ข่าวและประกาศ

ปตท.สผ. กำไรเพิ่มขึ้น 60% รับผลดีราคาน้ำมัน และการบริหารการผลิตและต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมพิจารณาจ่ายปันผล 4.25 บาทต่อหุ้น

26 ม.ค. 2561

  • ปริมาณการขายเป็นไปตามเป้าที่ 299,206 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
  • บริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง สามารถลดต้นทุนได้อีกร้อยละ 5 เหลือ 29.05 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
  • มุ่งขยายการลงทุนและเพิ่มปริมาณสำรอง พร้อมต่อยอดทางธุรกิจด้วยเงินสดในมือ ถึง 4,468 ล้านดอลลาร์ สรอ.

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เผยผลประกอบการปี 2560 ด้วยกำไรสุทธิ 594 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 20,579 ล้านบาท) ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 60 จาก 372 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในปีก่อนหน้าถึงแม้จะมีการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์เนื่องจากการปรับแผนการลงทุน ของโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์จำนวน 558 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยยังรักษาระดับ EBITDA margin ที่ร้อยละ 70 สะท้อนความสำเร็จในการบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายและต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมเร่งการพิจารณาตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision หรือ FID) ใน 3 โครงการหลัก รวมถึงการเข้าประมูลสัมปทานที่จะหมดอายุในอ่าวไทยและการเข้าซื้อกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง และการขยายการลงทุนในแปลงสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียม และรักษาระดับการผลิต รวมทั้งมีการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. เผยว่าปี 2560 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 4,523 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 153,198 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 4,339 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 152,745 ล้านบาท) ในปี 2559 โดยมีกำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 836 ล้านดอลลาร์ สรอ. เติบโตร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นผลหลักจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันโลกจาก 35.91 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปีก่อนหน้าเป็น 39.20 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในขณะที่ต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) ลดลงจาก 30.46 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 29.05 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้รับผลกระทบจากความต้องการรับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลง แต่ด้วยความพยายามในการเพิ่มปริมาณการผลิตคอนเด็นเสทและน้ำมันดิบส่งผลให้สามารถรักษาปริมาณการขายตามเป้าหมายที่ 299,206 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดย ณ สิ้นปี 2560 ปตท.สผ. มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสดจำนวนสูงถึง 4,468 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 146,008 ล้านบาท)

จากผลประกอบการข้างต้น คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 อนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผล สำหรับปี 2560 ที่ 4.25 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้จ่ายสำหรับงวด 6 เดือนแรกในอัตรา 1.50 บาทต่อหุ้น ส่วนที่เหลืออีก 2.75 บาทต่อหุ้น จะกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 และจะจ่ายในวันที่ 12 เมษายน 2561 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2561 แล้ว  

“ผลการดำเนินงานในปี 2560 พิสูจน์ให้เห็นว่าภายใต้ความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอุตสาหกรรม ปตท.สผ. มีความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและทำกำไรจากธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดย ปตท.สผ. ยังได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียในระยะยาวด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรให้เห็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานที่ชัดเจน ตอบสนองเป้าหมายความยั่งยืนของธุรกิจ เช่น การเพิ่มหน่วยงานธุรกิจใหม่ (New Business Unit) เพื่อมองหาธุรกิจใหม่ๆเข้ามาต่อยอดและการเพิ่มกลุ่มงานบริหารการเปลี่ยนแปลงธุรกิจและองค์กร (Business and Organization Transformation Group) เพื่อสร้างวัฒนธรรมการปรับตัว ปรับระบบงาน ระบบข้อมูลให้ทันสมัย ทันต่อเวลา โดยนำ Digital Technology มาใช้ทั่วทั้งองค์กร เป็นต้น” นายสมพร กล่าว

ตั้งงบลงทุนปี 2561 ที่ 3,103 ล้านดอลลาร์ สรอ. มุ่งตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย 3 โครงการหลัก

นายสมพร กล่าวต่อว่า ปตท.สผ. ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ไว้ที่ 3,103 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 105,510 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure หรือ CAPEX) จำนวน 1,771 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 60,227 ล้านบาท) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure หรือ OPEX) จำนวน 1,332 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 45,283 ล้านบาท) เพื่อรักษาระดับปริมาณการขายปิโตรเลียมของแหล่งผลิตในปัจจุบันไว้ที่ประมาณ 300,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยจะเน้นการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทให้มากขึ้น และมีเป้าหมายที่จะคงต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) อยู่ในระดับประมาณ 30 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพื่อให้แข่งขันได้

สำหรับแผนงานที่สำคัญของ ปตท.สผ. ในปี 2561 ที่ต้องเร่งทำ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต คือการพัฒนาโครงการที่สำคัญเพื่อการตัดสินใจขั้นสุดท้าย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ที่ตั้งเป้าการผลิตในปี 2566 ด้วยกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติ 12 ล้านตันต่อปี ขณะนี้ได้เริ่มการเคลื่อนย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ก่อสร้างของโครงการและอยู่ระหว่างการขออนุมัติแผนพัฒนา โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ อยู่ระหว่างรอผลการอนุมัติแผนพัฒนาจากรัฐบาลแอลจีเรียโดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในไตรมาส1 ปี 2561 และโครงการเวียดนาม บี และ 48/95 และ 52/97 ซึ่งมีเป้าหมายจะผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2564 ด้วยกำลังการผลิตรวม 490 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“ในปีนี้ ปตท.สผ. จะร่วมประมูลสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุด้วยอย่างแน่นอน ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองและปริมาณการผลิตให้กับบริษัท และเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ในขณะเดียวกันเรายังมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักของ ปตท.สผ. ทั้งในประเทศไทย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง รวมถึงการมองหาโอกาสต่อยอดธุรกิจก๊าซธรรมชาติให้ครบวงจรในประเทศที่เรามีความสามารถในการแข่งขันจากการที่เรามีฐานทางธุรกิจมาก่อน” นายสมพร กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความก้าวหน้าในโครงการที่สำคัญของ ปตท.สผ. สิ้นปี 2560

ณ สิ้นปี 2560 ปตท.สผ. มีโครงการและดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวมทั้งสิ้นจำนวน 36 โครงการใน 10 ประเทศ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) จำนวน 631 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และปริมาณสำรองที่น่าจะพบ (Probable Reserves) จำนวน 400 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีรายละเอียดความคืบหน้าโครงการที่สำคัญ ดังนี้

โครงการในประเทศไทย ปตท.สผ. มีโครงการในประเทศไทยจำนวน 16 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้ว (Production Phase)  ทั้งในอ่าวไทยและบนบก โดยกิจกรรมที่สำคัญของโครงการผลิตหลัก ได้แก่ โครงการบงกช ประสบความสำเร็จในเพิ่มการผลิตคอนเดทเสทเพื่อชดเชยการเรียกรับก๊าซธรรมชาติที่ลดลงจากผู้ซื้อ รวมทั้งอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประมูล โครงการเอส 1 ได้ทำการขุดเจาะหลุมผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการขุดเจาะหลุมสำรวจในปี 2561 เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตของโครงการ ทั้งนี้ ปี 2560 โครงการในประเทศไทยมีปริมาณการขายเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 230,504 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของปริมาณการขายทั้งหมด นอกจากนี้ แหล่งอุบลภายใต้โครงการคอนแทร็ค 4 ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมการพัฒนา คาดว่าจะสามารถผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2565 ด้วยกำลังการผลิตของโครงการที่ 25,000- 30,000  บาร์เรลต่อวัน

โครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการในภูมิภาคนี้มีปริมาณการขายเฉลี่ยรวมอยู่ที่ประมาณ 55,371 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณการขายทั้งหมด ในส่วนของ โครงการที่ดำเนินการผลิตแล้ว (Production Phase) ปตท.สผ. ได้ดำเนินกิจกรรมในโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการซอติก้า สามารถรักษาปริมาณการผลิตได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งเสร็จสิ้นการก่อสร้างแท่นผลิตเฟส 1C จำนวน 1 แท่น โดยจะดำเนินการติดตั้งแท่นผลิตที่เหลือจำนวน 3 แท่นในปี 2561 รวมทั้งมีแผนการเจาะหลุมผลิตอย่างต่อเนื่อง โครงการเวียดนาม 16-1 ในปีที่ผ่านมาโครงการได้เริ่มผลิตจากหลุมพัฒนาเพิ่มเติมอีก 4 หลุมตามแผนที่วางไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระดับการผลิต สำหรับ โครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจ  (Exploration Phase)  ปตท.สผ. ได้ดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ โครงการเมียนมาร์ เอ็ม 3 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากรอบการพัฒนาเชิงพาณิชย์กับรัฐบาลเมียนมาเพื่อศึกษาหารูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม โครงการเมียนมาร์ MD-7 อยู่ระหว่างศึกษาโครงสร้างทางธรณีวิทยาเพื่อประเมินศักยภาพปิโตรเลียม โครงการเมียนมาร์ เอ็ม 11 ในปี 2560 โครงการอยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างทางธรณีวิทยาเพื่อประเมินศักยภาพปิโตรเลียม ในขณะเดียวกันมีแผนที่จะเริ่มเจาะหลุมสำรวจจำนวน 1 หลุมในปี 2561 รวมทั้งยังมองหาผู้ร่วมทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงของโครงการ โครงการเมียนมาร์ เอ็มโอจีอี 3  ในประเทศเมียนมา และ โครงการซาราวักเอสเค 410 บี ในประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างการประมวลผลข้อมูลเพื่อการศึกษาด้านธรณีวิทยาและศักยภาพทางปิโตรเลียม เพื่อเตรียมการเจาะหลุมสำรวจ โครงการเวียดนาม บี และ 48/95 และโครงการเวียดนาม 52/97 ในปี 2560 โครงการได้ลงนามในสัญญา Letter of Agreement ระหว่างผู้ร่วมทุนในเรื่องราคาค่าก๊าซและค่าผ่านท่อก๊าซฯ รวมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision หรือ FID) ต่อไป คาดว่าจะเริ่มผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายปี 2564 ด้วยกำลังการผลิตรวม 490 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

โครงการในทวีปอเมริกา ปตท.สผ. มีโครงการในภูมิภาคนี้จำนวน 3 โครงการ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศแคนาดา (แคนาดา) และสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล (บราซิล) โดยโครงการทั้งสามเป็น โครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจ  (Exploration Phase) สำหรับ โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ในประเทศแคนาดา ได้ปรับแผนการพัฒนาเพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการโครงการที่เหมาะสม สำหรับในบราซิล มีโครงการร่วมทุน 2 โครงการ คือ โครงการบารารินเนียส์ เอพี 1 และ โครงการบราซิล บีเอ็ม อีเอส 23 ปัจจุบันทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาด้านธรณีวิทยาและศักยภาพปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาในอนาคต

โครงการในทวีปออสตราเลเชีย ปตท.สผ. มีโครงการในภูมิภาคนี้จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ซึ่งตั้งอยู่ในเครือรัฐออสเตรเลีย ประกอบด้วย 12 แปลงสัมปทาน สำหรับแหล่งที่ดำเนินการผลิตแล้ว คือ แหล่งมอนทารา โครงการได้ทำการเจาะหลุมผลิตในปี 2560 เพื่อเร่งอัตราการผลิต ทำให้สามารถรักษาปริมาณการขายเฉลี่ยสำหรับปี 2560 ได้ตามแผนที่ 10,580 บาร์เรลต่อวัน สำหรับ แหล่ง Cash Maple ที่อยู่ในระยะเวลาสำรวจนั้น โครงการได้เสร็จสิ้นการศึกษาวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED Study) และอยู่ระหว่างการเตรียมการทำ FEED Study โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561

โครงการในแอฟริกา ปตท.สผ. มีโครงการในภูมิภาคนี้จำนวน 3 โครงการ  ซึ่งตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย (แอลจีเรีย) และสาธารณรัฐโมซัมบิก (โมซัมบิก) สำหรับโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้ว ปตท.สผ. ได้ดำเนินการผลิตน้ำมันดิบตามแผนจากโครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416 บี ซึ่งตั้งอยู่บนบกทางทิศตะวันออกของแอลจีเรีย ในปี 2560 โครงการมีปริมาณการผลิตเฉลี่ย 17,360 บาร์เรลต่อวัน สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจ  ปตท.สผ. ได้ดำเนินการสำรวจใน โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ โครงการประสบความสำเร็จในการค้นพบอัตราการไหลของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ โดยโครงการได้นำส่งแผนพัฒนาเพื่อขออนุมัติพื้นที่ในการพัฒนาต่อรัฐบาลแอลจีเรียในเดือนธันวาคม 2560 และคาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในไตรมาส 1 ปี 2561 เพื่อผลักดันการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย โดยคาดว่าจะสามารถผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ในเฟสแรกที่อัตรา 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2562 และหลังจากนั้นจะเพิ่มกำลังการผลิตรวมเป็น 50,000 บาร์เรลต่อวัน โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน สำหรับการดำเนินการในปี 2560 โครงการมีความคืบหน้าในหลายด้าน ได้แก่ ด้านการเจรจากับรัฐบาลโมซัมบิกโดยได้รับการอนุมัติกฎหมายและกฎระเบียบ (Legal & Contractual Framework) การอนุมัติสัมปทานการบริหารจัดการทางทะเลและท่าเรือ (Marine Concessions) รวมถึงได้เริ่มการเคลื่อนย้ายชุมชุนออกจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการ (Resettlement) ในเดือนพฤศจิกายนปี 2560 โดยโครงการอยู่ระหว่างการขออนุมัติแผนการพัฒนาโครงการ (Plan of Development) ขั้นสุดท้ายจากรัฐบาลโมซัมบิก ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติต้นปี 2561 นอกจากนี้ โครงการยังเร่งผลักดันการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวกับผู้ซื้อ และการเจรจาสัญญาเงินกู้ในรูปแบบ Project Finance กับสถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย โดยคาดว่าจะสามารถผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตระยะแรกของโครงการที่ 12 ล้านตันต่อปี

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกบริหารงานสื่อมวลชน
ต้องจิตร พงศ์อรพินท์  โทร. 02 537 4587              
กมลวรรณ จินตรัตน์  โทร. 02- 537 4381
นลิน วิบูลย์ชาติ  โทร. 02 537 4834     
E-mail: PTTEPCorpCom@pttep.com


The information, statements, forecasts and projections contained herein reflect the Company’s current views with respect to future events and financial performance.   These views are based on assumptions subject to various risks.   No assurance is given that these future events will occur, or that the Company’s future assumptions are correct.   Actual results may differ materially from those projected.