Menu

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เป้าหมายของ ปตท.สผ. ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions)

ด้วยเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของ ปตท.สผ. ที่จะดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลที่เหมาะสมในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (Right Balance) และคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน ปตท.สผ. จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการก๊าซเรือนกระจกและแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน (Global warming) สอดคล้องกับทิศทางของโลกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึง เป้าหมายของประเทศไทยที่ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ เกี่ยวกับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emissions) ในปี 2608

ปตท.สผ. ได้วางแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ครอบคลุม Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง และ Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operational Control) และยังได้กำหนดเป้าหมายเพื่อลดปริมาณความเข้ม (Intensity) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในปี 2573 และร้อยละ 50 ภายในปี 2583 (จากปีฐาน 2563) เพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2593 ดังกล่าว

 

บริหารจัดการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P Portfolio) เพื่อมุ่งสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ โดยเลือกลงทุนในโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero GHG Emissions และเน้นการลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติ โดยนำปัจจัยเกี่ยวกับความเข้มของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาพิจารณาประกอบการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ

พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต โดยเดินหน้าโครงการการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปกักเก็บ (Carbon Capture and Storage - CCS) ยังชั้นใต้ดินในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทฯ ในอ่าวไทย และประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก นับเป็นการทำโครงการลักษณะนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้ศึกษาโอกาสและเทคโนโลยีที่จะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization - CCU) โดยเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าหรือวัสดุเพื่ออนาคต 

บริษัทฯ ยังมุ่งสู่การปล่อยก๊าซส่วนเกินซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์ (Zero Routine Flare) สำหรับโครงการใหม่ ๆ ในอนาคต โดยการนำก๊าซที่เกิดขึ้นจากการเผาทิ้งในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยี CCS รวมทั้ง การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ การติดตั้งโซล่าเซลล์ และกังหันลม รวมถึงการหาโอกาสในการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทฯ ให้มากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งสร้างสมดุลด้วยการปลูกป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก (Carbon Removal Project) โดยมีเป้าหมายในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกสะสมกว่า 2 ล้านตันในปี 2593 และดำเนินโครงการเพื่อสังคมภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศใต้ทะเล ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ทางธรรมชาติที่มีความสำคัญมาก