Menu

โครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2553 เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงเกิน 30.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ "ปะการังฟอกขาว" (Coral Bleaching)

เมื่อน้ำทะเลร้อน ปะการังตาย ผลกระทบจึงส่งต่อเป็นลูกโซ่แก่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพราะแนวปะการังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และแหล่งหลบภัยของสัตว์ทะเล ซึ่งเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศของธรรมชาติใต้ท้องทะเล มาจนถึงมนุษย์ ซึ่งอาศัยพึ่งพาทะเลทั้งการประมงและการท่องเที่ยว เป็นแหล่งอาหาร สร้างอาชีพ และรายได้ของชุมชนบริเวณนั้น ๆ

หนึ่งในแนวคิดเพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลได้ประชุมร่วมกันที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปีนั้น คือ "การสร้างแหล่งดำน้ำโดยมนุษย์" (Man-made Dive sites) เพราะจากการศึกษาพบว่า หากแนวปะการังบริเวณใด ได้รับความนิยมมาก ผลกระทบต่อปะการังย่อมสูงตามไปด้วย ขณะที่การปิดจุดดำน้ำหรือประกาศห้ามการท่องเที่ยวตามแนวปะการังไม่ใช่เรื่องง่าย และจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนในท้องถิ่นและธุรกิจท่องเที่ยวด้วย ดังนั้น หากสามารถสร้างแหล่งดำน้ำทดแทนได้ ก็จะช่วยลดผลกระทบต่อแนวปะการังธรรมชาติให้มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น


ปตท.สผ. ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลไทยได้เข้ามาร่วมสนับสนุนให้เกิด "โครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล" โดยการศึกษาและพัฒนาการนำเรือรบหลวงมาจัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเล จังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กองทัพเรือ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตัวแทนผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่ และภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภารกิจครั้งนี้ ปตท.สผ. ได้รับการสนับสนุนเรือรบหลวง 2 ลำ จากกองทัพเรือ คือ เรือหลวงปราบ และ เรือหลวงสัตกูด ด้วยเกียรติภูมิและขนาดของเรือมีความเหมาะสมสำหรับการนำมาวางเป็นปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งดำน้ำสำหรับนักท่องเที่ยว

หลักเกณฑ์สำคัญของการเลือกพื้นที่วางเรือ คือต้องช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับแนวปะการังได้จริง และเป็นตำแหน่งที่นักดำน้ำสามารถเดินทางมาได้สะดวก และไม่ไกลจากแนวปะการังธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวเดิมมากนัก

ก่อนจะวางเรือหลวงทั้งสองลำ ต้องหารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการดำน้ำสำรวจใต้พื้นทะเล เพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับการวางเรือ โดยศึกษาทั้งสภาพกระแสน้ำ ความขุ่นของน้ำ ลักษณะพื้นท้องทะเล และจำนวนชนิดของสัตว์น้ำต่าง ๆ โดยกำหนดตำแหน่งวางเรือที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเกาะง่ามน้อย จังหวัดชุมพร

สำหรับที่ เกาะเต่า จุดวางเรือ คือตำแหน่งบริเวณใกล้กองหินขาวซึ่งเป็นจุดดำน้ำสำคัญทางทิศตะวันตกของเกาะเต่า และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์เกาะติดจำนวนมาก เช่น ปะการัง เห็ดทะเล ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ปะการังดำ ฟองน้ำ ฯลฯ และส่วนที่ เกาะง่ามน้อย เป็นเกาะสัมปทานนกนางแอ่นมีผาหินปูนสูงชัน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาจำนวนมหาศาล และเป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่มีชื่อเสียงในพื้นที่

งานสำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ การเตรียมการเรือหลวงให้พร้อมทั้งด้านการปรับสภาพเรือหลวงให้เหมาะแก่การเป็นแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเลที่ส่งผลกระทบต่อท้องทะเลน้อยที่สุด โดยการทำความสะอาดเรือ ทาสีเรือใหม่ด้วยสีไร้สารตะกั่วทั่วทั้งลำ และกำจัดสิ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อกุ้งหอย ปู ปลา เช่น ไฟเบอร์ ฯลฯ ซึ่งรวมถึงการปรับโครงสร้างที่อาจเป็นอันตรายต่อนักดำน้ำ และการติดป้ายบอกเขตดำน้ำเฉพาะสำหรับนักดำน้ำที่ผ่านการอบรมหลักการดำน้ำเรือจม (Wreck Diving) เป็นต้น

หลังจากการวางเรือหลวงทั้ง 2 ลำแล้ว ยังทำการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มทำตั้งแต่วางเรือลงสู่พื้นท้องทะเล ทั้งการติดตามปริมาณตะกอนฟุ้งกระจาย ขยะหรือสารที่หลงเหลืออยู่ในเรือ ตลอดจนสภาพพื้นท้องทะเลและกระแสน้ำ ซึ่งผลการศึกษายืนยันว่า ไม่พบผลกระทบต่อพื้นท้องทะเล สัตว์เกาะติดและปลาทะเลยังคงมีสภาพเดิม การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสัตว์เกาะติดและประชากรปลา ในวันแรกพบฝูงปลามงเข้ามาว่ายวนเวียน ผ่านไป 1 ปี ชนิดปลาเพิ่มมากกว่า 40 ชนิด และปัจจุบัน พบว่ามีชนิดของปลาเพิ่มขึ้น 60-70 ชนิด โดยเฉพาะที่ เรือหลวงปราบ จะพบเห็นฉลามวาฬได้อย่างสม่ำเสมอ สำหรับสัตว์เกาะติด มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในระดับความลึก 18 เมตร พบฟองน้ำเคลือบ และที่ระดับความลึก 25 เมตร พบปะการังดำซึ่งเป็นสัตว์พันธุ์เด่น (Dominant Species) และการศึกษาด้านการใช้ประโยชน์และการจัดการแหล่งดำน้ำเรือหลวง พบว่าการนำเรือหลวงมาวางเป็นแนวปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งดำน้ำแทนแนวปะการังธรรมชาตินั้น ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก มีเรือหลายลำแวะเวียนนำนักท่องเที่ยวมาดำน้ำชื่นชมความงดงามของธรรมชาติใต้ท้องทะเล รวมถึงนักเรียนดำน้ำที่เข้ามาใช้เป็นสนามสอบดำน้ำอีกด้วย

“เรือครู” ทั้งสองลำมีส่วนช่วยพิทักษ์ทะเลไทยเกินความคาดหมาย

การวางเรือหลวงเป็นปะการังเทียม เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดำน้ำ ถือเป็นความพยายามครั้งสำคัญ แต่ถึงกระนั้น การจะรักษาแนวปะการังให้คงอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ยังต้องอาศัยความร่วมมือกันอีกหลายด้าน ยิ่งเมื่อเรือบริการนักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างพากันเข้ามาในพื้นที่ ผลกระทบจากการทอดสมอจอดเรือ จึงอาจทำลายแนวปะการังได้อย่างไม่คาดคิด หากขาดการจัดการที่ดี เกาะเต่าเป็น "แหล่งดำน้ำที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก" บริเวณแนวปะการังจึงเต็มไปด้วยเรือท่องเที่ยว ที่พานักดำน้ำชาวไทยและชาวต่างชาติมาชื่นชมความงดงามอย่างไม่ว่างเว้น ซึ่งประเด็นที่อาจส่งผลกระทบ คือการทอดสมอจอดเรือในแนวปะการัง ของเรือท่องเที่ยวต่าง ๆปตท.สผ. จึงให้การสนับสนุนการจัดทำฐานคอนกรีต ทุ่นผูกเรือ และคอยดูแลซ่อมแซมทุ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดผลกระทบดังกล่าว วันนี้..เรือหลวงปราบและเรือหลวงสัตกูดได้กลายเป็นแหล่งดำน้ำยอดนิยมที่คนทั่วโลกรู้จัก

นับตั้งแต่วางเรือมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 10 ปี เรือทั้งสองลำทำหน้าที่เสมือนเป็นปะการังเทียมแทนแนวปะการังธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของบรรดาสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดที่เข้ามาอาศัยบริเวณลำเรือ ช่วยพัฒนาให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเลของนักดำน้ำ นักท่องเที่ยว สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ปีละกว่า 59 ล้านบาท จากจำนวนผู้เยี่ยมชมกว่า 28,000 คนต่อปี ที่สำคัญบริเวณดังกล่าว จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment : SROI) ของโครงการนี้ โดยนำผลลัพธ์ทางสังคมมาคำนวณมูลค่าเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการ ซึ่งผลตอบแทนทางสังคมของโครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล มีผลตอบแทนทางสังคมเท่ากับ 5.34 : 1

โครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ เช่น รางวัล Gulf Sustainability Awards 2021 ระดับเงิน ประเภทการพัฒนาชุมชนดีเด่น (Best Community Development) ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รางวัล Global CSR award 2020 ระดับ Platinum Winner ประเทศอินเดีย รางวัล Stevie Award ระดับเงิน ด้าน Innovation in Community Relations ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ รางวัล Best CSR Campaign ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย รางวัลระดับทอง ประเภทโครงการด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่น (Best Environmental Excellence Award) ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย รางวัลชนะเลิศ ประเภทผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม (Green Leadership) ณ ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น