การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ


กลยุทธ์และเป้าหมายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ บริษัทมุ่งมั่นที่จะหลีกเลี่ยงการดำเนินงานในพื้นที่เสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนน้ำ และบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนผู้ใช้น้ำ รวมถึงกำหนดเป้าหมายที่จะไม่ให้มีการปล่อยน้ำจากกระบวนการผลิตออกสู่สิ่งแวดล้อม และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจืดซึ่งมีปริมาณจำกัดสำหรับกระบวนการผลิต โดยการนำน้ำจากกระบวนการผลิตที่มีค่าปริมาณรวมของสารละลายสูง (Non-fresh Water) กลับมาใช้ซ้ำ เพื่อช่วยเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันขึ้นมาจากหลุม (Oil Recovery) เพื่อเป็นการเก็บน้ำจืดที่มีปริมาณจำกัดไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคของชุมชน

ในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ปตท.สผ. ได้อ้างอิงแนวทางการจัดการน้ำของบริษัทซึ่งได้ระบุถึงแนวทางการประเมินความเสี่ยง การรายงานผลการดำเนินงาน การกำหนดเป้าหมาย และแนวทางปฏิบัติที่ดีในการจัดการทรัพยากรน้ำและน้ำเสีย โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ บริษัทยังจัดทำแผนปฏิบัติงานเพื่อควบคุมการใช้น้ำ โดยมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อรับข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ รวมถึงการสื่อสารมาตรการในการบริหารจัดการน้ำกับบริษัทคู่ค้าและผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน

บริษัทยังแสดงถึงความยึดมั่นในความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของบริษัท โดยได้เปิดเผยผลการดำเนินงานสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับน้ำ ในรายงานประจำปีและรายงานความยั่งยืน รวมถึง CDP ตั้งแต่ปี 2560 และได้รับการจัดอันดับอยู่ใน "ระดับผู้นำ" ในปี 2560 และ"ระดับการจัดการ" ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ซึ่งแสดงถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน

การบริหารจัดการความเสี่ยงทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

น้ำมีความสำคัญต่อกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัทจึงได้ประเมินความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อป้องกันปัญหาคุณภาพน้ำและการขาดแคลนน้ำในชุมชนรอบข้าง รวมถึงศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การอนุรักษ์น้ำ และให้ความสำคัญกับโปรแกรมการตรวจสอบรอยรั่ว ซ่อมบำรุง และลดปริมาณการสูญเสียน้ำจากกิจกรรมที่ไม่จำเป็นด้วย

ตั้งแต่ปี 2556 บริษัทได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการน้ำในทุกพื้นที่ปฏิบัติการที่อยู่ภายใต้การปฏิบัติงานของบริษัทให้ครอบคลุมประเด็นความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะการขาดแคลนน้ำ ราคาของน้ำที่สูงขึ้น ข้อบังคับและกฎหมายด้านการใช้น้ำ รวมถึงโอกาสการเกิดความขัดแย้งด้านการใช้น้ำกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยในการประเมินความเสี่ยงได้ใช้ข้อมูลทั้งจากข้อมูลจริงในพื้นที่และข้อมูลจากเครื่องมือคาดการณ์สถานการณ์น้ำในอนาคตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น WRI Aqueduct และ WWF Water Risk Filter ทั้งนี้ บริษัทได้ประเมินความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต (สำหรับปี 2563 และปี 2573) และนำผลที่ได้มากำหนดเป้าหมายและแนวทางการบริหารความเสี่ยง

บริษัทได้ทบทวนการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำและการวิเคราะห์ระดับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำ การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย ความต้องการด้านน้ำ และความขัดแย้งของผู้มีส่วนได้เสียในการใช้น้ำของบริษัทให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งผลที่ได้แสดงให้เห็นว่า บริษัทยังไม่มีความเสี่ยงหรือผลกระทบที่มีนัยสำคัญในทุกสภาวการณ์สำหรับทุกโครงการที่ทำการประเมิน อย่างไรก็ตาม จากผลการประเมินพื้นที่ที่มีแนวโน้มขาดแคลนน้ำ (Water Stress Area) ซึ่งอ้างอิงตาม WRI Aqueduct Water Risk Atlas พบว่า พื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท 2 โครงการ ซึ่งได้แก่ โครงการเอส 1 และแอล 22/43 และโครงการพีทีทีอีพี 1 ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มขาดแคลนน้ำ ดังนั้นบริษัทจึงได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์แหล่งน้ำร่วมกับชุมชนในพื้นที่และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน โครงการโคกหนองนาโมเดล โครงการรักษาแหล่งน้ำ เป็นต้น

การบริหารจัดการน้ำจากกระบวนการผลิต

สำหรับโครงการในประเทศไทย บริษัทได้ควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำจากกระบวนการผลิตออกสู่สิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีอัดน้ำจากกระบวนการผลิตกลับสู่แหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว และถึงแม้ว่าแนวโน้มของน้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิตจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและอายุของแหล่งกักเก็บ บริษัทก็ยังคงสามารถรักษาประสิทธิภาพของระบบอัดกลับน้ำจากกระบวนการผลิตได้ทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน สำหรับโครงการสินภูฮ่อมได้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยไม่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมเช่นกัน