โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS)


โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) คือหนึ่งในแผนการดำเนินงานสำคัญของ ปตท.สผ. เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายของบริษัทในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมและของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) เกี่ยวกับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero greenhouse gas emissions) ในปี 2608

'"/
CCS เป็นกระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวร โดยไม่ปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ มีการบริหารจัดการ การติดตาม และตรวจสอบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บอย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยในทุกขั้นตอน เทคโนโลยี CCS มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ หลายประเทศจึงวางแผนให้เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีรูปแบบอื่น
 
ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก โดยนำเทคโนโลยีด้านการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน มาประยุกต์ใช้ในภาคพลังงาน และภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย




ปตท.สผ. ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการ CCS โดยได้ริเริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2564 ที่แหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ โดยได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) แล้ว ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ได้ในปี 2570 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมได้ในปริมาณมาก

นอกจากนี้ ปตท.สผ. อยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ที่แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค 410บี ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่บริษัทค้นพบในประเทศมาเลเซียด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม โครงการ CCS ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย และปัจจัยส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและองค์กรหลาย ๆ ฝ่ายในการผลักดันและส่งเสริมการนำเทคโนโลยี CCS มาใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย

นอกจากโครงการพัฒนา CCS ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ในการก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตแล้ว ปตท.สผ. ยังให้ความสนใจในโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ พลังงานใหม่ในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน รวมถึง การดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) อีกด้วย



ติดตามแนวทางการดำเนินงานของ ปตท.สผ. เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 ได้ที่นี่
 
อ่านบทความ “CCS” ได้ที่นี่