กรอบแนวคิดและเป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืน


เส้นทางด้านความยั่งยืน

ปตท.สผ. มีแนวคิดที่จะก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ ในปี 2528 โดยเริ่มมุ่งสู่การเป็น "องค์กรสีเขียว" ที่เน้นการดูแลและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ต่อมาบริษัทฯ ได้เริ่มนำแนวคิดด้านความยั่งยืนที่มีองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลมาปรับใช้ จนในปี 2554 ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact - UNGC) เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะยึดถือปฏิบัติตามหลักการ 10 ประการของ UNGC ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านคอร์รัปชัน โดย ปตท.สผ. เข้าร่วมรายงานความก้าวหน้าการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ (Communication on Progress) ต่อ UNGC เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2555 มาจนถึงปัจจุบัน 


นอกจากนั้น ปตท.สผ. ได้นำเกณฑ์การประเมินด้านความยั่งยืนในระดับสากลต่าง ๆ เช่น กลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices – DJSI), MSCI, FTSE4Good เป็นต้น มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมถึงยังรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทสอดคล้องกับมาตรฐานการรายงาน Global Reporting Initiative (GRI) และกรอบการรายงานและบริหารจัดการความยั่งยืนระดับสากล International Petroleum Industry Environment Conservation Association (IPIECA) อีกด้วย

ในปี 2562 ปตท.สผ. จัดทำกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนพร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายระยะยาว (ปี 2573) ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์หลักไว้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความยั่งยืนจากภายในองค์กร ผ่านการดำเนินงานที่ดีบนรากฐานที่แข็งแกร่ง และส่งมอบคุณค่า สร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมโดยรวมได้ในที่สุด (From We to World)  

ในปี 2563 คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทสำคัญในการผลักดันด้านความยั่งยืนขององค์กรเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้กำหนดเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืน (Sustainability Statement) เพื่อใช้สื่อสารให้พนักงานทุกคนรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ มีความเข้าใจที่ตรงกันในแนวทางด้านความยั่งยืนขององค์กร นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมีคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน ซึ่งมีขอบเขตความรับผิดชอบ ได้แก่ การกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแผนงานการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจและด้านความยั่งยืนของบริษัท ส่งเสริมการดำเนินงานในด้านความยั่งยืนในภาพรวม พร้อมทั้งติดตาม ประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง

กรอบแนวคิดและเป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืน

กรอบแนวคิดด้านความยั่งยืน

ปตท.สผ. เชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเกิดจากการสร้างสมดุลที่เหมาะสม หรือ "Right Balance" ระหว่างธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงพัฒนา "กรอบแนวคิดด้านความยั่งยืน" เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ ปตท.สผ. สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความยั่งยืนจากภายในผ่านการดำเนินงานที่ดี บนรากฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง เพื่อส่งมอบคุณค่าในระยะยาวให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม พร้อมทั้งสร้างความยั่งยืนให้สังคมในองค์รวม หรือ From We to World ตามวิสัยทัศน์การเป็น "Energy Partner of Choice" ขององค์กร ซึ่งกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนนี้ประกอบด้วย การมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization หรือ HPO) การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงและการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance หรือ GRC) และการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation หรือ SVC) โดยกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนนี้ยังสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals – UN SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจำนวนทั้งสิ้น 9 เป้าหมายที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและเป้าหมายระยะยาวของบริษัทฯ ได้แก่ เป้าหมายที่ 3, 7, 8, 9, 12, 13, 14, 15 และ 16



  1. การมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization - HPO)
    มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพขององค์กร เพื่อให้มีการพัฒนาผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพลังงานในอนาคต
  2. การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance - GRC)
    มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนให้กับองค์กร โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล การกำกับดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในอย่างเหมาะสม ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
  3. การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation - SVC)
    มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญในการสร้างคุณค่าในระยะยาวแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านการเป็นองค์กรที่ยั่งยืน ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชุมชนและสังคม

ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

กระบวนการประเมินประเด็นสำคัญของ ปตท.สผ.

ในปี 2566 ปตท.สผ. ได้ประเมินและทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ครอบคลุมด้าน ESG ตามหลักการประเมินแบบ Double Materiality ได้แก่ ระดับความสำคัญเชิงผลกระทบต่อ ปตท.สผ. และระดับความสำคัญเชิงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม (รวมถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน) และการกำกับกิจการและเศรษฐกิจ ผ่านมุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย 8 กลุ่มหลัก ซึ่งประกอบด้วย (1) หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล (2) คู่ค้า (3) ลูกค้า (4) พนักงานและกรรมการบริษัท (5) ผู้ถือหุ้นและสถาบันการเงิน (6) พันธมิตรและผู้ร่วมลงทุนทางธุรกิจ (7) ชุมชนและสังคม (8) สื่อมวลชน โดย ปตท.สผ. ได้จัดลำดับความสำคัญอย่างเป็นระบบตามหลักการ Double Materiality ดังกล่าวข้างต้น ตามขั้นตอนภายใต้กรอบการรายงาน Global Reporting Initiative Standards: GRI Standards (2021) และ AA1000 AccountAbility Principles: AA1000AP (2018) โดยประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนต่าง ๆ  ได้ถูกรวบรวมมาจากแนวโน้มและทิศทางด้านความยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและในระดับสากลที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และ SASB Materiality MapTM ของ Sustainability Accounting Standards Board (SASB) ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยผลการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนจะนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลสำคัญเพื่อพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์องค์กร รวมถึงบูรณาการเข้าสู่กระบวนการบริหารความเสี่ยงองค์กรเพื่อให้ ปตท.สผ. สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่เป็นประเด็นสำคัญต่อความยั่งยืนขององค์กรได้อย่างทันท่วงที โดยมีขั้นตอนดังนี้ 

  1. การทำความเข้าใจบริบทขององค์กร
    ทบทวนบริบทขององค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจ ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ บริบทด้านความยั่งยืน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
    ทบทวนแนวโน้มโลกและเปรียบเทียบการดำเนินธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดประเด็นสำคัญเบื้องต้น 
  2. การระบุผลกระทบที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น
    ระบุผลกระทบของประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นจริงและที่มีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม (รวมถึงผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน) และการกำกับกิจการและเศรษฐกิจ ทั้งทางบวกและทางลบ ตลอดจนโอกาสในการมีส่วนร่วมเชิงบวก ในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งครอบคลุมทุกกิจกรรมการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรวบรวมความคิดเห็นต่าง ๆ ผ่านแบบสำรวจในรูปแบบออนไลน์ 
  3. การประเมินผลกระทบที่มีนัยสำคัญ
    อ้างอิงตามหลักการประเมินประเด็นสำคัญแบบ Double Materiality ซึ่งมีวิธีการประเมินดังนี้ :
    มีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก เพื่อรับฟังและรวบรวมมุมมองเกี่ยวกับผลกระทบของบริษัทฯ ต่อด้านต่าง ๆ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม (รวมถึงผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน) และการกำกับกิจการและเศรษฐกิจ
    มีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียภายใน (กลุ่มพนักงาน) เพื่อรับฟังมุมมองผลกระทบที่เกี่ยวข้องในบริบทด้านความยั่งยืนที่มีต่อบริษัทฯ
    ประเมินและกำหนดผลกระทบที่มีนัยสำคัญที่ได้จากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โดยพิจารณาใน 2 มิติ คือ 1) ความรุนแรง ได้แก่ ขนาด ขอบเขต และการไม่สามารถเยียวยาให้กลับคืนสู่สภาพปกติ และ 2) ความเป็นไปได้ของการเกิดผลกระทบเหล่านั้น
  4. การจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบที่มีนัยสำคัญ
    กำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน 
    ทวนสอบประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนเทียบกับความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญภายนอก โดยทบทวนประเด็นสำคัญครอบคลุมด้าน ESG จากนั้นนำคะแนนผลกระทบที่ได้จากการทวนสอบของผู้เชี่ยวชาญรวมเข้ากับคะแนนผลกระทบที่ได้จากผู้มีส่วนได้เสีย
    นำเสนอประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนต่อคณะกรรมการจัดการ (Management Committee) เพื่อพิจารณาเห็นชอบและคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน (Corporate Governance and Sustainability Committee) เพื่อรับทราบในประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ 
    ผนวกประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร
    รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนทั้งหมดและเปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ต่อสาธารณชนในหลากหลายช่องทางเพื่อตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น

ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนประจำปี 2566

กลยุทธ์ขององค์กรและเป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืน

ปตท.สผ. มุ่งมั่นสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนจากภายในสู่ภายนอก (From We to World) และสนับสนุนเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติที่คำนึงผลประโยชน์ร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยมีกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมปรับตัวทางธุรกิจเพื่อรับมือกับวิกฤตและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ปตท.สผ. กำหนด 3 แนวทางหลักของกลยุทธ์ทางธุรกิจพร้อมเป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืนครอบคลุมด้าน ESG ดังนี้ 

การพัฒนาความร่วมมือและเครือข่ายเพื่อความยั่งยืน

เครือข่ายความร่วมมือนับเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ปตท.สผ. จึงให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านธุรกิจ ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานตามกรอบแนวคิดและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและองค์การสหประชาชาติ สอดรับกับวิสัยทัศน์องค์กร "Energy Partner of Choice"

ปัจจุบัน ปตท.สผ. เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายด้านความยั่งยืน อาทิ สมาชิกของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact – UNGC) สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand – GCNT) องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development – TBCSD) เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network – TRBN) และชมรม ESG Network โดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย

ปตท.สผ. ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกับหน่วยงานของรัฐ โดยนำองค์ความรู้และโครงการริเริ่มของ ปตท.สผ. มาช่วยแก้ไขปัญหาระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น ผ่านการมีส่วนร่วมในหลากหลายช่องทาง อาทิ การเป็นคณะอนุกรรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย รวมถึงบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการปลูกป่า 2 ล้านไร่กับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่ม ปตท. นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันชั้นนำ ผ่านความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาจากองค์ความรู้ของแต่ละฝ่าย ผ่านกลไกการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหรือบันทึกความเข้าใจ ได้แก่ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเสริมสร้างความยั่งยืนของมหาสมุทรกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติผ่านกลไกการมีส่วนร่วมกับชุมชนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย

นอกจากนั้น ปตท.สผ. ยังมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องในร่างข้อกำหนดและกฎหมายที่สำคัญต่าง ๆ ในระดับประเทศ เช่น ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่างพระราชบัญญัติการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในเชิงพื้นที่และชนิดพันธุ์ รวมถึงร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจากการทบทวนพบว่าร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มทางเศรษฐกิจดังกล่าว ปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยบริษัทจะติดตามความก้าวหน้าของร่างการจัดกลุ่มทางเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมถึงหามาตรการและแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการต่อไป