่วโมงรวมกว่า 122 ชั่วโมง นอกจากนี้ ในปี 2565 ปตท.สผ. ยังเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการคุกคาม (Harassment) และความหลากหลายทางเพศ (Gender Diversity) ผ่านการสื่อสารโดยวิทยากรจากภายนอกในรูปแบบออนไลน์ให้กับพนักงานทั่วทั้งองค์กรอีกด้วย

นอกเหนือจากการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนข้างต้นแล้ว ปตท.สผ. ยังร่วมให้ข้อมูลป้อนกลับกับภาครัฐเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (National Action Plan on Business and Human Rights - NAP) และแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการชาติ และเข้าร่วมอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีในเวทีเสวนาต่าง ๆ ซึ่งจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กรดังกล่าวส่งผลให้ ปตท.สผ. ได้รับคัดเลือกให้เป็นองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประเภทหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ประจำปี 2565 จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4