Menu

เทคโนโลยีและการจัดการองค์ความรู้

ความสำคัญและความมุ่งมั่น

เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ และแนวโน้มในการเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานในอนาคต ปตท.สผ. จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการจัดการองค์ความรู้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้องค์กรมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

เป้าหมายสำคัญ

  1. พัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการผลิตปิโตรเลียม การศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
  2. พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนขององค์กรในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเพื่อทุกชีวิต
  3. มีระบบการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ และมีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาจากผลงานการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องทุกปี
  4. เผยแพร่ผลงานการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการประชุมทางวิชาการและวารสารในระดับนานาชาติ
  5. และได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมจากผลงานจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในองค์กรอย่างต่อเนื่องทุกปี
  6. ส่งเสริมให้องค์กรมีทุนทางปัญญา (ทุนมนุษย์ ทุนทางโครงสร้าง ทุนความสัมพันธ์) และนำความรู้ไปต่อยอดเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ในองค์กร ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมclose | open

การพัฒนาเทคโนโลยีของ ปตท.สผ.

ปตท.สผ. ดำเนินการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทในการบรรลุเป้าหมายตามกรอบแนวคิดและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน โดยมีความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ อาทิเช่น บริษัทในกลุ่ม ปตท. หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย เป็นต้น โดย ปตท.สผ. มีวัตถุประสงค์ 3 ด้านในการพัฒนาเทคโนโลยี ได้แก่

  1. เพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
  2. เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ
  3. เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและธุรกิจใหม่

โดยมีรายละเอียดของการพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง 3 ด้านดังนี้

1. เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ปตท.สผ. มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งกลุ่มเทคโนโลยีที่มีการวิจัยและพัฒนาออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  • เทคโนโลยีสำหรับการปรับปรุงกระบวนการผลิต
    การปรับปรุงและแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการเพิ่มปริมาณการผลิตและลดต้นทุน ปตท.สผ.จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ได้แก่
    เทคโนโลยีสำหรับการแยกสิ่งที่ไม่ต้องการออกจากก๊าซธรรมชาติเหลว อาทิ การพัฒนาสารเร่งการแยกอนุภาคในชั้นน้ำที่ปนในชั้นน้ำมัน การพัฒนาวัสดุดูดซับ (Adsorbent) การพัฒนาอุปกรณ์การกรอง (Filter) การปรับปรุงเทคนิคการวัดของเครื่องมือวัดค่าสิ่งปนเปื้อน เป็นต้น
    การเพิ่มประสิทธิภาพในการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีเมมเบรนสำหรับแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การพัฒนาวัสดุดูดซับจากวัสดุโครงข่ายโลหะ (Metal-Organic Framework Adsorbent) สำหรับแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การพัฒนาปล่องเผาทิ้งที่ใช้ค่าความร้อนต่ำซึ่งช่วยลดการสูญเสียก๊าซธรรมชาติที่ใช้ช่วยในการเผาไหม้ (Assisted Gas) เป็นต้น
  • เทคโนโลยีสำหรับการปรับปรุงการปฏิบัติงาน
    การปฏิบัติงานในขั้นตอนการผลิตปิโตรเลียมด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลดีทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน ปตท.สผ. จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานทั้งในด้านการควบคุมการผลิต การปฏิบัติงานเกี่ยวกับหลุมผลิต การตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต โดยมีโครงการพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ อาทิ โครงการพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้สำหรับการทำงานแทนมนุษย์ในการควบคุมการผลิตและตรวจจับความผิดปกติของอุปกรณ์บนแท่นผลิตปิโตรเลียม โครงการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจสอบท่อส่งปิโตรเลียมที่สามารถปรับความเร็วได้เพื่อให้สามารถตรวจวัดสภาพของท่อได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น และโครงการการเคลือบผิวโลหะด้วยคาร์บอนลักษณะแบบเพชรเพื่อป้องกันอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากการเกิดการกัดกร่อนและสึกกร่อน เป็นต้น
  • เทคโนโลยีสำหรับสนับสนุนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนอกชายฝั่ง
    ท่อส่งปิโตรเลียมใต้ทะเลเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมระหว่างแท่นผลิตนอกชายฝั่ง ซึ่งท่อส่งปิโตรเลียมที่ไม่มีการใช้งานแล้วจะต้องมีการดำเนินการรื้อถอน ปตท.สผ. จึงได้พัฒนานวัตกรรมในการล้างท่อและเก็บตัวอย่างจากภายในท่อ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารปนเปื้อนในงานรื้อถอนท่อส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยนวัตกรรมดังกล่าวได้ริเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยภาครัฐ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อม และได้มีการนำเสนอความก้าวหน้าการพัฒนานวัตกรรมต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ในการพัฒนาสารเคมีในการล้าง (MERClean) รวมถึงพัฒนาอุปกรณ์เก็บตัวอย่างจากภายในผิวท่อ (MERIns) ทั้งนี้ ปตท.สผ. ยังมีแผนงานพัฒนานวัตกรรมให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์เก็บตัวอย่างจากภายในผิวท่อ ให้สามารถเก็บตัวอย่างได้ในปริมาณที่แม่นยำมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสื่อสารและขยายผลไปในระดับสากล เพื่อให้วิธีการดังกล่าวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ผลักดันนวัตกรรมดังกล่าวเพื่อขยายผลให้เกิดเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ในอนาคตอีกด้วย
  • เทคโนโลยีการจัดการของเสียด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
    ในด้านการจัดการของเสียด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำของเสียจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์โดยเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า อาทิ โครงการเปลี่ยนทรายที่ได้จากการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งผลิตซอติก้าให้เป็นซีโอไลต์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการสนับสนุนเป้าหมายของบริษัทในการลดปริมาณของเสียที่มีการกำจัดโดยวิธีฝังกลบเป็นศูนย์ภายในปี 2573 โครงการเปลี่ยนกากตะกอนน้ำมัน (Crude Oil Sludge) เป็นกราฟีน (Graphene) ด้วยวิธีการให้ความร้อนยิ่งยวดแบบฉับพลัน เป็นต้น

2. เทคโนโลยีสำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ

ในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลายประเภท ได้แก่ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS), เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน, และเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีการชดเชย (Offsetting) อาทิ การดักจับก๊าซคาร์บอนจากอากาศ (Direct Air Capture) เป็นต้น โดย มีโครงการที่สำคัญได้แก่ โครงการผลิตท่อนาโนคาร์บอนจากก๊าซเผาทิ้ง โครงการการผลิตสารไซคลิกคาร์บอเนตจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โครงการการใช้กังหันลมสำหรับผลิตไฟฟ้าในแท่นหลุมผลิต และโครงการพัฒนาปล่องเผาทิ้งที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยหากโครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการนำไปใช้จริงก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและยังสามารถขยายผลไปใช้ในองค์กรอื่น ๆ รวมทั้งต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทมีการพัฒนาไปสู่ธุรกิจใหม่ได้อีกด้วย

3. เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและธุรกิจใหม่

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานหรือการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. สำหรับด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปตท.สผ. มีการเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมีการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากคลื่นทะเล และพลังงานรูปแบบใหม่ เป็นต้น และมีการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีในการแยกและนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาผลิตเป็นพลังงานในรูปแบบอื่น เช่น ไฮโดรเจนและเมธานอล เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้จัดตั้งสนามทดลองและทดสอบเทคโนโลยีพลังงานสะอาด หรือ Green Energy Technology Playground ในพื้นที่ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTIC) โดยเป็นสถานที่สำหรับทดสอบอุปกรณ์ต้นแบบและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อต่อยอดไปสู่การนำไปใช้จริง

การบริหารจัดการการพัฒนาเทคโนโลยี

ปตท.สผ. มีหน่วยงานบริหารเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการบริหารจัดการการพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทโดยเฉพาะ โดยมีกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นกรอบในการบริหารจัดการการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยกระบวนการดังกล่าวมีการแบ่งการดำเนินงานของโครงการพัฒนาเทคโนโลยีออกเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ การศึกษาเบื้องต้น การทดลองในห้องปฏิบัติการ การพัฒนาต้นแบบ การทดสอบใช้งาน และการนำไปใช้งานจริงหรือการใช้เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีความสอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับสากลที่มีการแบ่งการพัฒนาออกเป็นขั้นตอนย่อย เรียกว่า Technology Readiness Level (TRL) โดยกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยในการคัดเลือกและอนุมัติโครงการ ตลอดจนให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาเทคโนโลยีจนประสบความสำเร็จและสามารถนำไปใช้งานจริงได้อย่างเป็นระบบ ภายใต้การกำกับดูแลและให้คำแนะนำการบริหารในภาพรวมให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทจากคณะกรรมการพัฒนาเทคโนโลยี (Technology Development Committee)

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีกระบวนการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Intellectual Property Management Process เป็นกรอบในการบริหารจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ และมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ ปตท.สผ. อีกด้วย

ข้อมูลด้านงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จำนวนโครงการที่ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาในแต่ละขั้นตอน การยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา การนำเสนอและตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ และรางวัลด้านนวัตกรรมที่ได้รับ สามารถดูได้จาก ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ปตท.สผ. ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation หรือ EECi) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ซึ่งในพื้นที่ของ PTIC ในปัจจุบันประกอบไปด้วยอาคารทดสอบโรงงานต้นแบบ (Pilot Area Building) สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ (UAV Test Field) รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์และห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อมสำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย PTIC จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและเร่งรัดความสำเร็จของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ไปสู่การนำไปใช้งานจริงในอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับ ปตท.สผ. นอกจากการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ ปตท.สผ. แล้ว PTIC ยังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีของประเทศ โดยเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ และสร้างเครือข่ายการวิจัยในระดับสากลที่จะช่วยต่อยอดและผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน

การจัดการองค์ความรู้close | open

ปตท.สผ. มุ่งเน้นการบริหารองค์ความรู้ใน 3 มิติ คือ สร้าง (Create) แลกเปลี่ยน (Share) และ ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ (Apply)



บริษัทส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจในแนวทางและการบริหารองค์ความรู้ให้ถูกต้องและสัมฤทธิ์ผล โดยคาดหวังให้พนักงานนำความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้และนำมาปรับใช้ในการทำงานทุกครั้ง เพื่อลดความผิดพลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแก้ปัญหา ตลอดจนสามารถจัดทำมาตรฐานการทำงานใหม่ ๆ และต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมได้



บริษัทมีการวางแผน กำหนดมาตรฐาน และตั้งเป้าหมายการบริหารองค์ความรู้ให้ ปตท.สผ. เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมและการเรียนรู้ที่มีสมรรถนะสูงที่มีความสอดคล้องกับการบริหารองค์ความรู้ของบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยมีการประเมินการบริหารองค์ความรู้ที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานในระดับสากลเป็นประจำ เพื่อให้ทราบถึงสถานภาพการบริหารองค์ความรู้ และสามารถกำหนดมาตรการเพื่อให้การบริหารองค์ความรู้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานของพนักงานทั้งองค์กร และมีการนำไปต่อยอดจนเกิดนวัตกรรมได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยบริษัทมีกลยุทธ์ในการบริหารองค์ความรู้ที่เน้นใน 3 ด้านคือ

  1. บริหารองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์บริษัทเพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจ รวมถึงนำการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดจนเกิดธุรกิจใหม่
  2. ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนวัตกรรม
  3. เสริมสร้างให้พนักงานมีศักยภาพและเป็นผู้เชี่ยวชาญจนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ

ปตท.สผ. มีการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนกระบวนการบริหารองค์ความรู้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้บริหารระดับสูงมีการสื่อสารวิสัยทัศน์ในเรื่องการบริหารองค์ความรู้และเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน มีการพัฒนาระบบการบริหารองค์ความรู้ที่เป็นมาตรฐาน มีการเชิญวิทยากรทั้งภายในและภายนอกมาให้ความรู้กับพนักงาน รวมถึงมีการจัดตั้งกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ (Community Of Practice) เพื่อให้พนักงานได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงาน และนำความรู้ที่ได้ไปจัดเก็บในฐานข้อมูลการบริหารองค์ความรู้ (KM Portal) เพื่อเป็นแหล่งในการรวบรวมองค์ความรู้ และศึกษาหาความรู้ต่อไป

นอกจากนี้ ปตท.สผ. มีแผนดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านองค์ความรู้ให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. การพัฒนาศักยภาพผู้บริหารและพนักงาน

บริษัทมีแผนงานในการพัฒนาศักยภาพของผู้บริหารและพนักงาน ด้วยหลักสูตร Charting a new KM Path for PTTEP Success เพื่อสร้างความเข้าใจและกระตุ้นการดำเนินการด้านการบริหารองค์ความรู้ในหน่วยงาน รวมถึงมีการจัดทำ e-learning เพื่อให้พนักงานตระหนักเห็นความสำคัญ และมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการองค์ความรู้มากขึ้น

2. การกำหนดแผนที่องค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต

บริษัทมีการบ่งชี้องค์ความรู้ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพื่อให้มีการบริหารจัดการองค์ความรู้ที่เป็นระบบ มีการจัดเก็บองค์ความรู้ที่ตรงตามความต้องการของบริษัท รวมถึงแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจและรองรับการเติบโตในอนาคต

3. การจัดทำศูนย์รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ

บริษัทมีการระบุผู้เชี่ยวชาญตามองค์ความรู้ที่ระบุไว้และจัดตั้งศูนย์รวบรวมผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นศูนย์กลางให้พนักงานสามารถค้นหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อติดต่อขอคำปรึกษาและคำแนะนำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

4. กระบวนการจัดเก็บองค์ความรู้จากโครงการต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญและผู้เกษียณอายุ

บริษัทมีการจัดทำ Lessons Learned หลังจบโครงการต่าง ๆ เพื่อถอดบทเรียนในการทำงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติที่เหมือนกันและลดข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

บริษัทมีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้โครงการ One System One Goal ที่เชื่อมต่อระบบต่าง ๆ ในบริษัท เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ขององค์กรได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

6. การส่งเสริมวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้รางวัล

บริษัทมีการจัดโครงการเพื่อชื่นชมพนักงานรายบุคคลหรือกลุ่มพนักงานที่มีพฤติกรรมสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทมุ่งเน้นในการบริหารองค์ความรู้ใน 3 มิติ นั่นคือ สร้าง แลกเปลี่ยน และประยุกต์ใช้องค์ความรู้

นอกจากนี้บริษัทยังได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้พนักงานส่งและนำเสนอผลงานทางวิชาการในงาน Technical Forum ครั้งที่ 26 และ Business Forum ครั้งที่ 4 โดยมีจำนวนผลงานที่ส่งทั้งสิ้น 200 ผลงาน และมีการนำเสนอผลงานในงาน KM Week ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี

7. การสื่อสารทั่วทั้งองค์กร

บริษัทมีแผนในการสื่อสารภายในทั่วทั้งองค์กรตลอดปีเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารองค์ความรู้ขององค์กรและให้ความรู้ในเครื่องมือบริหารจัดการองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานสามารถนำเครื่องมือไปใช้ในการปฏิบัติงานในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

บริษัทมีกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ภายใต้กฎกติกาสากล ของ American Productivity & Quality Center (APQC) และได้รับผลการประเมินระดับการบริหารจัดการองค์ความรู้เทียบเท่ามาตรฐานสากลในระดับ 5 ในปี 2565 (ระดับสูงสุด) และมีการใช้ผลการประเมินในการพัฒนาการบริหารองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์และพันธกิจให้องค์กรบรรลุเป้าหมายและเติบโตได้อย่างยั่งยืนสืบต่อไป นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้รับรางวัลสุดยอดองค์กรด้านนวัตกรรมและองค์ความรู้ (Southeast Asia Most Innovative Knowledge Enterprise) หรือ SEA MIKE Award ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในระดับความเป็นเลิศเทียบเท่าสากล (Gold Level) ที่มอบให้แก่องค์กรชั้นนำที่มีการบริหารจัดการนวัตกรรมและองค์ความรู้ยอดเยี่ยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังได้รับรางวัล Outstanding Global MIKE Award ในระดับโลก อีกด้วย