การพัฒนาอย่างยั่งยืน
นวัตกรรมและการจัดการความรู้องค์กร
การพัฒนาเทคโนโลยีของ ปตท.สผ.
ปตท.สผ. มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นองค์กรที่ประยุกต์ วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการจัดการองค์ความรู้ที่เป็นเลิศ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
บริษัทประยุกต์ วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น บริษัทในกลุ่ม ปตท. หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา เพื่อเป้าหมายหลัก 4 ด้าน ได้แก่
- เพิ่มความสำเร็จในการสำรวจปิโตรเลียม (Increase Exploration Success)
- เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปิโตรเลียม (Enhance Production)
- พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Practices)
- พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดธุรกิจ (Technology for New Business)
ความสำเร็จในการประยุกต์ วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีของ ปตท.สผ. ที่ผ่านมา
1. เทคโนโลยีการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ เช่นโครงการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic) ติดตามการเคลื่อนที่ของน้ำและน้ำมันในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมระหว่างการผลิตน้ำมันโดยใช้การอัดน้ำ โครงการนี้ได้ดำเนินการสำรวจในภาคสนามและพัฒนาระบบโปรแกรมประมวลผลข้อมูลคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้สำเร็จ โดยผลที่ได้จะนำมาช่วยในการติดตามผลการอัดน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ปตท.สผ. Japan Oil, Gas and Metals National Corporation (JOGMEC) และมหาวิทยาลัยมหิดล
2. เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปิโตรเลียม เช่น
ความร่วมมือกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เพื่อวิจัยและพัฒนาสารเคมีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแยกน้ำออกจากน้ำมัน (Demulsifier)
โครงการพัฒนาโปรแกรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการผลิตก๊าซ ซึ่งได้ดำเนินการทดลองใช้ในแหล่งบงกช อาทิตย์ และซอติก้าแล้ว
3. พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น
โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศหลายโครงการ อาทิ การเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า เช่น วัสดุในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โพลีเมอร์ และอื่นๆ
การเตรียมความพร้อมในการรองรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจกรรมปิโตรเลียมในอนาคต โดยมีโครงการเก็บตัวอย่างสารในท่อใต้ท้องทะเล เพื่อพิสูจน์ว่าท่อไม่มีสารปนเปื้อนที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถปล่อยท่อไว้ในทะเลตามกระบวนการมาตรฐานระดับสากล ซึ่งได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท ดาคอนอินสเป็คชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด เพื่อหานวัตกรรมในการเก็บตัวอย่างและตรวจวัดค่าสารต่างๆ ในระบบท่อส่งปิโตรเลียมใต้ทะเล
4. เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดจากธุรกิจ เช่น
โครงการวิจัยและพัฒนา (Autonomous Underwater Vehicle - AUV) ซึ่ง ปตท.สผ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบอุปกรณ์การผลิตใต้ทะเล เช่น ท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาตัวต้นแบบซึ่งขนาดเท่าหุ่นยนต์ที่ใช้งานจริง
โครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ตรวจสอบภายในท่อ (In-pipe Inspection Robot)ที่ช่วยให้การวิเคราะห์ความเสียหายภายในท่อได้แม่นยำขึ้น โดยการนำหุ่นยนต์วิ่งเข้าไปในท่อเพื่อสำรวจสภาพภายในท่อ และในอนาคตจะมีการเพิ่มขีดความสามารถของหุ่นยนต์ให้มากขึ้น เช่น สามารถเก็บกู้เศษวัสดุ สามารถใช้แสงเลเซอร์(Laser)วัดขนาดของท่อ และระบุตำแหน่งของหุ่นยนต์ภายในท่อได้อย่างแม่นยำ
การจัดการองค์ความรู้
ปตท.สผ. มุ่งเน้นการบริหารองค์ความรู้ใน 3 มิติ คือ รวบรวม แลกเปลี่ยน และ ประยุกต์ใช้องค์ความรู้
บริษัทส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจในแนวทางและการบริหารองค์ความรู้ให้ถูกต้องและสัมฤทธิ์ผล โดยหวังให้พนักงานนำความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้และนำกลับมาปรับใช้ในการทำงานทุกครั้ง เพื่อลดความผิดพลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแก้ปัญหา ตลอดจนสามารถจัดทำมาตรฐานการทำงานใหม่ๆ และต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมได้
บริษัทมีการวางแผน กำหนดมาตรฐาน และตั้งเป้าหมายการบริหารองค์ความรู้ ให้ ปตท.สผ. เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อยู่ในระดับที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ และมีความสอดคล้องกับการบริหารองค์ความรู้ของบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยมีการประเมินการบริหารองค์ความรู้ (Knowledge Management Maturity Assessment : KM MA) ที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานในระดับสากลเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบถึงสถานภาพการบริหารองค์ความรู้ และสามารถกำหนดมาตรการเพื่อให้การบริหารองค์ความรู้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานของพนักงานทั้งองค์กร และมีการนำไปต่อยอดจนเกิดนวัตกรรมได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมีการจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนกระบวนการบริหารองค์ความรู้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้บริหารระดับสูงมีการสื่อสารวิสัยทัศน์ในเรื่องการบริหารองค์ความรู้และเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน มีการพัฒนาระบบการบริหารองค์ความรู้ที่เป็นมาตรฐาน มีการเชิญวิทยากรทั้งภายในและภายนอกมาให้ความรู้กับพนักงาน รวมถึงมีการจัดตั้ง Community Of Practice ให้พนักงานแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงาน และนำความรู้ที่ได้ไปจัดเก็บในฐานข้อมูลการบริหารองค์ความรู้ (KM Portal)