ข่าวประชาสัมพันธ์

“ปตท.สผ.” ผนึก “กรุงไทย” นำร่องลงทุนบริหารสภาพคล่องเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต ครั้งแรกในไทย

24 พ.ค. 2566

ปตท.สผ. ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย สร้างพลังขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการเงิน  นำร่องโครงการลงทุนเพื่อบริหารสภาพคล่องของ ปตท.สผ. เชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Linked Investment Program) ระยะเวลา 1 ปี เป็นครั้งแรกของประเทศ พร้อมนำผลตอบแทนบางส่วนซื้อคาร์บอนเครดิตคุณภาพ ตอบโจทย์เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นายสัมฤทธิ์ สำเนียง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตทสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน ) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ตามที่ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ในการประชุม COP26 ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น บริษัทได้บริหารจัดการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P Portfolio) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท รวมถึงดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต และกิจกรรมที่ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การปลูกป่า และโครงการบลูคาร์บอน เป็นต้น นอกจากนี้ การบริหารจัดการทางการเงินและรักษาโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท ยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน การลงทุนเพื่อบริหารสภาพคล่องของ ปตท.สผ. ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสภาพคล่องแล้ว ยังสามารถนำผลตอบแทนจากการลงทุนบางส่วนไปซื้อคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพ รวมทั้งการลงทุนในโครงการที่สนับสนุนการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการนำนวัตกรรมทางการเงินมาใช้ เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน

นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านตลาดเงินตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทั้งกลุ่มนิติบุคคล และนักลงทุนในทุกมิติ ทั้งการปฏิวัติการออกหุ้นกู้เอกชนในรูปแบบหุ้นกู้ดิจิทัล ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนในหุ้นกู้ทั้งตลาดแรก และตลาดรอง ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สะดวกและปลอดภัย อีกทั้งบริการด้าน การบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินของนิติบุคคล ภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในครั้งนี้ธนาคารกรุงไทยได้นำประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารเงินลงทุนสำหรับสภาพคล่องของบริษัท มาผนวกกับเป้าหมายด้านการเติบโตอย่างยั่งยืน จับมือกับปตท.สผ. ดำเนินโครงการลงทุนเพื่อบริหารสภาพคล่องเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Linked Investment Program)  ถือเป็นประวัติการณ์ใหม่ ครั้งแรกในไทยที่ นำนวัตกรรมด้านการเงิน มาบริหารจัดการด้านการลงทุนให้กับลูกค้า เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งด้านการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน และตอบโจทย์นโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร โดยธนาคารสนับสนุนการจัดหาคาร์บอนเครดิตให้กับปตท.สผ.เพิ่มเติม หากปตท.สผ.สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ที่ธนาคารกำหนด ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2608

 “นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่กรุงไทย และปตท.สผ.ได้ร่วมสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ให้ตลาดเงินและตลาดทุนไทย  หลังประสบความสำเร็จในการปฏิวัติการลงทุนของประเทศ ด้วยหุ้นกู้ดิจิทัลครั้งแรกในเอเชีย พร้อมทำสัญญาอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน อ้างอิงผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (ESG-Linked Cross Currency Swap) เป็นครั้งแรกในประเทศ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน ESG Financial Solution ของธนาคาร ที่เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่ตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) โดยเฉพาะ SDGs ข้อ 13 เรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน”

ข้อมูลเพิ่มเติม

ทีม Marketing Strategy  ธนาคารกรุงไทย 

แผนกบริหารงานสื่อมวลชน  บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)  


The information, statements, forecasts and projections contained herein reflect the Company’s current views with respect to future events and financial performance.   These views are based on assumptions subject to various risks.   No assurance is given that these future events will occur, or that the Company’s future assumptions are correct.   Actual results may differ materially from those projected.