ข่าวประชาสัมพันธ์

ปตท.สผ. เข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการจี 1/61 และ จี 2/61 เดินหน้าแผนงาน เร่งเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ

25 เม.ย. 2565



กรุงเทพฯ, 25 เมษายน 2565 – ปตท.สผ. เข้าสู่การเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) โครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล, ฟูนาน) และโครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต พร้อมเร่งดำเนินงานตามแผนเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ รองรับความต้องการใช้พลังงานของคนไทย รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการในโครงการจี 1/61 และโครงการ        จี 2/61 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันแรกของการเริ่มสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) ขณะที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการในแหล่งบงกช หรือโครงการจี 2/61 อยู่แล้ว โดยในส่วนของการเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการโครงการจี 1/61 นั้น ปตท.สผ. ได้ตั้งทีมปฏิบัติการ (วอร์รูม) ที่ ปตท.สผ. สำนักงานใหญ่ และที่แท่นผลิตก๊าซฯ รวมทั้ง ประสานงานกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ดำเนินการรายเดิมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย และสามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

“ภารกิจสำคัญที่ ปตท.สผ. ตระหนักและมุ่งมั่นดำเนินการมาโดยตลอดก็คือ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ การเข้าเป็นผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ทั้ง 2 แหล่ง ซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ทางพลังงาน ที่มีศักยภาพการผลิตก๊าซฯ รวมกันถึง 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันหรือประมาณร้อยละ 60 ของประเทศ จึงถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของ ปตท.สผ. ในฐานะที่เป็นบริษัทพลังงานของไทย ซึ่งเราจะมุ่งมั่นดำเนินภารกิจด้านพลังงานเพื่อประเทศและคนไทยอย่างเต็มความสามารถ” นายมนตรีกล่าว 

ในการดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการจี 1/61 นั้น  ถึงแม้จะเป็นการเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการ (Operatorship Transfer) แต่บุคลากรส่วนใหญ่ยังคงเป็นบุคลากรชุดเดิมที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งได้เข้ามาร่วมปฏิบัติภารกิจเพื่อเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศร่วมกัน

สำหรับอัตราการผลิตในโครงการจี 1/61 ที่ ปตท.สผ. รับช่วงต่อจากผู้รับสัมปทานเดิมผลิตไว้ในวันสิ้นสุดสัมปทานอยู่ที่ 376 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาแหล่งก๊าซนี้ไม่มีการพัฒนาและเจาะหลุมผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อัตราการผลิตจะลดลงเป็นลำดับต่อไปได้อีก ประกอบกับการที่ ปตท.สผ. ไม่ได้รับความยินยอมให้เข้าพื้นที่โครงการจี 1/61 เพื่อเตรียมการพัฒนาและเจาะหลุมผลิตล่วงหน้าได้ตามแผนงาน แม้ภายหลังจะสามารถเข้าพื้นที่ได้ แต่ถือว่าล่าช้ากว่าแผนงานประมาณ 2 ปี  ปตท.สผ. จึงจำเป็นต้องผลิตตามศักยภาพที่คงเหลือ ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความปลอดภัยของระบบการผลิตก๊าซฯ ทั้งหมด ทำให้อัตราการผลิตในช่วงแรกจะอยู่ที่ประมาณ 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ปตท.สผ. จะดำเนินงานตามแผนเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตของโครงการจี 1/61 มากขึ้นตามลำดับ ให้ได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือนเมษายน 2567 โดยจะเร่งติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) จำนวน 8 แท่น วางท่อใต้ทะเล เจาะหลุมผลิตอีกประมาณ 183 หลุม และจัดหาแท่นเจาะเพิ่มอีก 2 แท่น เพื่อเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมจากแผนพัฒนาเดิมที่วางไว้อีก 52 หลุม รวมทั้ง ตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์การผลิตและระบบต่าง ๆ วางแผนการบำรุงรักษา เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ต่าง ๆ  มีความพร้อมและปลอดภัยสำหรับการผลิต  

ส่วนแผนการดำเนินงานของโครงการจี 2/61 ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้วนั้น สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องตามแผนงาน โดยผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชได้ในอัตรา 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

สำหรับแผนรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วงที่โครงการจี 1/61 อยู่ระหว่างการเพิ่มกำลังการผลิตนั้น ปตท.สผ. ได้เตรียมแผนเพื่อเพิ่มการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกชขึ้นอีกประมาณ 125  ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากโครงการอาทิตย์เพิ่มเติมอีกประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) เพิ่มขึ้นประมาณ 30-50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมเป็นปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนและประเทศ

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกบริหารงานสื่อมวลชน
The information, statements, forecasts and projections contained herein reflect the Company’s current views with respect to future events and financial performance.   These views are based on assumptions subject to various risks.   No assurance is given that these future events will occur, or that the Company’s future assumptions are correct.   Actual results may differ materially from those projected.